พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงทุ่มเทพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างตรากตรำพระวรกายมิได้ทรงเห็นแก่ความเหนื่อยยากแม้แต่น้อยด้วยทรงตั้งพระราชปณิธานเพื่อยังประโยชน์สุขให้เกิดแก่ปวงชนชาวไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน70ปี ด้วยเพราะพระมหากรุณาธิคุณพระเมตตาอันยิ่งใหญ่เป็นรูปธรรมสร้างประโยชน์พัฒนาคุณภาพชีวิตมีความสุขอย่างยั่งยืนแก่ราษฎรทั้งประเทศ พระมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทย “ เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” พระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 พระราชดำรัสที่พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย พระองค์ทรงงานพัฒนาแก้ไขปัญหาความยากจนแร้นแค้นให้แก่ราษฎรในชนบทซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ด้วยการสร้างแหล่งน้ำ ปรับปรุงคุณภาพดิน รักษาความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติ ก่อให้เกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่นเดียวกับแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจสร้างความสุขบนทางสายกลางให้แก่ชาวไทย ด้วยพระราชหฤทัยที่มุ่งมั่นและพระวรกายที่ทรงอุทิศให้แก่การทรงงานมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ได้นำพาประโยชน์สุขมาสู่ราษฎรไทยแล้วในวันนี้สมดังพระปฐมบรมราชโองการที่พระราชทานไว้เมื่อ 60 กว่าปี ครั้งแรกของการพระราชทานปริญญาบัตร หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จนิวัตประเทศไทย และมีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ได้มีการจัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกในรัชกาล ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 นับแต่นั้นมาพระองค์ได้มีพระราชอุตสาหะเป็นอย่างยิ่งในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่สำคัญนี้ อันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงพระราชหฤทัยใส่ในเรื่องการศึกษาของเยาวชนไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ต่อมาเมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น มีมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น และบัณฑิตก็เพิ่มจำนวนขึ้นหลายเท่า พระองค์ก็ยังทรงรักษาธรรมเนียมพระราชทานปริญญาบัตรหน้าพระที่นั่งไว้ไม่เปลี่ยนแปลง แม้จะมีผู้พยายามกราบบังทูลพระกรุณาทรงงดพระราชกิจนี้ แต่ก็ไม่เคยสำเร็จ ด้วยมีพระราชปณิธานว่า จะเสด็จฯ ไปพระราชทานปริญญาบัตรด้วยพระองค์เอง ดังเมื่อครั้งล่าสุดเสด็จฯ ไปในการพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี 2542 หลังจากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรสและพระราชธิดาเสด็จฯ แทนพระองค์เสมอมา ด้วยระยะเวลาเกือบ 50 ปีในการพระราชทานปริญญาบัตรนั้น หากนำน้ำหนักประกาศนียบัตรที่ได้พระราชทานแด่นิสิตนักศึกษามารวมกันจะมีน้ำหนักมากถึง 220 ตัน นับเป็นน้ำหนักมวลรวมแห่งความสุขที่ได้พระราชทานแก่คนไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยมิทรงเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยเลยแม้แต่น้อย. แสงแห่งธรรมราชา วันที่ 25 พฤษภาคมพ.ศ.2497 เป็นวันที่สร้างสุขและนำความสวัสดิมงคลมาสู่ชาวเมืองเพชรบุรี เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมทั้งเสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพระราชพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุภายในพระปรางค์ 5 ยอด ณ วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ที่อยู่คูบ้านคู่เมืองเพชรบุรีมาตั้งแต่โบราณกาล นับเป็นเวลากว่า 60 ปีที่พระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งประดิษฐาน ณ วัดมหาธาตุวรวิหาร จ.เพชรบุรี ได้กลายเป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาวเพชรบุรี อันเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจและกระตุ้นเตือนให้คนไทยประกอบคุณความดี สร้างความสมานสามัคคี อันจะนำมาสู่ความสงบสุขร่มเย็น ท่ามกลางแสงแห่งธรรมราชาที่ได้ส่องสว่างไปทั่วผืนแผ่นดินไทย. สืบสานพระราชปณิธาน พุทธศักราช 2500 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดฉายภาพยนตร์ส่วนพระองค์ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อนำรายได้มาเป็นค่าใช้จ่ายในการวิจัย และหาทางป้องกันรักษาโรคเรื้อน นับเป็นพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่สำคัญยิ่ง....