ลีลาชีวิต/ทวี สุรฤทธิกุล

ช่วงวัยคือเรื่องของยุคสมัย เวลาที่เปลี่ยนไป ความคิดผู้คนก็เปลี่ยนแปลง

 การที่วิเวียนได้ไปเรียนที่อังกฤษและเที่ยวไปในยุโรปบางประเทศ ทำให้เธอเริ่มมองเปรียบเทียบทุกสิ่งทุกอย่างในประเทศเหล่านั้นกับประเทศไทย อย่างเรื่องกษัตริย์อังกฤษกับไทยที่เธอเล่าให้ฟังแล้ว และเรื่องสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย ที่เธอก็ได้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน เพราะถึงแม้ว่าหลายคนในประเทศไทยเฝ้าตอกย้ำว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย แต่เธอเห็นว่าเป็นเผด็จการมากกว่า

เธอยอมรับว่าเธอชอบนโยบายของพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ที่ต้องการ “ปรับรื้อโครงสร้างประเทศ” หรือพูดภาษาชาวบ้านก็คือ ตัวผู้ปกครองกับกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ใช้บริหารประเทศ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญลงมาจนถึงข้อบังคับเรื่องขยะและความสะอาด

นักวิชาการในพรรคนั้นบอกว่า รัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่นี้เขียนโดยทหาร หรือคนที่ทหารบงการควบคุมให้เขียน แล้วก็เอามาใช้เพื่อให้ทหารได้ปกครองประเทศ รัฐธรรมนูญนี้เป็นรัฐธรรมนูญเพื่อ “ความมั่นคง” ของทหารและชนชั้นปกครอง ที่สุดแม้แต่การเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้เมื่อปี 2562 คนที่ชนะได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็ใช้การสร้างกระแสว่า “เลือกข้าถ้าต้องการความสงบ”

 เพื่อนของเธอหลายคนต้องทะเลาะกับพ่อแม่ เพราะพ่อแม่บอกให้เลือก “ลุง” โดยให้เหตุผลว่าลุงเป็นทหาร ทหารจะทำให้นักการเมืองกลัว และทหารจะจัดการกับนักการเมืองชั่ว ๆ

เมื่อเธอมาเรียนหลักสูตรสำหรับผู้นำยุคใหม่ เธอได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งกับผู้ทรงคุณวุฒิและเพื่อน ๆ ซึ่งบางคนก็มีความรู้มากกว่าผู้ทรงคุณวุฒินั้นเสียอีก ทำให้เธอค่อย ๆ มองทะลุเข้าไปในความเป็นไปต่าง ๆ ในบ้านเมือง อย่างน้อยก็รู้ว่าจะต้องจัดการกับเผด็จการนี้อย่างไร โดยคนรุ่นใหม่ควรทำอย่างไร

คนรุ่นใหม่โทษคนรุ่นพ่อแม่รวมไปถึงปู่ย่าตายาย ที่ยอมให้ทหารกระทำย่ำยีต่าง ๆ จนประชาชนโงหัวไม่ขึ้น อีกทั้งนักการเมืองที่ประชาชนเลือกเข้าไปก็ยังก้มหัวให้ทหารอีกต่างหาก ลำพังทหารก็คงทำอะไรไม่ได้มาก แต่เพราะทหารมี “พลังพิเศษ” ที่อ้างว่าได้รับมาตั้งแต่โบราณกาล และทหารได้แอบอิงพลังพิเศษนั้นเพื่อขึ้นสู่อำนาจเสมอมา โดยเฉพาะทหารที่ต้องการขึ้นมามีอำนาจแทนที่คณะราษฎรตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

จากการพูดคุยกับเพื่อนคนรุ่นใหม่ วิเวียนและพวกเขามองว่าทหารจะไม่สามารถทำการรัฐประหารได้อย่างง่ายดาย ถ้าไม่ได้รับการเกื้อหนุนจากอำนาจพิเศษดังกล่าว ดังนั้นถ้าจะจัดการไม่ให้ทหารทำรัฐประหารได้อีก ก็ต้องหาทางปรับเปลี่ยน “ความสัมพันธ์อันเป็นพิเศษ” นี้ด้วย

“อาจารย์คงสังเกตเห็นนะคะว่า เดี๋ยวนี้คนไม่ค่อยลุกยืนเวลาก่อนที่หนังจะฉาย”

