ลานบ้านกลางเมือง /บูรพา โชติช่วง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในพระราชกรณียกิจด้านทรัพยากรวัฒนธรรมประเภทโบราณสถาน โบราณวัตถุ และพิพิธภัณฑ์ พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยและเห็นความสำคัญมรดกของชาติอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมืองโบราณศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เสด็จทอดพระเนตรอยู่หลายครั้ง จากข้อมูลหนังสือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งการอนุรักษ์มรดกไทย” กรมศิลปากรบันทึกไว้ พระองค์เสด็จทอดพระเนตรเมืองโบราณศรีสัชนาลัย 3 ครั้ง ด้วยทรงสนพระราชหฤทัยและห่วงใยโบราณสถานที่มีสภาพทรุดโทรมเหล่านั้น (เมืองศรีสัชนาลัย หรือชื่อเดิม เมืองเชลียง ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยมด้านทิศเหนือของกรุงสุโขทัย เป็นเมืองที่มีความสำคัญในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 หรือ พระยาลิไท 1890 – 1917) ได้พระราชทานแนวพระราชดำริแก่กรมศิลปากร ในการดูแลและอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุเหล่านั้นตามหลักมาตรฐานสากล สำหรับในที่นี้ขอนำเรื่องพระองค์เสด็จทอดพระเนตรโบราณสถานแห่งนี้มาเล่าสังเขป ตามลำดับพร้อมรูปภาพ วันที่ 2 มีนาคม 2501 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จประพาสเมืองเหนือและทรงเยี่ยมเยียนประชาชนจังหวัดต่างๆ รวมทั้งจังหวัดสุโขทัยด้วยแล้ว ได้เสด็จไปยังเมืองศรีสัชนาลัย ชมโบราณสถานวัดช้างล้อม วัดเจดีย์เจ็ดแถว และวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (มหาธาตุเชลียง) ด้วยความสนพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง วันที่ 25 มกราคม 2509 หลังจากประกอบพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสร็จแล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังบ้านรับรองหน่วยศิลปากรที่ 3 เมืองศรีสัชนาลัย ทอดพระเนตรแบบจำลองเมืองศรีสัชนาลัย จากนั้นเสด็จชมโบราณสถาน วัดช้างล้อม วัดเจดีย์เจ็ดแถว วัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ วัดนางพญา หลักเมือง บริเวณพระราชวังและวัดสวนแก้วอุทยานน้อย ในครั้งนี้ได้มีพระราชกระแสรับสั่งกับรองอธิบดีกรมศิลปากร (นายกฤษณ์ อินทโกศัย) โบราณสถานเมืองศรีสัชนาลัยนี้ เมื่อได้บูรณะเสร็จแล้วให้จัดการดูแลรักษาไว้ให้เป็นอย่างดี อย่าให้กลับชำรุดทรุดโทรมลงอีก โดยเฉพาะบริเวณพระราชวังที่ได้ขุดพบรากฐานนั้น ควรจะได้ขุดดูให้ทั่วถึง เพราะอาจพบจารึกหรือหลักฐานอันจะเป็นประโยชน์แก่ประวัติศาสตร์ พระราชดำรัสนี้ แสดงให้เห็นความห่วงใยของพระองค์ที่มีต่อโบราณสถานของชาติ วันที่ 26 ธันวาคม 2515 ทั้งสองพระองค์เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ ในคราวนี้ได้ทอดพระเนตรโบราณสถานหลายแห่ง และใช้เวลาแต่ละแห่งนานมาก เสด็จไปยังเขาพนมเพลิง โดยมี หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะ ผู้ตามเสด็จโดยใกล้ชิด เสร็จแล้วเดินทางต่อไปยังเขาอีกลูกหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งวัดเขาสุวรรณคีรี เมื่อถึงยอดเขาได้ทอดพระเนตรบริเวณเมืองที่เห็นได้แต่ไกลจากยอดเขาสุวรรณคีรี วัดสุวรรณคีรี จากนั้น พระองค์เสด็จไปที่วัดช้างล้อม วัดเจดีย์เจ็ดแถว