และในวันที่ 4 กรกฎาคม ปีเดียวกันนั้นเอง ก็เป็นปีประสูติของพระราชธิดาพระองค์เล็ก ซึ่งต่อมาทรงสืบสานพระราชปณิธานในการบรรเทาความทุกข์ให้แก่ราษฎร โดยเฉพาะในเรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงทุ่มเทพระวรกายทรงงานด้านวิทยาศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาการแพทย์ให้เจริญก้าวหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงวิริยะอุตสาหะศึกษาเรื่องโรคมะเร็ง อันนำมาสู่ศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็ง ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากลและได้สร้างความหวังให้แก่ผู้ป่วย เช่นเดียวกับพระกรณียกิจอีกมากมายซึ่งเจริญรอบตามคำสอนของพระราชบิดา อันนำมาสู่วันที่สร้างสุขให้แก่ราษฎรไทยแล้วในวันนี้. พัฒนาที่ดินบ้านหนองพลับ ย้อนกลับไปในปี 2516 วันที่ 19 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโครงการจัดการพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์ หนองพลับ – กลัดหลวง ที่เกิดขึ้นจากพระราชหฤทัยห่วงใยในทุกข์ของราษฎร เนื่องจากทรงพบว่าราษฎรจำนวนมากขาดที่ทำกินเป็นของตนเองและเริ่มบุกรุกที่ดินของรัฐมากขึ้น ซึ่งชาวบ้านไม่สามารถทำกินในบริเวณนั้นได้ตลอดไป จึงมีพระราชประสงค์ให้มีโครงการจัดการพัฒนาที่ดินแบบใหม่ขึ้น โดยทรงเลือกบริเวณพื้นที่ที่มีอาณาเขตติดต่อเป็นผืนเดียวกันใน ต.หนองพลับ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ต.ไร่ใหม่พัฒนา อ.ชะอำ ต.กลัดหลวง ต.เขากระปุก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี รวมพื้นที่ประมาณ 65,000 ไร่ เป็นแหล่งพัฒนาที่ดินให้กับราษฎรเข้าอยู่อาศัยทำกินและมีหน่วยงานราชการต่างๆ ให้ความช่วยเหลือแบบบูรณาการ มีการแบ่งที่ดินให้สมาชิกของโครงการเข้าทำกินเพาะปลูกพืชที่เหมาะสม ซึ่งสมาชิกจะได้รับการจัดสรรที่ดินให้ถือครองจนชั่วลูกชั่วหลาน แต่ไม่ให้กรรมสิทธิ์ในการซื้อขายที่ดิน นับได้ว่าโครงการตามพระราชประสงค์นี้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์ด้านการผลิตสูงสุด ทำให้ประชาชนมีที่ดินทำกินและอยู่อาศัยตลอดไป ที่สำคัญยังช่วยส่งเสริมให้คนในพื้นที่รู้จักช่วยตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้อย่างยั่งยืน. พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา วันที่ 29 พฤษภาคม เมื่อพุทธศักราช 2504 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินมายังพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชาอันเป็นพระราชกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญมาโดยตลอด พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับพระราชกรณียกิจในด้านการศาสนา นอกจากทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญต่างๆ ทางพระพุทธศาสนาแล้ว ยังเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินต่างพระอารามต่างๆ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงร่วมในงานพิธีทางศาสนาที่ประชาชนกราบบังคมทูลเชิญ ด้วยมีพระราชดำริว่า “ ศาสนานั้นเป็นหลักปฏิบัติที่ดี เป็นแนวทางอบรมศีลธรรมจรรยา เป็นที่พึ่งทางใจของคนทั้งชาติ และจะนำมาซึ่งความสุขแก่ผู้ที่ปฏิบัติตนได้ตามหลักธรรม” ด้วยแสงแห่งธรรมราชา ได้นำความสุขมาสู่ผืนแผ่นดินไทยแล้วตราบวันนี้. วันภาษาไทยแห่งชาติ วันที่ 29 กรกฎาคม เมื่อพุทธศักราช 2505 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธาน และทรงร่วมอภิปรายในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงเปิดอภิปรายในหัวข้อ “ปัญหาการใช้คำไทย” โดยมีพระราชดำรัสใจความตอนหนึ่งว่า " ...เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษาก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทาง ออกเสียง คือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบประโยคนับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้ .... สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก..." ต่อมาในปี 2542 รัฐบาลในขณะนั้นได้ประกาศให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งกระตุ้นเตือนและสร้างจิตสำนึกให้คนไทย ตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย อันนำมาสู่ความร่วมมือในการบำรุง ส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่ คู่กับชาติไทยสืบไป. สำนังาน กปร.ข้อมูล