มงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) -คิดอย่างไรกับโครงการประชารัฐ ต้องทำความเข้าใจว่าโครงการประชารัฐเกิดจากความร่วมมือ 3 ภาคส่วน คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อที่จะร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการสร้างรายได้ให้ชุมชน เน้นกระบวนการจัดการเพิ่มมูลค่า ผ่านทางด้านเกษตร การแปรรูปและการท่องเที่ยว เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้ การสนับสนุนทางด้านการค้า ที่ตรงกับความต้องการของประชาชน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การสร้างนวัตกรรมในการผลิต การแปรรูปให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่ม ขายสินค้าได้เพิ่มทั้งในและต่างประเทศ ประชานมีรายได้เพิ่มขึ้น เพียงพอต่อการครองชีพ สามารถช่วยเหลือตนเองและสังคมได้ ก่อให้เกิดความสุขที่ยั่งยืนและมั่นคง สุดท้ายก็ทำให้ประเทศชาติมีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน -ธพว.ดำเนินการอย่างไรกับโครงการประชารัฐ พันธกิจหลักของ ธพว. ทำหน้าที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ยังไม่ได้โอกาสรับบริการจากธนาคารพาณิชย์หรือระบบสถาบันการเงินทั่วไป มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน และได้รับการยกระดับให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ดีขึ้น ที่จะเน้นในสินเชื่อ 3 ด้าน คือ กลุ่มสินเชื่อที่ต่ำกว่า 15 ล้านบาทลงมา เพราะคิดว่าเกินกว่านี้ ระบบธนาคารพาณิชย์น่าจะให้บริการได้ ด้านการพัฒนาผู้ประกอบการ โดยวางบทบาทให้บริการในสิ่งที่ผู้ประกอบการไม่ได้รับการบริการจากธนาคารพาณิชย์ ไมว่าจะเป็นเรื่องของการตลาด การจัดการ เทคนิคการผลิต เพื่อทำให้เอสเอ็มอีมีมาตรฐานทั้งด้านการจัดการ ผลิตภัณฑ์ เช่น มาตรฐานตามองค์การอาหารและยา มาตรฐานอุตสาหกรรม นำไปสู่ประสิทธิภาพ การช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการให้ต่ำ นำไปสู่การสร้างนวัตกรรม โดยใช้พื้นฐานของท้องถิ่นหรือชุมชน ไปถึงการใช้เทคโนโลยีปัจจุบัน การขายสินค้าผ่านออนไลน์ ที่เชื่อมโยงไปถึงโต๊ะอาหารในอีกประเทศหนึ่งได้ทันที ด้านการร่วมทุน ซึ่งจะให้วงเงินต่อรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท เพื่อช่วยระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เน้นธุรกิจที่เพิ่มเริ่มต้น หรือ Start Up ที่ดำเนินการมาแล้วไม่เกิน 3 ปี มีโอกาสที่ดี ธพว.ก็จะเข้าไปร่วมลงทุนหรือช่วยเหลือนำเข้าสู่กระบวนการบ่มเพาะ ดึงเอกชนที่ประสบความสำเร็จหรือรายใหญ่เข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยง เพื่อทำให้ผู้ประกอบการมีความแข็งแรงเพียงพอ ช่วยลดความเสี่ยง เพิ่มโอกาสในการอยู่รอดปลอดภัย กลุ่มสตาร์ทอัพ ธพว.ได้ไปร่วมกับสถาบันการศึกษา เช่นที่ อุบลราชธานี ก็ได้มา 8-9 ราย ผ่านการอบรมจากมหาวิทยาลัยอุบลอุทยานวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้ให้เงินกู้รายละไม่เกิน 30 ล้านบาท กู้ไปซื้อเครื่องจักรเพิ่มกำลังการผลิต และจำหน่ายได้มากขึ้น แล้วมีสินเชื่อหลายตัวที่เป็น Social Enterprise ที่เชื่อมโยงชุมชน เช่นที่ชุมชน อาข่า ชุมชนแพ 500 ไร่ ที่เขื่อนเชี่ยวหลาน ซึ่งให้ชาวเรือรวมตัวเป็นกลุ่ม ผ่านสมาคมเข้าอบรมตามมาตรฐานของกรมเจ้าท่า เรื่องการขับเรือ ความปลอดภัย การเพิ่มมาตรฐานเรื่องของเครื่องยนต์ไม่ให้เสียงดัง นำร่องอบรมไปแล้ว 100 กว่าราย จาก200 กว่าลำ แล้ว ธพว. ก็ให้สินเชื่อไป 12 ราย วงเงิน 20 ล้านบาท เพื่อเปลี่ยนเรือใหม่หมดเลย ให้การบริการนักท่องเที่ยว ก็นับว่าประสบความสำเร็จ และมีอีกหลายแห่งอยากจะร่วมทำในลักษณะเดียวกัน ความคืบหน้าการปล่อยสินเชื่อรายย่อย ซอฟท์โลน 1-2 ที่ผ่านทางสถาบันการเงินทั้งระบบ ธพว.