ร่วมสมัย / เนติ โชติช่วงนิธิ ภาพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ในหลวง รัชกาลที่ 9” ที่ชาวไทยชินตาภาพพระองค์ท่านภาพหนึ่งคือ ทรงสะพายกล้องถ่ายภาพไปทุกหนทุกแห่ง พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยการถ่ายภาพอย่างยิ่ง เริ่มถ่ายภาพเมื่อพระชนมายุเพียง 8 พรรษา และได้รับพระราชทานกล้อง Coronet Midget จากสมเด็จฯ พระบรมราชชนนี เป็นกล้องแรกเมื่อปี 2479 นอกจากพระองค์ทรงเป็นนักถ่ายภาพฝีพระหัตถ์ชั้นเยี่ยมแล้ว ทรงสนพระราชหฤทัยกล้องถายภาพระดับตำนาน เรื่องราว “ในหลวง รัชกาลที่ 9” กับการถ่ายภาพและกล้องถ่ายภาพ มีบันทึกไว้ในหนังสือ “งานช่างของในหลวง” มหาวิทยาลัยศิลปากร (2539) ในหลายๆ บทเกี่ยวกับงานช่างของพระองค์ บทหนึ่งว่าด้วยเรื่อง “ภาพถ่าย: ความสนพระราชหฤทัยการถ่ายภาพ” ว่า “งานอดิเรก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดมากอย่างหนึ่งคือการถ่ายภาพ ทรงสนพระราชหฤทัยมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เป็นนักถ่ายภาพฝีพระหัตถ์เยี่ยมพระองค์หนึ่ง สะสมตำราเกี่ยวกับการถ่ายภาพไว้จำนวนมาก และศึกษาตำราต่างๆ ด้วยพระองค์เอง” ในที่นี้ขอคัดบทดังกล่าวและภาพ (ตีพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม สยามรัฐรายวัน 2553) นำบางตอนมาเผยแพร่อีกครั้ง พระองค์เริ่มถ่ายภาพเมื่อมีพระชนมายุเพียง 8 พรรษา (สมาคมภาษาและหนังสือ, 2531 : 205) ต่อเมื่อทรงประดิษฐ์เรือรบจำลองขึ้นมาก็ทรงจัดฉากถ่ายภาพเรือรบจำลอง ในขณะที่ยังทรงสมเด็จพระราชอนุชา ได้ถ่ายภาพรามเกียรติ์ที่ผนังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม นอกจากนี้ยังทรงทำหน้าที่เสมือนช่างภาพส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ดังที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ บรรยาย “ทรงเป็นช่างภาพที่ติดตามทุกหนทุกแห่งและที่ฝึกอาชีพการเป็นกษัตริย์ไปโดยไม่รู้ตัว” (พระเจ้าพี่นางเธอฯ 2530 : 285) ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ที่ปรากฏตามหน้านิตยสารต่างๆ เช่น ปี 2483 ทรงส่งภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ไปลงพิมพ์ในนิตยสารแสตนดาร์ดของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร แม้เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้วยังทรงถ่ายภาพไปลงนิตยสารอยู่ ทรงมีพระราชดำรัสด้วยพระอารมณ์ขันว่า ฉันเป็นกษัตริย์ก็จริง แต่ฉันก็ยังมีอาชีพเป็นช่างภาพของหนังสือพิมพ์แสตนดาร์ด ได้เงินเดือนละ 100 บาท ตั้งหลายปีมาแล้ว จนบัดนี้ยังไม่เห็นเขาขึ้นเงินเดือนให้สักที เขาก็คงถวายเดือนละ 100 