“การเปิดโอกาสให้ผู้อื่นพูด ก็เท่ากับการเป็นการเปิดโอกาสให้เขาคิด การพูดก็คือการสร้างวิธีคิด จะได้เกิดการปฏิสัมพันธ์ เกิดการบูรณาการระหว่างกัน”
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า นโยบายไทยแลนด์ 4.0 เป็นนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ กระทรวงพลังงานก็รับนโยบายมาเช่นเดียวกัน เราวางเป้าหมายและพร้อม ที่จะพัฒนาพลังงานของไทยก้าวไปสู่ Energy 4.0 ให้ได้ เบื้องต้นได้วางกรอบแผนงานไว้ 4 แผนงาน ดังนี้ 1.Firm Renewable Energy คือ พลังงานทดแทน สำหรับพลังงานบางอย่างที่ไม่เสถียร และไม่สามารถ นำมาทดแทนพลังงานดั้งเดิม จริงๆ เมื่อสร้างมาแล้วควรจะทดแทนกันได้ อย่างกรณีโซลาร์เซลในบางครั้งผู้ซื้อพร้อมที่จะซื้อไฟอยู่ตลอดเวลา แต่ผู้ขายไม่พร้อมต้องรอให้มีแสงแดดมีลมถึงจะขายไฟให้ เมื่อไม่มีก็ไม่ขาย ต่อไปไม่มีแดดไม่มีลม ก็ใช้พลังงานชีวมวลเข้ามาเสริมสามารถใช้เชื้อเพลิงปั่นไฟได้ตลอดเวลา เรียกว่า Hibrid ต้องก้าวข้ามไปจนสามารถ ทดแทนพลังงานดั้งเดิมได้ นำมาหมุนเวียนกันได้ในยามที่ต้องการใช้ 2.Energy Storage หมายถึง เมื่อได้พลังงานทดแทนมาแล้ว ก็ต้องมีการพัฒนาระบบจัดเก็บพลังงาน ต้องมีแบตเตอรี่เก็บพลังงานไว้ใช้ได้นานๆ ได้พลังงานจาก แดด ลม ชีวมวล ก็เอามารวมๆ กัน โดยมีงบประมาณในการทำวิจัย ควรทำอย่างไรให้สามารถกักเก็บพลังงานไว้ได้ แบตเตอรี่ต้องมีขนาดเล็ก เก็บไฟได้นาน ราคาไม่แพง ถ้าทำแล้วอันใหญ่เก็บไฟได้น้อยก็ไม่คุ้ม เราพยายามหาทางลดราคาลงมา ด้วยการพัฒนาขึ้นมาเอง ต้องศึกษาจากต่างประเทศ แล้วพัฒนาต่อยอดขึ้นมา 3.EV (Electric Vehicle) หรือ รถพลังงานไฟฟ้า ประเทศไทยผลิตรถยนต์สูงมาก ส่วนใหญ่เป็นรถที่ใช้พลังงานน้ำมัน มีคนเกี่ยวข้องเยอะ มีอุตสาหกรรม มีการจ้างงาน แต่รถอีวีกำลังมา เราก็ต้องมีการพัฒนาอุตสาหกรรมรองรับ มีส่วนร่วมในการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ไม่ใช่นำเข้ามาทั้งคัน อันนั้นหมายถึงเราซื้ออย่างเดียว มีประโยชน์แค่ผู้ใช้ ไม่ได้มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เราบอกว่าเราจะเป็น 4.0 ก็คือการก้าวข้ามจากประเทศที่ประชากรมีรายได้น้อยไปเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ปัจจุบันประชากรไทยมีรายได้เฉลี่ยหัวละ 5,500 เหรียญ/ปี ก็วางเป้าหมายต้องก้าวไปถึงหัวละ 12,000 เหรียญ/ปี ให้ประชากรมีรายได้เพิ่มขึ้น ต้องเพิ่มรายได้ให้ประชาชน 4.Smart City - Smart Grid เป้าหมายคือพัฒนาเมืองอัจฉริยะขึ้นมา ให้ประเทศไทยเป็นเมืองอัจฉริยะ มีสายส่งอัจฉริยะ เมื่อไฟฟ้าวิ่งไปตามสายส่ง เราจะสามารถตรวจสอบได้ว่าประชาชนมีพฤติกรรมใช้ไฟฟ้าอย่างไร ไหลเข้ามาเราซื้อ ไหลกลับไปเท่าไหร่ สามารถให้ผู้ซื้อกับผู้ขายติดต่อกัน ได้ในระบบ กระทรวงพลังงาน พยายามดูแลเรื่องนี้ มีการออกแบบ ประกวดแบบ ใครมีแนวคิดเรื่องเมืองอัจฉริยะ มีความรู้ความสามารถด้านพลังงาน ก็ส่งประกวดเข้ามาได้ ส่วนเรื่อง "นโยบายประชารัฐ" ว่าไปแล้ว กระทรวงพลังงานทำมานานในเรื่องนี้ "ประชารัฐ "จริงๆ ก็คือ การอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน มีภาคเอกชน และประชาคมมาร่วม กระทรวงพลังงาน มีมาก่อนแล้ว อย่างที่ จ.