“แม่หนูบอกว่า สถาบันพยายามปรับตัวให้เข้ากับโลกยุคใหม่อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องให้เวลาอีกนิด”

“เลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ จะเป็นการสั่งสอนผู้ปกครองที่บ้าอำนาจ แม้ว่าอยากจะขอเป็นต่ออีก 2 ปี แต่ก็มีข่าวว่าจะมีการแก้รัฐธรรมนูญโดยใช้ ส.ว.ที่แต่งตั้งมานั่นแหละ แก้ไขยกเลิกเรื่อง 8 ปี เห็นว่าจะแลกเปลี่ยนกับการที่ ส.ว.ที่กำลังจะหมดวาระในปีหน้านั้น ได้อยู่ต่อไปอีก 5 ปี”

 เธอทิ้งท้ายให้คิดว่า “ฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะอย่างถล่มทลาย เพราะคนรุ่นใหม่ไม่เอาพวกลายพรางมาปกครองประเทศอีกต่อไป”

 ผมให้ข้อมูลเธอว่า คนรุ่นใหม่ที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 40 ปี น่าจะมีแค่ 1 ใน 4 ของประเทศ ในขณะที่คนรุ่นเก่าที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปมีราว ๆ ครึ่งประเทศ และในหมู่คนรุ่นใหม่ก็คงมีพวกที่ไม่ได้เลือกฝ่ายประชาธิปไตยอยู่อีกด้วย แต่เธอก็ยังเชื่อมั่นว่าฝ่ายประชาธิปไตยจะยังได้ ส.ส.เข้ามามากที่สุดอย่างแน่นอน

“เพื่อนในกลุ่มหนูที่เป็นนักการเมืองบอกว่า เวลานี้กระแสไม่เอาสถาบันเก่า ๆ แรงมากในโลกโซเชียล บางทีเรามองไม่เห็นในทางสาธารณะหรือสื่อหลัก สมัยก่อนเราบอกว่าคนที่ไม่ค่อยแสดงออกว่าจะเลือกใครคือพลังเงียบ และพวกนี้ก็มักจะเลือกแบบอนุรักษนิยมเสมอมา ทีนี้ฝ่ายประชาธิปไตยก็เชื่อว่า พลังเงียบคือพวกที่มีการสนทนากันอยู่ในกลุ่มโซเชียลต่าง ๆ และพวกนี้ก็ไม่เอาเผด็จการเช่นกัน”

ผมถามเธอต่อไปว่า หลังจากเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประเทศแล้ว ประเทศของเราจะเป็นไปอย่างไร คำตอบของเธอน่าทึ่งมาก เพราะดูเป็นเรื่องที่ผู้คนในพวกของเธอคิดว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายเหลือเกิน

 “เราจะมีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่น่ารัก เมื่อทุกคนกลัวว่าจะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ ก็เหมือนกับคนทั่วไปก็จะต้องระมัดระวังไม่ให้ทำอะไรที่คนจะเอาไปวิจารณ์ในทางเสียหายได้ กฎหมายก็จะเสมอภาค เพราะทุกคนถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ ด้วยหลักความเสมอภาคตามกฎหมาย”

“ระบบราชการจะโปร่งใส การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับที่สั่งยึดอำนาจได้จะต้องอยู่ในสายตาของฝ่ายบริหาร งบลับจะต้องมีรายละเอียด อย่างน้อยก็เมื่อสิ้นปีต้องเปิดเผยได้ว่าใช้อะไรไปบ้าง การเกณฑ์ทหารต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจร้อยเปอร์เซ็นต์ ทหารต้องทำงานในเวลาราชการอย่างเต็มที่ ไม่ใช่มีการให้เวลาไปตีกอล์ฟหรือสันทนาการในบางวัน แล้วบอกว่าเป็นการออกกำลังหรือพักผ่อนหย่อนใจ”

“สำนึกพลเมืองต้องสำคัญ ประชาชนต้องช่วยกันดูแลชุมชนท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเป็นคนที่ประชาชนเลือกและเปลี่ยนได้ ไม่ใช่เทวดาที่ส่งมาจากกรุงเทพฯ ทุกคนไม่หลีกเลี่ยงหรือหนีภาษี การค้าและธุรกิจต่าง ๆ ต้องเป็นธรรม ระบบปลาใหญ่กินปลาเล็กต้องหมดไป คนทุกคนมีโอกาสเสมอในการสร้างตัวตนและเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ”