บาทอยู่เรื่อยมา (ศูนย์วัฒนธรรมฯ, 2530 : 95) และทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการที่ทรงเป็นช่างภาพสมัครเล่นว่า คนบางคนคิดว่า สมัยนี้รถยนต์ที่วิ่งเรียบและเปิดหลังคาโล่ง ได้เข้ามาแทนที่การนั่งช้างอันโขยกเขยกในราชพิธีเป็นส่วนมากแล้วในเมืองไทย การถ่ายรูปจึงเป็นของง่ายสำหรับพระเจ้าอยู่หัว ฉันคิดว่านี่ก็จริงอยู่อย่างหนึ่งเหมือนกัน แต่มันยังไม่ใช่แก่นแท้ของปัญหาทีเดียว แก่นแท้ของปัญหานั้นคือว่า ในราชพิธีท่านไม่อาจเปิดกล้องลงมือถ่ายรูปคนอื่นๆ ทุกคน บรรดาที่เขาเองก็พากันกำลังจ้องถ่ายรูปตัวท่านอยู่ได้อย่างสบายนักหรอก นอกจากนั้นแล้วรูปถ่ายพระเจ้าอยู่หัวก็จะไม่มีภาพพระเจ้าอยู่หัวติดอยู่ บางคนเคยแนะนำให้ฉันเอากล้องคอนแทกซ์ สวมติดไว้กับผิวหนังแล้วให้เจาะรูเล็กๆ ที่เครื่องแต่งกาย พอให้เลนซ์โผล่ออกมาข้างนอกได้เพื่อให้ดูคล้ายๆ เครื่องปราศรัยอีกอย่างหนึ่ง แต่นี่ฉันคิดว่าคงไม่ได้ผล ฉันพยายามแก้ปัญหาสองวิธี วิธีแรก ฉันก็มองรูปที่ฉันต้องการถ่ายไว้ก่อนลงมือ จากนั้นก็ตั้งกล้องแล้วขอให้เพื่อนคนหนึ่งชี้ล่อประชาชนไปทางอื่น แล้วฉันก็กดปุ่มให้ทันที แต่อย่างไรก็ตาม วิธีนี้มีเพื่อนๆ น้อยคนนักจะทำได้ถูกต้อง อีกวิธีหนึ่งก็คือ ฉันเอากล้องคอนแทกซ์ใส่ไว้ในกระเป๋ากางเกง พอมโหรีเริ่มบรรเลงหรือมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ที่จะทำให้ฝูงชนหันจากฉันไปเสียทางอื่นฉันก็รีบควักกล้องออกมาถ่ายแล้วเก็บลงกระเป๋ากางเกงอีก แต่ไม่สนุกเลยจริงๆ (สยามนิกร, 27 ก.พ. 2493 อ้างในพระบรมราโชวาทพระราชดำรัสฯ, มปป : หน้า 1 -2) ตัวอย่างภาพที่ทรงถ่ายในขณะที่อยู่ต่อหน้าชุมชน ได้แก่ ภาพราษฎรชาวสมุทรปราการเฝ้าฯ รับเสด็จ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 เมื่อครั้งทรงสมเด็จพระราชอนุชา ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เพื่อทรงเยี่ยมราษฎรในที่ต่างๆ พระองค์ได้ทรงบันทึกภาพราษฎรจำนวนนับร้อยนับพันที่เบียดเสียดกันเข้าชมพระบารมีด้วยสีหน้ายิ้มแย้มและชื่นชมยินดี และเมื่อครั้งเสด็จออกมหาสมาคมในพระราชกาญจนาภิเษก เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2539 ณ พระที่นั่งกาญจนาภิเษก บริเวณท้องสนามหลวง ได้ทรงวางกล้องเล็กๆ ไว้บนพระเพลา แล้วทรงถ่ายภาพผู้ที่มาชุมนุมเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทโดยไม่ต้องทรงยกกล้องขึ้นมา นอกจากโปรดการถ่ายภาพแล้ว พระองค์ยังโปรดการถ่ายภาพยนตร์ด้วย ในปี พ.