เชิงสารคดี / บูรพา โชติช่วง : 6 เมษายน วันจักรี วันที่ระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และมหาจักรีบรมราชวงศ์

ในที่นี้นำเกร็ดความรู้ “สร้างบ้านแปงเมือง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช” หนังสือตำนานงานโยธา (พ.ศ.2325 – 2556) สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร พิมพ์ 2557, เรียบเรียงมาเผยแพร่สังเขป

นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พ.ศ.2325 – 2352) รัชกาลที่ 1 ทรงสร้างบ้านแปงเมือง ด้วยการสถาปนากรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ ฯ (รัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนจาก บวรรัตนโกสินทร์ เป็น อมรรัตนโกสินทร์) ขึ้นเป็นราชธานีแล้ว พระราชภารกิจที่สำคัญของพระองค์ คือการสร้างพระบรมมหาราชวัง โดยการ “ถ่ายแบบ” พระบรมมหาราชวังที่ครั้งบ้านเมืองในสมัยกรุงศรีอยุธยายังดีให้ปรากฏขึ้นในกรุงเทพฯ อาทิ ลอกแบบพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท มาสร้างเป็นพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ต่อมาเกิดเพลิงไหม้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อ แล้วสร้างพระมหาปราสาทขึ้นใหม่ให้มีขนาดสูงใหญ่เท่าพระที่นั่งสุริยาศอมรินทร์ พระราชทานนามใหม่ว่า พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรหรือพระแก้วมรกต ในฐานะพระคู่บ้านคู่เมือง

ในด้านพระราชภารกิจหลัก ไม่เพียงแต่จะเลือกชัยภูมิอันเหมาะสมที่ตั้งพระนครเพื่อความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ ยังให้เร่งเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับพระนครอีกด้วย เห็นได้จากการที่ทรงเลือกสร้างพระนครแห่งใหม่ขึ้นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งแม้ว่าจะเป็นที่ลุ่มแต่มีลักษณะพื้นที่เป็นหัวแหลมมีน้ำล้อมรอบมากกว่าครึ่ง เมื่ออาศัยการขุดคูเมืองทางด้านเหนือและด้านตะวันออกแล้ว ที่ตั้งใหม่นี้นับว่ามีชัยภูมิที่ดีเหมาะสำหรับการรับศึก และไม่ต้องพะวงถึงการรุกรานจากข้าศึกที่อาจมาทางแม่น้ำอีกด้านหนึ่ง อีกทั้งให้ขุดคูคลองรอบกรุงขึ้นใหม่เพื่อขยายเมืองไปทางทิศตะวันออก พร้อมทั้งให้สร้างกำแพงและป้อมใหม่ขึ้น 14 ป้อมตามแนวกำแพง ดังความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ตอนหนึ่งว่า

“ในจุลศักราช ๑๑๔๕ ปีเถาะ (พ.ศ. ๒๓๒๖) เบญจศก โปรดให้ตั้งกองสักเลขไพร่หลวง สมกำลังและเลขหัวเมืองทั้งปวง แล้วให้เกณฑ์ทำอิฐขึ้นใหม่บ้าง ให้ไปรื้ออิฐกำแพงเมืองกรุงเก่าลงมาบ้าง ลงมือสร้างพระนครทั้งพระบรมมหาราชวังและพระราชวังบวรสถานมงคลในปีนั้น โปรดให้รื้อป้อมวิชเยนทร์และกำแพงเมืองธนบุรีข้างฟากตะวันออกเสีย ขยายพระนครให้กว้างออกไปกว่าเก่า...”

ด้วยพระราชประสงค์ที่จะให้กรุงรัตนโกสินทร์ให้เป็นราชธานีที่มีลักษณะเป็นเกาะอันมีแม่น้ำเป็นปราการล้อมรอบเช่นเดียวกับกรุงศรีอยุธยา เพื่อประโยชน์ทั้งทางด้านยุทธศาสตร์และการคมนาคม โปรดเกล้าฯ ให้ขยายขอบเขตพระนครให้กว้างออกไปด้วยการขุดคลองคูเมืองอีกชั้นหนึ่ง ตั้งแต่บางลำพูมาออกเหนือวัดสามปลื้ม หรือวัดจักรวรรดิราชาวาส เรียกกันต่อมาว่า คลองรอบกรุง อาจกล่าวได้ว่ากรุงเทพฯ เป็นราชธานีที่มีสายน้ำโอบล้อมโดยรอบ คือมีแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านตะวันตก) เชื่อมต่อกับคลองรอบกรุงที่ขุดขึ้นทางด้านตะวันออก ส่วนคลองคูเมืองเดิมและคลองหลอด อีกสองคลองทำหน้าที่เป็นเสมือนแนวแบ่งเขตเมืองให้เป็นระเบียบ

นอกจากนี้ให้ขุดคลองสายเล็กๆ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าคลองหลอด จำนวน 2 คลอง เพื่อเชื่อมระหว่างคลองคูเมืองเดิมกับคลองรอบกรุงที่ขุดขึ้นใหม่ ทั้งให้ขุดคลองมหานาคต่อจากคลองรอบกรุงตรงบริเวณเหนือวัดสะแกไปทางทิศตะวันออกเมื่อพ.ศ. 2328 ตามแบบอย่างคลองมหานาคที่วัดภูเขาทองนอกเขตพระนครที่กรุงศรีอยุธยา เพื่อใช้เป็นสถานที่เล่นเพลงเรือดอกสร้อยสักวาในฤดูน้ำหลาก เช่นที่เคยเป็นมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ขณะเดียวกัน ให้ตัดถนนขึ้นในเขตพระนคร จำนวน 12 สาย โดยถนนที่ตัดขึ้นเพื่อเป็นทางสัญจรภายในเขตคูเมืองเดิมจำนวน 9 สาย ที่สำคัญได้แก่ ถนนเลียบกำแพงวังหลวง ด้านริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนหน้าพระลาน และถนนสนามไชย และมีการตัดถนนขึ้นอีก 3 สาย เพื่อเป็นโครงข่ายเชื่อมโยงคลองคูเมืองเดิมไปทางตอนเหนือ ตอนกลาง และตอนใต้ของพระนคร ซึ่งได้กลายเป็นถนนจักรพงษ์ ถนน บำรุงเมือง และถนนบ้านหม้อในปัจจุบัน แต่เนื่องจากรูปแบบการคมนาคมในสมัยนั้นถนนยังมีความสำคัญน้อยกว่าคลอง การก่อสร้างถนนจึงมีลักษณะเป็นเพียงตรอกแคบๆ กว้างพอให้คนเดินได้ 3 – 4 คนเท่านั้น

ตลอดรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างบ้านแปงเมืองกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นราชธานีแล้ว ทรงฟื้นฟูการพระศาสนา ศิลปกรรม ฯลฯ ขณะเดียวกันงานช่างมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการรังสรรค์ราชธานีใหม่