“ทุกเรื่องต้องทำในทันที ที่ฝ่ายประชาธิปไตยได้เสียงข้างมาก ได้จัดตั้งรัฐบาล เราอาจจะต้องทำประชามติ เพื่อเอาเสียงประชาชนมาคัดง้างกับเสียงของพวกในสภา เราจะไม่เอาประชาชนมาเดินเรียกร้องตามถนน แต่เราจะเดินเข้าไปในสภา เพื่อยื่นข้อเสนอของพวกเราและให้สภารีบดำเนินการในทันที”

 วิเวียนบอกว่าบางทีเธอก็อยากจะเป็นนักการเมือง เธอถามผมว่าผมก็อยู่ในการเมืองภาคปฏิบัติมาพอสมควร มีข้อแนะนำอะไรให้เธอบ้าง เผื่อว่าในอนาคตเธออาจจะต้องเปลี่ยนอาชีพของเธอเอง

ผมเล่าประวัติชีวิตของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ให้เธอฟัง

ใจความหลัก ๆ ก็คือ ท่านเกิดในสังคมจารีต ท่านเป็นศักดินาโดยสายเลือด จนเมื่อท่านไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ ท่านก็มีความคิดทางการเมืองเปลี่ยนไป ท่านนึกถึงผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนในประเทศไทย หลายคนเป็นพวกที่ท่านบอกว่า “น่าเบื่อ” เพราะคนเหล่านี้ทำตัวใหญ่คับฟ้า และที่สำคัญไม่ยอมให้คนรุ่นใหม่ขึ้นมามีอำนาจ

 เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ท่านและเพื่อน ๆ จัดงานฉลองในหมู่นักเรียนไทย และหวังว่าจะช่วยกำจัด “เจ้าพวกเก่า” เหล่านั้นไปได้ แต่เมื่อท่านกลับมาและได้รับราชการ ต่อมาก็ทำงานเอกชน แล้วไปเป็นทหาร กลับไปทำงานราชการ แล้วมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย จนสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ท่านก็ลงสมัครรับเลือกตั้ง ได้เป็น ส.ส. ตอนนั้นคณะราษฎรก็ล่มสลาย ตามมาด้วยยุคทหารครองเมือง ซึ่งท่านให้นิยามของผู้นำในคณะราษฎรกับทหารนั้นว่า “เจ้าพวกใหม่” รวมถึงต่อมาที่ท่านมาทำงานการเมืองในพรรคกิจสังคม ท่านก็คิดจะเปลี่ยนแปลงเจ้าพวกใหม่เหล่านั้น ซึ่งก็คือนักการเมืองแบบไทย ๆ ที่ทั้งบ้าอำนาจและมองไม่เห็นหัวประชาชน แต่ท่านก็ทำอะไรไม่ได้ จนกระทั่งท่านถึงแก่อนิจกรรมใน พ.ศ. 2538

วิเวียนนั่งฟังอย่างตั้งใจ แต่ก็ดูเหมือนเธอจะยังไม่ค่อยเข้าใจ เพราะเธอได้ถามขึ้นว่า

 “อาจารย์จะให้หนูยอมแพ้แบบท่านอาจารย์คึกฤทธิ์หรือคะ ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เลยหรือคะ”

 บางทีถ้าเราขึ้นไปบนสวรรค์ได้ และได้เจอกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ท่านอาจจะให้คำตอบได้อย่างชัดเจน ซึ่งผมก็ตอบวิเวียนไปว่า

 “ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เกิดมาในฐานะคนมีเชื้อเจ้า ท่านเคยเป็นทหาร เป็น ส.ส. เป็นนายกรัฐมนตรี และแน่นอนท่านเป็นชาวบ้านและคนไทยด้วยคนหนึ่ง เสียดายท่านมีอายุแค่ 84 ปี ถ้าท่านอยู่ท่านก็คงจะต้องเป็นอะไรค่ออะไรของท่านต่อไปอีกมาก โดยเฉพาะเป็นประชาธิปไตย ที่ท่านก็ได้พยายามจะเป็นตลอดมา”

 วิเวียนพอจะเข้าใจอะไรขึ้นมาบ้าง เพราะเธอได้พูดขึ้นว่า “หนูจะพยายามต่อไป”