ครม.เห็นชอบให้กระทรวงวัฒนธรรมเสนอรายการมรดกร่วม ‘เคบายา’ (Kebaya) ขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก

นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบให้กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) เสนอรายการมรดกร่วม เคบายา (Kebaya) ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก โดยให้อธิบดีสวธ. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเป็นผู้ลงนามในเอกสารนำเสนอรายการมรดกร่วม เคบายา (Kebaya) ในฐานะตัวแทนของประเทศไทย เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนดังกล่าวในปี 2567

อธิบดีสวธ. กล่าวการนำเสนอมรดกร่วมในครั้งนี้ มีที่มาจากสวธ. ได้รับการประสานจากประเทศมาเลเซียผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ให้ร่วมกันพิจารณาเสนอขึ้นทะเบียนรายการมรดกร่วม (multi-national nomination) เคบายา (Kebaya) ในบัญชีตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative list of the Intangible Cultural Heritage of Humanity : RL) สวธ.จึงได้เนินการศึกษาข้อมูลทางวิชาการและแนวทางการเสนอรายการมรดกร่วม เคบายา โดยร่วมมือกับนักวิชาการและชุมชนที่เกี่ยวข้องจัดทำเอกสารตามแบบฟอร์มของยูเนสโก (ICH-02) ให้เป็นไปตามขั้นตอนการเสนอมรดกร่วม ดังนี้

การขอเสนอรายการมรดกร่วม เคบายา (Kebaya) ต่อยูเนสโก ประเทศมาเลเซีย เป็นประเทศผู้เสนอหลัก และได้เชิญประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วย ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศสิงคโปร์ และประเทศไทย รวมเป็น 5 ประเทศนำเสนอร่วม ซึ่งทั้ง ๕ ประเทศจะร่วมกันจัดทำข้อมูลตามแบบฟอร์ม (ICH-02) มีการคัดเลือกภาพถ่าย และจัดทำวีดิทัศน์  โดยมีการจัดประชุมระหว่างประเทศขึ้น 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 - 3 พฤศจิกายน 2565 (ผ่านระบบออนไลน์) ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 6 - 8 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ประเทศอินโดนีเซีย และครั้งที่ 3 ในวันที่ 8 มีนาคม 2566 (ผ่านระบบออนไลน์) จากนั้นประเทศมาเลเซีย จะทำหน้าที่รวบรวมเอกสารจากประเทศที่ร่วมเสนอ เพื่อดำเนินการจัดส่งเอกสารรายการมรดกร่วม เคบายา (Kebaya) ให้ยูเนสโก ตามลำดับ

เคาบายานี้เป็นองค์ประกอบหลักในวัฒนธรรม การแต่งกาย บาบ๋า – เพอรานากัน ที่กระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2555 โดยในการจัดทำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ เคบายา ได้รับความร่วมมือจากสมาคมเพอรานากันประเทศไทย จังหวัดภูเก็ต เป็นผู้สนับสนุนและจัดทำข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง และเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2565 คณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ได้มีมติเห็นชอบให้เสนอรายการมรดกร่วม เคบายา (Kebaya) ตามที่ประเทศมาเลเซียได้ประสานมา พร้อมกับประเทศบรูไนดารุสซาลาม ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศสิงคโปร์ ในการเสนอต่อยูเนสโก

เคบายา เป็นเสื้อสตรีพื้นเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นส่วนหนึ่งของการแต่งกายบาบ๋า - เพอรานากัน ในภาคใต้ของไทย เป็นวัฒนธรรมร่วมของกลุ่มคนที่มีเชื้อสายจีนและมลายู กลุ่มชาวจีนฮกเกี้ยนที่มาจากปีนังและมะละกาที่ได้เดินทางเข้ามาค้าขายบริเวณคาบสมุทรมลายู และเข้ามาอยู่ในมณฑลภูเก็ตในสมัยรัชกาลที่ 3 ถึงรัชกาลที่ 5 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทำให้เกิดการผสมผสานทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมระหว่างผู้เข้ามาและคนในท้องถิ่นดั้งเดิม อันแสดงถึงการอยู่ร่วมกันในความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างสันติสุข ทั้งนี้ การสวมใส่เคบายา (Kebaya) ในวิถีชีวิตของผู้คนในภูมิภาคนี้ นอกจากคุณค่าความสวยงามแล้ว การเสนอเป็นมรดกร่วมที่สอดคล้องคล้ายคลึงกันยังบ่งบอกถึงความผูกพันและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศอีกด้วย

ข้อดีของการเสนอมรดกร่วม ด้วยอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ของยูเนสโก จะเน้นให้การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการเสนอขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันและร่วมกัน การเสนอร่วมกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นี้ ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย อันจะมีผลให้ไทยและประเทศที่เสนอร่วม ได้รับการขึ้นทะเบียนเพิ่มมากขึ้น โดยยูเนสโกจะให้ความสำคัญการพิจารณามรดกร่วมเป็นลำดับต้นซึ่งสามารถประกาศขึ้นระเบียนได้ทุกปี จะแตกต่างจากการเสนอรายการเดี่ยวของแต่ละประเทศ จะได้รับการพิจารณาเว้นระยะการขึ้น 1 ปี สำหรับการเสนอรายการมรดกร่วม

เคบายา (Kebaya) พร้อมกับประเทศอื่นในครั้งนี้ จะมีผลผูกพันต่อภารกิจที่ประเทศไทย ต้องดำเนินการตามมาตรการที่อธิบายไว้ในแบบฟอร์มของยูเนสโก  โดยประเทศไทย ต้องดำเนินการสืบทอด ถ่ายทอดทักษะในการทำเสื้อเคบายา (Kebaya) ให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ และมีการส่งเสริมเผยแพร่การนำไปใช้ในงานประเพณี พิธีกรรมและงานเทศกาล ให้มีการจัดเก็บข้อมูลองค์ความรู้ งานวิจัยและนำเสนอความรู้ในสื่อสิ่งพิมพ์  สื่อดิจิตอล รวมทั้งจะทำให้เกิดการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชน ส่งผลต่อการสงวนรักษาของชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกิดความร่วมมือในทั้งระดับชุมชนและประเทศ อีกด้วย