สำหรับหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ.2528 เป็นบุคคลที่มีอัจฉริยะรอบด้าน ดังจะเห็นได้จากผลงานต่างๆ ของท่านที่ปรากฎแก่สายตาชาวโลกจากอดีตจนปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ทาง องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)  จึงได้ยกย่องเชิดชูเกียรติท่านรวม 4 สาขา คือ การศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และ สื่อสารมวลชน  โดยท่านอยู่ในลำดับที่ 20  ชาตกาล (2454-2566) ในวันที่ 20 เมษายน รวม 112 ปี

ถ้าเอาให้สนุกไม่เห็นจะต้องบอกรวดเดียว

ซึ่งถ้าพูดถึงศาสตร์ทางด้านอื่นๆ ท่านก็มีมุมมองที่แตกต่างไปจากคนอื่นๆ โดยสิ้นเชิง ดั่งเช่นในบทบันทึกความทรงจำของ “รงค์ วงสวรรค์” ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับ เคยกล่าวถึงประสบการณ์ที่ได้ทำงานกับ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐ อดีตนายกรัฐมนตรี และ ศิลปินแห่งชาติคนนี้ เอาไว้อย่างน่าสนใจถึงคำแนะนำของ “อาจารย์หม่อม”

ซึ่ง ในการเขียนเรื่องท่องเที่ยว ท่านได้แนะนำในทำนองว่า ถ้าเอาให้สนุกไม่เห็นจะต้องบอกรวดเดียวเลยว่าจะต้องเดินทางจากไหนไปไหน แบบนั้นคนอ่านก็เหนื่อยคนเขียนก็เหนื่อย มันมีเรื่องราวให้เก็บตามข้างทางและตรอกซอกซอยที่สนุกตั้งเยอะ เก็บเอาเรื่องราวแบบนี้มาเล่าคนอ่านก็เพลิน คนเขียนก็สนุก

และความจริงก็เป็นเช่นนั้น ในหนังสือที่มีชื่อว่า “ถกเขมร” ที่ หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนไว้เมื่อปี 2496 เป็นบันทึกการเดินทางครั้งที่ท่านชวนคณะหนังสือพิมพ์สยามรัฐ อันประกอบด้วยคุณอบ ไชยวสุ (นามปากกา ฮิมเมอริสต์) คุณประยูร จรรยาวงศ์ และ คุณประหยัด ศ. นาคะนาท ไปเที่ยวกัมพูชา

แม้ว่าช่วงเวลาดังกล่าว จะเป็นกัมพูชาที่เพิ่งได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส และ กำลังอยู่ในช่วงบูรณะบ้านเมือง “ถกเขมร” ได้ทำให้เห็นถึงสภาพของโบราณสถานอย่างนครวัด และ นครธมที่ “อาจารย์หม่อม” และ ชาวคณะสยามรัฐ อย่างชัดเจนพร้อมกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของขอมโบราณที่ ถูกแทรกอยู่ในเนื้อเรื่อง

ดังเช่นในบท “เขมรโพธิสัตว์” ระบุว่า นครวัดนั้นถึงจะใหญ่โตมโหฬารน่าพิศวงอย่างไรก็ตาม แต่คนที่ไปดูจะอดนึกไม่ได้ว่านครวัดเป็นปราสาทร้าง สิงสถิตอยู่ด้วยวิญญาณของคนที่ตายไปแล้วนับเป็นพันๆปี แต่ถ้าคนเดียวกันนั้นไปเดินเที่ยวดูนครธมก็จะบังเกิดความรู้สึกอีกอย่างหนึ่งคือนครธมนั้นถึงจะเป็นเมืองร้างก็จริง แต่ดูเหมือนจะมีคนเป็นๆอาศัยอยู่………และที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะนครวัดนั้นสร้างขึ้นสำหรับคนตายอาศัยอยู่ แต่นครธม นั้นสร้างขึ้นสำหรับคนเป็นๆ นั้นเอง

 

นอกจากนี้แล้ว “รงค์ วงสวรรค์”  ยังกล่าวต่อว่า เรื่องเล่าเกี่ยวกับ เขมร ขอม และ ไทยของ “อาจารย์หม่อม” ในหนังสือเล่มนี้เป็นการตั้งข้อสังเกตได้อย่างน่าสนใจเมื่อครั้งที่คณะท่องเที่ยวจากสยามรัฐ พูดคุยถึงเมอร์ซิเออร์ มาชาล ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาบูรณะนครวัด และ นครธม และเลยมาจนถึงการปรารภถึงขอมโบราณ ดังที่ว่า ตามความเห็นของเรา เขมรก็เป็นเขมร ไทยก็เป็นไทย และ ขอมก็เป็นขอม เป็นคนอีกชาติหนึ่งเผ่าหนึ่งที่เคยปกครองทั้งเมืองไทยและเมืองเขมรแต่บัดนี้สาบสูญไปแล้ว แต่ยังคงทิ้งวัฒนธรรมบางอย่างไว้ให้แก่ทั้งไทยและเขมรปัจจุบัน