สามารถปล่อยสินเชื่อได้เป็นอันดับ 6 มีส่วนแบ่งประมาณร้อยละ 10 ขณะที่สินเชื่อหลักของธพว.ซึ่งมี 4 ตัว ก็คือ 1.สินเชื่อนโยบายของ ธพว. วงเงิน 15,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 4% เวลา 3 ปี และขยายเวลาสูงสุดได้ถึง 5 ปี แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้ร้บผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจวงเงิน 9,000 ล้านบาท ซึ่งเต็มวงเงินไปแล้ว กลุ่มสตาร์ทอัพที่เริ่มกิจการและมีนวัตกรรม วงเงิน 2,250 ล้านบาท ปล่อยไปแล้วประมาณครึ่งหนึ่ง ส่วนใหญ่วงเงินประมาณ 1 ล้านบาทหรือต่ำกว่า เวลานี้มีคำขอมาเรื่อยๆ คิดว่าสิ้นปีนี้คงจะหมด และกลุ่มกลุ่มของเออีซี ปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการที่ขายสินค้าอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน มีวงเงินประมาณ3,750 ล้านบาท ปล่อยแล้วประมาณ 2,000 กว่าล้านบาท 2.กลุ่มสินเชื่อที่สนองนโยบายรัฐ ล่าสุดก็คือการปล่อยสินเชื่อบัญชีเดียว คือ นิติบุคคลที่แสดงความจำนงและจดแจ้งที่จะจัดทำบัญชีเดียว ซึ่งรัฐกำหนดไว้ภายในปี 2562 จะไม่ให้นิติบุคคลใช้หลายบัญชีแล้ว จะสามารถเอางบบัญชีมาขอสินเชื่อจาก ธพว.ได้ ดอกเบี้ยก็ 5% วงเงินให้ 5 เท่าของกำไรที่ยื่นบัญชีเดียวมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี ไม่เกิน 5 ล้านบาท ไม่มีหลักประกัน โดยให้ บสย.เป็นผู้ค้ำประกัน อันนี้กระแสดีมาก เพิ่งเริ่มมาประมาณมี.ค.ที่ผ่านมา วงเงิน 10,000 ล้านบาทเต็มแล้ว และเพิ่มอีก 20,000 ล้านบาท รวมเป็น 30,000 ล้านบาท 3.สินเชื่อซอฟท์โลน 3 ที่รัฐสนับสนุนดอกเบี้ยให้ 4%นาน 7 ปี เพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ หรือเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตรวมเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งหากวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท ก็ไม่ต้องใช้ประเมินราคา โดยจะให้สินเชื่อ 90% ของราคาตามใบเสนอราคาที่ถูกต้อง ไม่ต้องจดจำนอง ซึ่งจะมีภาระค่าใช้จ่าย และไม่ต้องเสียเวลา ที่เป็นอุปสรรค จะใช้สัญญาหลักประกันธุรกิจแทน ระยะเวลาสิ้นสุดไม่เกิน 31 ธ.ค.นี้ ซึ่งในส่วนของ ธพว. น่าจะปล่อยสินเชื่อได้ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท โดยรายแรกที่เริ่มปล่อยเป็นธุรกิจก่อสร้าง ที่จังหวัดชัยนาท รายที่ 2 เป็นโรงน้ำแข็ง 4.สินเชื่อแฟคตอริ่ง หรือเงินด่วน วงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท ให้แก่ผู้ประกอบการที่เป็นคู่สัญญากับทางการ ซึ่งในช่วงปลายปีงบประมาณจะรู้กันว่าภาครัฐต้องการจะเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณ มีการจัดซื้อจัดจ้างจำนวนมาก ธพว.จึงได้เข้าไปสนับสนุนให้ผู้ที่เป็นคู่สัญญาของรัฐ สามารถเอาสัญญาที่ได้ดำเนินการเสร็จไปแล้ว มาขอสินเชื่อได้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการสามารถนำเงินไปหมุนเพื่อรับงานภาครัฐได้มากขึ้น โดยมีวงเงินประมาณ 4,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 3.99% วงเงิน 90% ของมูลค่าสัญญาที่จะตรวจรับ ระยะเวลา 120 วัน สิ้นสุดไม่เกิน 31 ธันวาคม 2559 ส่วนที่เพิ่งเริ่มดำเนินการก็คือ การพัฒนาเอสเอ็มอีที่ต้องได้รับการซ่อมแซม ที่อาจดำเนินการพลาดพลั้ง สินค้ามีแต่อาจขายไม่ได้ หรือขายไม่ได้ราคา ขาดสภาพคล่อง ผลประกอบการขาดทุน ต้องถูกพลิกฟื้น ที่ผ่านมาไม่นาน ทางภาครัฐได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับพระราชบัญญัติล้มละลาย เปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีที่เป็นหนี้ได้ยื่นต่อศาลให้เจ้าหนี้หยุดการฟ้องร้องชั่วคราวเป็นเวลา 3 ปี เพื่อฟื้นฟูกิจการ ซึ่ง ธพว.