สัปดาห์พระเครื่อง

อ.ราม  วัชรประดิษฐ์

จังหวัดสิงห์บุรี ได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่เก่าแก่จังหวัดหนึ่งของไทย มีการกล่าวถึงในบันทึกประวัติศาสตร์ชาติไทยในหลายยุคหลายสมัยตั้งแต่สมัยทวารวดี ลพบุรี สุโขทัย จนถึงกรุงศรีอยุธยา มีการขุดพบโบราณวัตถุมากมายทุกยุคทุกสมัย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้เป็นแหล่งชุมชนที่มีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยติดต่อกันมาแต่ครั้งโบราณกาล

ตัวเมืองเดิมของสิงห์บุรี ตั้งอยู่ที่ ต.จักรสีห์ อ.เมือง อยู่ใกล้ๆ กับวัดหน้าพระธาตุ ซึ่งยังปรากฏซากของหมู่บ้านให้เห็นอยู่ในปัจจุบันนั้น สันนิษฐานกันว่าเป็นเมืองเก่าที่สร้างมาก่อนที่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีเสียอีก ชาวบ้านมักเรียกชื่อว่า “บ้านหน้าพระลาน”  เชื่อกันว่าพระเจ้าไกรสร โอรสของพระเจ้าพรหม ผู้ครองเมืองฝาง (ชัยนาท) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ.1650 ต่อมาสิงห์บุรีก็ยังมีชื่ออยู่ในประวัติศาสตร์กรุงสุโขทัยในฐานะเมืองหน้าด่านสำคัญของแผ่นดินพระร่วง

 โบราณวัตถุของเมืองสิงห์บุรีมีทั้งพระพุทธรูป เทวรูป ฯลฯ เป็นจำนวนมากไม่แพ้เมืองลพบุรี รวมถึงพระกรุเก่าแก่ที่เรียกได้ว่ามีชื่อเสียง มีพุทธคุณเป็นเลิศ และเป็นที่นิยมสะสมอย่างสูงในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องพระบูชา เป็นพระที่หาดูหาเช่ายากมาก เพราะแต่ละพิมพ์ที่แตกกรุออกมานั้นมีจำนวนน้อยมากๆ ซึ่งผู้มีไว้ครอบครองต่างคนต่างหวงแหนยิ่งนัก เรื่องสนนราคาค่อนข้างสูงมากๆ  มีอยู่ 3 พิมพ์ด้วยกัน คือ พระร่วงยืน หลังกาบหมาก กรุวัดศรีโสฬส, พระนาคปรก กรุป่าไม้แดง และพระซุ้มนครโกษา ฐานสูง กรุวัดสว่างอารมณ์ ครับผม

พระซุ้มนครโกษา  กรุวัดสว่างอารมณ์

พระร่วงยืน หลังกาบหมาก กรุวัดศรีโสฬส

 พระร่วงยืน หลังกาบหมาก กรุวัดศรีโสฬสเป็นพระศิลปะลพบุรีในยุคเดียวกับพระร่วงหลังรางปืนของ จ.สุโขทัย และพระร่วงหลังลายผ้าของ จ.ลพบุรี จึงถือเป็น “พระในฝัน” ของบรรดานักนิยมสะสมพระเครื่องทีเดียว ยิ่งแตกกรุออกมาประมาณ 50 องค์เท่านั้น อีกทั้งพุทธคุณเป็นเลิศเช่นเดียวกับพระร่วงยืนของทั้งสุโขทัยและลพบุรีคือทั้งอำนาจ แคล้วคลาด โภคทรัพย์ เมตตามหานิยม และคงกระพันชาตรีด้วยแล้ว ปัจจุบันแทบไม่ต้องหากันเลย

พระร่วงยืน หลังกาบหมาก แตกกรุเมื่อประมาณปี พ.ศ.2522 เป็นพระเนื้อตะกั่วสนิมแดงล้วน และด้านหลังจะเป็นลายกาบหมากทุกองค์ องค์พระค่อนข้างสมบูรณ์ มี 2 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก ช่วงแตกกรุออกมาใหม่ๆ จะมีไขขาวคลุมทั้งองค์ เมื่อล้างไขขาวออกองค์พระจะเป็นเนื้อสนิมแดงเข้มสวยงามมาก

พระนาคปรก กรุป่าไม้แดง

พระนาคปรก กรุป่าไม้แดง

พระนาคปรก กรุป่าไม้แดง อ.บางระจัน แตกกรุออกมาเมื่อประมาณปี พ.ศ.2500 มีจำนวนเพียง 40 องค์เท่านั้น เป็นพระศิลปะลพบุรี เนื้อตะกั่วสนิมแดง พุทธลักษณะเป็นพระนาคปรก 7 หัว องค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางสมาธิ ทรงเครื่องแบบลพบุรี บนพระเศียรมีลักษณะแบบขนนก มีรัดแขน และสังฆาฏิ ประทับบนขนดนาค 2 ชั้น ใต้ฐานมีบัวรองรับ ด้านหลังองค์พระมีทั้งแบบหลังตันและหลังลายผ้า มีพุทธคุณเป็นเลิศทางด้านคงกระพันชาตรี

พระร่วงยืน หลังกาบหมาก กรุวัดศรีโสฬส

พระซุ้มนครโกษา ฐานสูง กรุวัดสว่างอารมณ์

วัดสว่างอารมณ์ อยู่ที่ ต.ต้นโพธิ์ เขตเทศบาลเมือง เดิมเป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แล้วมาบูรณะก่อสร้างใหม่ในปี พ.ศ.2418 โดยหลวงพ่อเรื่องและชาวบ้านในแถบนั้น และในปี พ.ศ.2525 ได้มีการขุดพบพระซุ้มนครโกษา ฐานสูง ประมาณ 200 องค์ สภาพองค์พระค่อนข้างสมบูรณ์เป็นส่วนใหญ่ เป็นพระศิลปะลพบุรียุคปลาย เนื้อตะกั่วสนิมแดงล้วน มีขนาดกำลังพอเหมาะ ความสูงประมาณ 3.5 ซม. พุทธลักษณะองค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางสมาธิ ภายในซุ้มเรือนแก้ว ด้านข้างมีขีดรัศมี เหนืออาสนะฐานบัว แบบฐานสูง ด้านหลังเป็นหลังลายผ้า        มีพุทธคุณสูงในด้านแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี ครับผม