เพื่อทอดพระเนตรจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งพอให้ได้เห็นลางๆ แล้วเสด็จไปยังวัดนางพญา ชมผนังวิหารวัดที่มีลายปูนปั้นสวยงาม สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงสนพระราชหฤทัยมาก ได้ตรัสสั่งให้ช่างภาพหลวงที่ตามเสด็จ ถ่ายภาพลายให้ได้รูปชัด ประทับอยู่ที่วัดนี้เป็นเวลานาน ต่อจากนั้น เสด็จไปทอดพระเนตรวัดสวนแก้วอุทยานน้อย ซึ่งมีเจดีย์รูปพุ่มข้าวบิณฑ์ขนาดย่อม สมบูรณ์ดีจนถึงยอด ยังมีฐานวิหารโถง มีร่องรอยการมุงกระเบื้อง เพราะพบกระเบื้องเคลือบอยู่มาก หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ได้กราบบังคมทูลว่า วัดนี้เป็นวัดสุดท้ายตามกำหนดการ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรแผนที่ในหนังสือนำเที่ยว และมีพระราชดำรัสให้หัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ 3 (นายมะลิ โคกสันเทียะ) ดูแผนที่ตรงหมายเลข 28 วัดเจดีย์เจ็ดยอด หัวหน้าหน่วยฯ กราบบังคมทูลว่า ไม่มีทางรถยนต์ไปถึง คงไม่สะดวกที่จะเสด็จพระราชดำเนิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสถามว่า ระยะเดินทางสักกี่ชั่วโมง หัวหน้าหน่วยฯ กราบบังคมทูลว่า ไม่ถึงชั่วโมงประมาณ 30 นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า ถ้าพูดว่าไปได้เสียอย่างเดียวก็ต้องได้ แล้วมีพระราชดำรัส รถยนต์นำเสด็จ ไปได้ครึ่งทางจนถึงใกล้กับประตูผี ประตูเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองศรีสัชนาลัย แล้วทรงพระราชดำเนินโดยพระบาทไปตามทางคนเดิน ประมาณ 30 นาที ถึงวัดเจดีย์เจ็ดยอด ซึ่งอยู่นอกกำแพงออกไปประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นเจดีย์รูปสี่เหลี่ยม มีร่องรอยพระพุทธรูปตั้งอยู่กลางเจดีย์ แต่ชำรุดจนไม่มีซาก บนยอดมีเจดีย์เล็กๆ ล้อมรอบยอดเจดีย์ใหญ่ นับรวมได้ 7 ยอด เป็นเจดีย์สมัยสุโขทัย เสด็จประทับพักเหนื่อยอยู่ที่เจดีย์แห่งนี้พอควร พระองค์มีพระราชดำรัสถามถึงโบราณสถานบริเวณอรัญญิก หัวหน้าหน่วยฯ ได้กราบบังคลทูลว่า มีหลายแห่ง เช่น วัดยายกับตา วัดพญาดำ และวัดอื่นๆ ที่ไม่ทราบชื่อ พระองค์มีพระราชดำรัสว่า เรื่องโบราณสถานบริเวณอรัญญิก ควรได้รับการขุดแต่ง บูรณะ และก่อสร้างถนนให้เข้าถึงด้วย จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานคร หลังจากนั้นมา กองโบราณคดี กรมศิลปากรได้ดำเนินการตามกระแสพระราชดำรัส อนุรักษ์และพัฒนาเมืองประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย รวมทั้งเมืองเก่าสุโขทัย และเมืองกำแพงเพชร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน และด้วยพระบารมี กรมศิลปากรได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการจัดทำแผนการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองประวัติศาสตร์ทั้ง 3 แห่ง ในรูปแบบของอุทยานประวัติศาสตร์ ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและมาตรฐานสากล จนเมืองประวัติศาสตร์ทั้ง 3 แห่ง ซึ่งในอดีตมีสภาพเสื่อมโทรม จากการทำลายของคนและธรรมชาติ ได้กลายมาเป็นเมืองที่ปรากฏหลักฐานของอารยธรรมรุ่งโรจน์ในอดีต ให้เห็นในปัจจุบัน และด้วยพระบารมี ปี 2534 อุทยานประวัติศาสตร์ทั้ง 3 แห่ง เมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลก จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูนสโก) 'ในหลวง รัชกาลที่9’ พระบิดาแห่งการอนุรักษ์มรดกไทย