สอดแทรกความเป็นอัจฉริยะรอบด้าน

ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ทุกๆ เรื่องราวที่เกี่ยวกับต่างประเทศนั้น ทั้งที่เดินทางไปมาก็ดี หรือเก็บเกี่ยวจากเรื่องราวในหนังสือมาต่อยอดก็ดี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช จะสอดแทรกความเป็นอัจฉริยะรอบด้าน โดยเฉพาะ 4 สาขาที่โดดเด่นคือ การศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และ สื่อสารมวลชน  จะถูกนำมาปรับใช้กับ เรื่องราวของต่างประเทศที่ท่านเดินทางไปเยี่ยมเยือน

สำหรับเรื่อง “ยิว” ในวรรณกรรมของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ถูกเขียนขึ้นมาในมุมมองและเรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์  ย่อโลกของชาวยิวให้เข้าถึงได้ง่าย  ทั้งในเรื่องที่ถูกมองว่า ชนชาติของตนเองมีความอัจฉริยะโดยสายเลือด ซึ่งปรากฎบุคคลสำคัญของโลก ที่มีเชื้อสายยิวอย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์  นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ หรือซิกมันต์     ฟรอยด์ นักจิตวิทยาผู้ลือชื่อ เป็นต้น

 

ขณะที่เรื่องราวของ ฉากญี่ปุ่น  เป็นหนังสือที่จะทำให้ทุกคนทราบถึงนิสัยใจคอและความเป็นมาในชีวิตของญี่ปุ่น เปรียบเสมือนว่าญี่ปุ่นเป็นตัวเอกในเรื่อง ซึ่งถ่ายทอดจากคมปากกาของท่าน โดยมุ่งเน้นเนื้อหาความเป็นมาของคนญี่ปุ่น แล้วดำเนินมาถึงประวัติของชาติญี่ปุ่น ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้ทุกคนรู้จักญี่ปุ่นได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทั้งรากฐานแห่งสังคมญี่ปุ่น หรือเกาะหลายๆ เกาะในญี่ปุ่น รวมไปถึงคนญี่ปุ่น ที่ถูกถ่ายทอดออกมาในมุมมองที่แตกตต่างออกไป

ซึ่งเหตุจูงใจสำคัญนั้นอยู่ที่ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่ง ด้วยความละม้ายคล้ายคลึงและความแตกต่างของทั้งญี่ปุ่นและไทยซึ่งเป็นชาติเอกราชในเอเซียมาช้านาน และสามารถรักษาเอกราชของตนมาได้ตลอดในสมัยที่มีการล่าเมืองขึ้นอย่างรุนแรงในเอเซีย รวมทั้งญี่ปุ่นและไทยได้ปฏิวัติตนเองจากระบอบสังคมที่เก่าแก่มาเป็นระบอบที่ทันสมัยทันเหตุการณ์ในยุคเดียวกันอีกด้วย

แต่ด้วยความสงสัยของ ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ว่า เหตุไฉนญี่ปุ่นจึงได้ก้าวหน้าออกไปโดยรวดเร็วและมีความเจริญในทางวัตถุมากมายกว่าประเทศไทย จึงได้กลายมาเป็นเหตุจูงใจอันสำคัญที่ทำให้เขียนเรื่องนี้ขึ้น และได้พยายามค้นคว้าหาสาเหตุแห่งความสำคัญนี้ ตลอดจนได้ตั้งคำตอบให้แก่ตนเองไว้ในหนังสือเล่มนี้อีกด้วย

ส่วน เรื่องราวของพม่าเสียเมือง ผ่านวรรณกรรมของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช  เป็นสารคดีเกี่ยวกับความผันแปรในประเทศพม่า เริ่มตั้งแต่ต้นยุคราชวงศ์คองบองราชอาณาจักรพม่ายุคที่ 3 เรื่อยมาจนถึงรัชสมัยของพระเจ้าสีป่อและพระนางศุภยาลัต ที่อาณาจักรพม่าตกเป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดิอังกฤษ ที่ท่านนำมาประพันธ์ จากการได้รับแรงบันดาลใจจากสารคดีเรื่อง เที่ยวเมืองพม่า พระนิพนธ์ในสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พิมพ์ครั้งแรกในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2512  จนทำให้หนังสือเล่มนี้ ได้กลาย เป็นเค้าโครงเรื่องของนวนิยายอีกเรื่องหนึ่ง คือ เพลิงพระนาง ซึ่งมีการนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์มาแล้วถึง 2 ครั้ง  

จากมุมมองที่แตกต่างไม่เหมือนใคร ได้เน้นย้ำถึงการเขียนเรื่องท่องเที่ยวของของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช  ซึ่งท่านได้แนะนำ“รงค์ วงสวรรค์” ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับ เป็นอย่างดี ว่า “ถ้าเอาให้สนุกไม่เห็นจะต้องบอกรวดเดียวเลยว่าจะต้องเดินทางจากไหนไปไหน แบบนั้นคนอ่านก็เหนื่อยคนเขียนก็เหนื่อย มันมีเรื่องราวให้เก็บตามข้างทางและตรอกซอกซอยที่สนุกตั้งเยอะ เก็บเอาเรื่องราวแบบนี้มาเล่าคนอ่านก็เพลิน คนเขียนก็สนุก