...ห้องเรียนเป็นสถานที่ที่บ่มเพาะความรู้และเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กๆ สำหรับ ‘เด็กพิเศษ’ ที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม การออกแบบสภาพแวดล้อมที่ดีก็เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมพัฒนาการที่ดีเช่นกัน โครงการวิจัยการพัฒนาสภาพแวดล้อมศูนย์พัฒนาเด็กพิเศษและโรงเรียนเด็กพิเศษที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาการ เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาและเด็กออทิสติก เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ และโควิด-19...

ภายใต้ทุนสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ที่มี รศ.ดร.นวลวรรณ ทวยเจริญ อาจารย์ประจำภาควิชานวัตกรรมอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหนึ่งในทีมผู้วิจัย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อสร้างห้องเรียนที่เหมาะสมให้กับเด็กพิเศษ ซึ่งถือได้ว่าเป็นงานวิจัยชิ้นแรกในประเทศไทยที่ให้ความสำคัญกับการออกแบบสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้กับเด็กกลุ่มออทิสติกและเด็กดาวน์ซินโดรม ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19

รศ.ดร.นวลวรรณ ทวยเจริญ เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นของงานวิจัยเริ่มมาจากความสนใจเรื่องการออกแบบสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อสภาวะจิตใจของมนุษย์เมื่อครั้งศึกษาอยู่ในระดับปริญญาเอก สำหรับการศึกษารูปแบบสถาปัตยกรรมที่มีส่วนช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กพิเศษในต่างประเทศนั้นมีมาบ้างแล้ว แต่ยังพบได้น้อยในประเทศไทย โดยทีมวิจัยได้เลือกพื้นที่ของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ดูแลเด็กมากกว่า 500 คน และได้ออกแบบสภาพแวดล้อมจากการอาศัยหลักสถาปัตยกรรม ซึ่งแบ่งห้องเรียนได้เป็น 2 ห้อง คือ ห้องเรียนของเด็กออทิสติก และห้องเรียนของเด็กดาวน์ซินโดรม ซึ่งถือได้ว่าเป็นประชากรกลุ่มพิเศษที่มีจำนวนมากในประเทศไทย

มิติใหม่ของห้องเรียนสำหรับ “เด็กออทิสติก” ออกแบบจากพฤติกรรมของเด็กทำให้ต้องลือกใช้สีโทนเย็น และเลือกที่จะออกแบบให้ไม่มีกระจกในห้องเรียน เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเกิดความสับสนและทำให้เด็กรู้สึกสบายผ่อนคลาย นอกจากนี้ยังเลือกใช้หลอด LED ที่ให้แสงในโทนอบอุ่นแทนการใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์ และจัดให้มีมุมเงียบเพื่อให้เด็กได้มีพื้นที่ในการปรับอารมณ์ แตกต่างกับการออกแบบห้องเรียนของ “เด็กกลุ่มดาวน์ซินโดรม” ที่จะเลือกใช้ผนังที่มีสีสันโทนร้อนเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เด็กเกิดความตื่นตัว และติดตั้งหน้าต่างเพื่อให้เด็กเห็นบรรยากาศภายนอก เป็นการสร้างสิ่งเร้าให้เกิดความตื่นตัวในการเรียนรู้ อีกทั้งยังจัดให้มีมุมศิลปะเพื่อเสริมสร้างจินตนาการของเด็กๆ  สำหรับการจัดรูปแบบของโต๊ะเรียน กลุ่มเด็กออทิสติกจะจัดโต๊ะเรียนเป็นกลุ่ม และเพิ่มสีสันของโต๊ะเรียนเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการการเรียนรู้ ในขณะที่เด็กกลุ่มดาวน์ซินโดรมจะใช้โต๊ะเรียนแบบ 2 ตัวหันหน้าเข้าหากันเพื่อเพิ่มทักษะการสื่อสาร แต่ในขณะเดียวกันการออกแบบห้องเรียนทั้ง 2 แบบนี้ก็ได้มีการเว้นระยะห่างและจัดให้มีการป้องกันเพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด – 19

สำหรับอุปสรรคในการทำงานวิจัยในครั้งนี้ว่าคือการลงพื้นที่จริงไปเจอกับเด็กๆ ในตอนแรกเป็นเรื่องยากสำหรับทีมวิจัยในการปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมของเด็กกลุ่มพิเศษ แต่พอทำงานด้วยกันนานเข้าก็จะปรับตัวให้ชินกับเด็กไปได้เอง การลงพื้นที่ครั้งนี้ถือได้ว่าเปลี่ยนมุมมองของตนเป็นอย่างมาก และสร้างความภาคภูมิใจที่สามารถนำองค์ความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรมมาช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ให้ดำรงชีวิตได้ปกติเหมือนกับเด็กคนอื่นๆ “พอทำไปเรื่อยๆ เราได้ช่วยพวกเขาบ้าง ให้เด็กๆ ได้ดำรงชีวิตได้ปกติที่สุดเหมือนกับเด็กคนอื่นๆ ขอแค่ปลอดภัย หรือช่วยทำให้พวกเขาเรียนได้ดีขึ้นบ้าง แค่นี้ก็สร้างความภาคภูมิใจให้มากแล้วค่ะ”

การใช้ สี รูปทรง หรือแม้กระทั่งแสงสว่างภายในห้องเองก็เป็นความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรมที่ส่งผลต่อพัฒนาการที่ดีของเด็กกลุ่มพิเศษ ในอนาคต ตนมองว่า ประเทศไทยยังมีอีกหลายโรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือ เรื่องงบประมาณจึงเป็นเรื่องที่สำคัญในการจะนำไปพัฒนาต่อยอด ซึ่งเป็นเรื่องยากมากทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐ แต่ถ้ามีการกำหนดนโยบายที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของเด็กๆ ก็จะช่วยสนับสนุนให้เด็กเหล่านี้ได้มีโอกาสและมีพื้นที่ปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น เพราะงานวิจัยยังมีอีกหลายแง่มุมที่ยังสามารถพัฒนาต่อยอดเพื่อนำมาช่วยเหลือสังคมต่อไปได้

สำหรับผู้ที่สนใจขอรับคำปรึกษา หรือต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมสำหรับกลุ่มคนพิเศษ สามารถรับคำปรึกษาได้ที่ศูนย์ Kasetsart University Design Center (KU.UDC) ซึ่งรศ.ดร.นวลวรรณ ทวยเจิรญ เป็นผู้ดูแลร่วมกับนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือสอบถามได้ที่เพจ Facebook KU.UDC เพราะสภาพแวดล้อมสำหรับเด็กพิเศษเป็นเรื่องพิเศษที่ต้องให้ความใส่ใจ