เรียนรู้พระราชกรณียกิจ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ดร.สุทิน ลี้ปิยะชาติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงมีพระราชอัธยาศัยและพระราชจริยวัตรอันงดงาม มั่นคงในทศพิธราชธรรม นับตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลยสิริราชสมบัติเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรี ทรงมีพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดีจักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร “ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ ทรงมีพระราชหฤทัยเอื้ออาทรห่วงใยผูกพันอย่างลึกซึ้งกับพสกนิกรชาวไทยทั่วทุกภูมิภาค ทรงถือว่าทุกข์สุขของราษฎรนั้นประดุจดังทุกข์สุขของพระองค์เอง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงงานหนักอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ของพสกนิกรทุกหมู่เหล่าให้ดีขึ้นในทุกด้าน พระราชกรณียกิจ พระจริยวัตรและพระเมตตาที่ได้ประจักษ์แจ้งแก่สายตาพวกเรา พระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่นี้ ได้ก่อให้เกิดคุณูปการอเนกอนันต์แก่ประชาชนและประเทศชาติ และมีความหมายต่อพสกนิกรมากเกินกว่าจะคณานับได้ ดังที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้พระราชทานสัมภาษณ์เกี่ยวกับหลักการทรงงานพัฒนาประเทศของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในหนังสือ “พระมหากษัตริย์นักพัฒนา เพื่อประโยชน์สุขสู่ปวงประชา” ความตอนหนึ่งว่า “...เป้าหมายในการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของคน โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ให้คนมีความสุข โดยต้องคำนึงเรื่องสภาพภูมิศาสตร์ ความเชื่อทางศาสนา เชื้อชาติและภูมิหลังทางเศรษฐกิจ สังคม แม้ว่าวิธีการพัฒนามีหลากหลาย แต่ที่สำคัญคือนักพัฒนาจะต้องมีความรัก ความห่วงใย ความรับผิดชอบ และการเคารพในเพื่อนมนุษย์...” ด้วยเหตุนี้ พระราชกรณียกิจและโครงการพัฒนาตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงทรงมุ่งเน้นที่การพัฒนาที่ตัวคน ด้วยทรงเห็นว่า หากประชาชนในประเทศมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงพร้อมด้วยสุขภาพจิตที่ดีแล้ว ก็ย่อมส่งผลให้เป็นบุคลากรที่มีความพร้อมในการร่วมเสริมสร้างและพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมิทรงทอดทิ้งประชาชน ด้วยทรงยึดมั่นในพระราชปณิธานที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อพสกนิกรอย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้จากที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นต่าง ๆ ทุกภูมิภาคของประเทศอย่างสม่ำเสมอ นับตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลยสิริราชสมบัติเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ยังประโยชน์และส่งผลดีแก่พสกนิกรชาวไทยอย่างล้นพ้น ดังจะเห็นได้ว่า นับตั้งแต่ที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินกลับมายังประเทศไทยเมื่อปี ๒๔๙๓ พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ ๕๐๐,๐๐๐ บาท สร้างตึกมหิดลวงศานุสรณ์ในสถานเสาวภา เพื่อใช้ในกิจการด้านวิทยาศาสตร์และการผลิตวัคซีนบีซีจี เพื่อแก้ปัญหาจากวัณโรคที่แพร่ระบาดอยู่ในขณะนั้น รวมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์สร้างเรือเวชพาหน์ให้เป็นโรงพยาบาลเรือลำแรกและลำเดียวในโลก พื่อรักษาโรคให้กับพสกนิกรที่อาศัยอยู่ทางน้ำ เมื่อปี ๒๔๙๕ ระหว่างเสด็จแปรพระราชฐานประทับ ณ พระตำหนักวังไกลกังวล หัวหิน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงริเริ่มโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นเป็นโครงการแรก ได้แก่ โครงการสร้างถนนเข้าสู่บ้านห้วยมงคล ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อพัฒนาท้องถิ่นทุรกันดารในชนบท ดังพระราชดำรัสพระราชทานไว้ ความตอนหนึ่งว่า “...เราเข้าไปนั้น เพิ่งปี ๒๔๙๕ หรือ ๒๔๙๖ เพิ่งได้รถบูลโดเซอร์ แล้วเอารถไปให้ค่ายนเรศวรให้สร้างถนนไถเข้าไปถึงห้วยมงคล ซึ่งเดี๋ยวนี้ห้วยมงคล... ๒๐ นาทีก็ถึง...” หลังจากนั้น ได้ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พัฒนาแหล่งน้ำขึ้นเป็นโครงการแรกที่อ่างเก็บน้ำเขาเต่า ดังที่ได้ทรงมีพระราชดำรัส ความตอนหนึ่งว่า “...เขาเต่าก็ทำมาตั้งแต่ปี ๒๔๙๕-๒๔๙๖ เขาเต่านั้นก็เริ่มโครงการเขาเต่า ถ้าเราเปิดตรงเขาเต่าน้ำฝนจะตกลงมาก็จะเป็นบึง เป็นอ่างเก็บน้ำใช้ได้...” ในการนี้ จึงกล่าวได้ว่า โครงการตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เริ่มต้นเมื่อคราวเสด็จบ้านห้วยมงคลดังกล่าว แต่เนื่องจากยังอยู่ในระยะเริ่มแรก จึงยังอยู่ในช่วงเตรียมการด้านเงินทุน ทรัพยากรและเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ โครงการตามแนวพระราชดำริในยุคแรกๆ จึงจำกัดอยู่บริเวณพื้นที่ภาคกลางเป็นส่วนใหญ่ และเป็นโครงการที่อาศัยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นสำคัญ ประกอบกับในช่วงปี ๒๔๙๘ นับตั้งแต่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการปกครองเป็นต้นมา สถานการณ์บ้านเมืองอยู่ในช่วงไม่ปกติ รัฐบาลในขณะนั้น จึงมีนโยบายไม่สนับสนุนการเสด็จประพาสในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ ทำให้กำหนดการเสด็จพระราชดำเนินในช่วงต่อมา ระหว่างปี ๒๔๙๙-๒๕๐๐ จึงจำกัดอยู่ในบริเวณพื้นที่ภาคกลางเท่านั้น ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไม่ทรงละทิ้งประชาชน และทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อพสกนิกรชาวไทยเสมอมา โดยทรงยึดมั่นในพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ประชาชน ทรงช่วยเหลือราษฎรในทุกๆ เรื่องประดุจ ”พ่อดูแลลูก”.ด้วยทรงรักแผ่นดิน ทรงรักประชาชนและทรงทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อแผ่นดิน ให้ประชาชนมีความสุข สมดังที่พระองค์ทรงนึกตอบพสกนิกร เมื่อครั้งที่ประทับรถพระที่นั่ง ขณะเสด็จพระราชดำเนินไปยังสนามบินดอนเมืองเพื่อทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อทรงได้ยินเสียงราษฎรคนหนึ่งตะโกนลั่นว่า “ในหลวง อย่าทิ้งประชาชน” และทรงนึกตอบบุคคลผู้นั้นในพระราชหฤทัยไปว่า “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้” ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ ขอน้อมเกล้าฯ ถวายอาลัยส่งดวงพระวิญญาณพระองค์เสด็จฯ สู่สวรรคาลัย กระผมขอเชิญชวน ประชาชนชาวไทยทุกคนมาร่วมกันถวายสัจจะ ทำความดี ที่ไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน รู้รักสามัคคีและมีสติในการกระทำ เสียสละเพื่อส่วนรวม ให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น เป็นการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่เปรียบมิได้