สุโขทัย ชาวบ้านก็ใช้ก๊าซราคาถูก ไปทอด กล้วย มัน นักท่องเที่ยว เกาหลี จีน ไปชิมเกิดความนิยมขึ้นมา มาซื้อชาวบ้านมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างอีกเรื่อง บางพื้นที่มีเล้าหมู มีกลิ่น กระทรวงพลังงาน ก็ไปสอนชาวบ้านให้ทำก๊าซจากมูลหมู เอาพลาสติกคลุมแล้วต่อท่อได้ก๊าซมาใช้ เราให้ความรู้เริ่มต้นให้เขา เมื่อเขาอยู่ได้ก็เดินหน้าต่อ แล้วก็เป็นธุรกิจ ขยะเหม็นๆ ก็เอามาหมักมีก๊าซเกิดขึ้นมาก็นำเอาไปใช้ได้ พูดดูเหมือนว่าทำง่าย แต่จริงๆต้องมีองค์ความรู้พอสมควรเหมือนกัน พวกเตาเชื้อเพลิงประหยัดพลังงาน ก็เตาอั้งโล่แบบทั่วไป มีการพัฒนาให้เป็นเตาไร้ควัน ใช้อะไรเป็นเชื้อเพลิงใส่ไปก็เผาได้หมด หรือใช้ถ่านก็ใช้ได้นานประหยัดได้กว่า 50% ใช้ได้ทั้งฟืนทั้งเศษไม้ หรือซังข้าวโพด มีชาวบ้านสมัครเข้ามาเป็นอาสาพลังงาน (อสพน.) เข้าไปให้ความรู้กับชาวบ้าน เมื่อชาวบ้านทำได้ก็นำไป ขยายผล เกิดเป็นอาชีพสร้างเตาขาย ดีไซน์ให้เหมาะกับตลาด เราเข้าไปให้องค์ความรู้ หรืออย่างโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ก็มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้าขึ้นมา โรงไฟฟ้าผลิตได้เท่าไหร่ ทุกวัตต์จะเก็บเงินให้ชุมชน 1-2 สตางค์ ถือเป็น ประชารัฐ ได้เหมือนกัน คือเราสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นมาแล้วก็ต้องสนใจประชาชน สิ่งแวดล้อมรอบข้าง ดูแลสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ และพัฒนาชุนได้ด้วยการที่ให้เงินกับชุมชน เพราะเขาอยู่ใกล้ก็ควรได้ประโยชน์ ไม่ใช่ให้เพราะว่ามันอันตรายแล้วให้เงินปิดปากไม่ให้เขาพูด โรงไฟฟ้าของเราปลอดภัยอยู่แล้วมาตรฐานโลก อย่าง โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เราให้ปีละ 300 ล้านบาท มิเตอร์ขึ้นเมื่อไหร่ ไปเก็บเงินเลย ชาวบ้านก็นำเงินไปพัฒนาชุมชน จัดการเงินหมุนเวียน สร้างโรงพยาบาล สร้างโรงเรียนให้เด็ก นำไปพัฒนาอาชีพไปดูได้เลยเจริญมากๆ เรื่อง ขุดเจาะปิโตเลียม ก็เหมือนกัน ไปเจาะตรงไหน ได้ค่าภาคหลวงมา 60% ให้กับท้องถิ่น 40% เข้ารายได้แผ่นดิน พลังงานไทยต้องมั่นคงมีนวัตกรรม วาง "ยุทธศาสตร์" ขับเคลื่อนด้วยบูรณาการ กระทรวงพลังงาน มีแผนงานในการดำเนินงานอยู่ 5 แผนงานหลัก คือ 1.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) 2.แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) 3.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 4.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) 5.แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) การเดินตามยุทธศาสตร์ สิ่งสำคัญคือ เมื่อมีแผนงานแล้ว ก็ต้องขับเคลื่อนให้เป็นไปตามแผน ซึ่งคนที่ปฏิบัติหน้าที่จะต้องมี ต้องมีองค์ความรู้ มีทักษะมี Skill มีการบูรณาการ มีนวัตกรรม มี Innovation เพื่อขับเคลื่อนแผนให้เดินหน้าต่อไปได้ ถ้าเรามีแต่แผนโดยไม่สร้างคนสร้างบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจในงาน ไม่มีความเข้าใจว่าแผนงานคืออะไร งานก็จะขับเคลื่อนได้ยาก ผู้ที่จะปฏิบัติงาน จะต้องมีทักษะ มีการปฏิบัติการ มีการลงพื้นที่ มี workshop อะไรต่างๆ เราต้องสร้างคนขึ้นมาให้มีองค์ความรู้และทำตามแผนงานให้ได้ หรือใครมีแนวคิดดีๆ ก็สามารถนำเสนองานขึ้นมาได้เช่นเดียวกันไม่ว่าจะเป็นผู้น้อยระดับล่าง ระดับกลาง หรือระดับบน ทุกคนต้องพูดต้องนำเสนอได้ การเปิดโอกาสให้ผู้อื่นพูด ก็เท่ากับการเป็นการเปิดโอกาสให้เขาคิด การพูดก็คือการสร้างวิธีคิด จะได้เกิดการปฏิสัมพันธ์ เกิดการบูรณาการระหว่างกัน
"ผมทำงาน เน้นที่ความโปร่งใสเป็นหลัก และต้องการขับเคลื่อนทุกอย่างให้เป็นไปตามแผนงาน และยุทธศาสตร์ที่วางไว้ พลังงานเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ ต้องมีการจัดหาให้เพียงพอ มีความมั่นคง ราคาเหมาะสม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงต้องมีการพัฒนา มีนวัตกรรม มีเทคโนโลยีใหม่ๆ"