ก็ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักที่จะให้คำปรึกษา ทำแผนฟื้นฟู ซึ่งได้ทำสำเร็จไปแล้ว 2 ราย และอยู่ระหว่างดำเนินการประมาณ 10 ราย และทางสสว. ก็เตรียมตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนเงินทุนให้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ไม่มีดอกเบี้ย อายุ 7 ปี ช่วง 2 ปีแรกไม่ต้องจ่ายเงินต้น -แล้วการป้องกันมิให้เกิดปัญหาในการปล่อยสินเชื่อมีอย่างไร ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ามีความผิดพลาดในการบริหารจัดการ ปี 2556 ธพว.มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ เอ็นพีแอลสูงถึง 40% ซึ่งพยายามแก้ไขปัญหาจนปี 2558 ลดลงมาเหลือ 20% หากวิเคราะห์เฉพาะสินเชื่อใหม่ที่ปล่อยไปในปี 2558 ซึ่งเน้นปล่อยสินเชื่อรายย่อยเฉลี่ยรายละ 2-3 ล้านบาท และมีการวางระบบใหม่อย่างรัดกุมการควบคุมภายใน เพิ่มความโปร่งใสในการบริหาร มีการตรวจสอบคุณภาพและติดตามลูกหนี้ตลอด ซึ่งกำหนดค่าเคพีไอ ของ เอ็นพีแอลไม่เกิน 5% แต่สินเชื่อใหม่ที่ปล่อยมีเอ็นพีแอลอยู่ประมาณ 1.5% เท่านั้น -แนวทางในอนาคตของประชารัฐ อย่างที่บอกโครงการประชารัฐเป็นโครงการที่ดี และจะมีประสิทธิภาพหากได้รับความมือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ร่วมกันทำงาน ร่วมกันส่งเสริมและดูแลกันและกันอย่างเป็นระบบก็จะช่วยผลักดันได้ แล้วหากมีโครงการอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นก็จะยิ่งช่วยสร้างรายได้ สร้างความแข็งแกร่ง ให้แก่ผุ้ประกอบการ ให้แก่ชุมชน ไปจนถึงประเทศชาติด้วย -อยากจะแนะนำผู้ประกอบการอย่างไรบ้าง อยากให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ 1.เอสเอ็มอีที่เพิ่งเริ่มกิจการ ต้องบอกว่าภาครัฐ และภาคเอกชน อย่างสภาอุตสาหกรรม หอการค้าหรือสถาบันการเงินของรัฐ มีหน่วยงานจำนวนมากที่พร้อมจะให้การช่วยเหลือและดูแล จึงอยากให้รวมตัวกันแล้วใช้บริการของหน่วยงาน เช่น ศูนย์บ่มเพาะ การปรับปรุงการจัดการ เป็นต้น อย่าทำโดยลำพัง หรือปราศจากตัวช่วย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กิจการ เพราะมันมีตัวแปรที่จะเป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจมากมาย จึงต้องศึกษาหาเครื่องมือมาช่วยดูแล สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้แก่ธุรกิจ 2.เอสเอ็มอีที่ประกอบกิจการอยู่แล้วและดำเนินการด้วยดี ก็อย่าประมาท เพราะว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด สิ่งสำคัญก็คือต้องทำการศึกษา การใช้เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์มาใช้ เพื่อช่วยในการพัฒนา .ซึ่งอาจใช้ทุนมาก รัฐบาลก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนในเรื่องของเงินทุน และช่วยดูแลผู้ประกอบการ สุดท้าย ผู้ประกอบการที่เจอปัญหาสภาพคล่อง ผิดนัดชำระหนี้กับสถาบันการเงินหรือเจ้าหนี้อื่น อย่าได้ท้อถอย หากคิดว่ากิจการยังสามารถเดินต่อไปได้ ก็ขอให้มาปรึกษากับทาง ธพว. กรมบังคับคดี สสว. ในการใช้กฎหมายตามพรบ.ล้มละลายที่มีการแก้ไขใหม่ เพื่อขอชะลอการชำระหนี้และยื่นแผนฟื้นฟูกิจการ นอกจากจะไม่เสียเวลาแล้ว ยังได้รับการคุ้มครองอีกด้วย