ศ. 2490 เมื่อมีงานฉลองฤดูร้อนในบริเวณสวนสาธารณะที่เมืองโลซานน์และมีการแสดงจุดดอกไม้เพลิงขนาดใหญ่ ทรงบันทึกภาพไว้ด้วยวิธิการที่ “องคต” ล้นเกล้าฯ ของเรากำลังทรงเตรียมกล้องถ่ายหนัง และทรงหาที่ถ่ายที่จะเห็นได้ชัดเจนและใกล้หน่อย แต่คนก็แน่นเหลือเกิน ประกอบกับเวลานั้นราวๆ สี่ทุ่มมืดสนิทดีแล้ว ไฟสีที่เขาตกแต่งตามริมทะเลสาบดับวูบลง ล้านเกล้าฯ กำลังทรงหาที่สำหรับจะถ่ายหนังอีก เผอิญมีช่องหนึ่งที่พอจะทรงแทรกเข้าไปได้ จึงทรงฝาฝูงคนนั้นเข้าไปเยี่ยงสามัญชนผู้หนึ่ง (สมาคมภาษาฯ, 2531 : 213) นอกจากทรงทดลองวิธีการต่างๆ ในการถ่ายภาพและถ่ายภาพยนตร์แล้ว ยังทรงมีพระราชวินิจฉัยในการเลือกเครื่องมือในการถ่ายภาพด้วยพระองค์เอง เมื่อได้รับพระราชทานกล้อง Coronet Midget จากสมเด็จฯ พระบรมราชชนนี เป็นกล้องแรกเมื่อ พ.ศ. 2479 ต่อมาทรงใช้กล้อง Kodak Vest Pocket Montreux เป็นกล้องตัวที่ 2 มีลักษณะคล้ายกล่องสี่เหลี่ยม เรียกว่า Mimibox ต่อมาราว พ.ศ. 2481 พระองค์ทรงมีกล้อง Elax Lumière เพิ่มขึ้นอีกกล้องหนึ่ง หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลายๆ ประเทศได้ให้ความสนใจในการผลิตกล้องและพัฒนากล้องให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำให้พระองค์ทรงมีโอกาสเลือกใช้กล้องที่ผลิตจากประเทศต่างๆ ทรงเลือกใช้กล้องที่ผลิตในประเทศเยอรมนี ชื่อ Linhof ทรงทดลองใช้อยู่ช่วงเลาหนึ่ง ก็ทรงเห็นว่าไม่เหมาะกับพระหัตถ์และพระราชประสงค์ จึงไม่ทรงทดลองใช้อีก ต่อมาทรงทดลองใช้กล้องที่ผลิตในประเทศสวีเดน ชื่อ Hasselblad เป็นแบบสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว (single lens reflex) พระองค์ทรงทดลองใช้อยู่หลายปี ต่อมา พ.ศ. 2493 พระองค์ทรงทดลองใช้กล้อง Contax II เป็นกล้องที่สามารถเปลี่ยนเลนส์ได้ และมีเครื่องวัดแสงในตัว ทรงได้มาจากสิงคโปร์ เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก เสด็จพระราชดำเนินไป ณ ที่ใดจะทรงใช้อยู่เป็นประจำ ปัจจุบันได้พระราชทานไว้ที่สวนหลวง ร.9 เมื่อบริษัท E. Leitz Wetzlarr ประเทศเยอรมนี ได้ผลิตกล้อง Leica รุ่น M ขึ้น พระองค์ทรงได้กล้อง Leica มากล้องหนึ่งเป็นกล้องมือสอง ทรงทดลองใช้อยู่ระยะหนึ่ง และเมื่อบริษัทไซส์ (Zeiss) ผลิตกล้องชื่อ Super Ikonta ใช้ฟิล์มเบอร์ 120 สามารถอัดภาพขยายใหญ่ได้ (กล้องสมัยนั้นนิยมอัดภาพขนาดเท่าฟิล์ม) แต่มีข้อเสียฟิล์มหมดเร็ว ก็ทรงทดลองใช้อยู่ระยะหนึ่ง แล้วพระราชทานให้หัวหน้าช่างภาพประจำพระองค์ขณะนั้น พระองค์ทรงทดลองใช้กล้องในเครือบริษัท Robot รุ่น Robot. Royal เป็นกล้องขนาดเล็กกะทัดรัด เหมาะกับพระหัตถ์มาก ใช้ฟิล์มเบอร์ 135 ภาพที่ได้จะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ฟิล์มม้วนหนึ่งจะได้ภาพมากกว่ากล้องที่ใช้ฟิล์มขนาดเดียวกัน และเป็นกล้องที่หมุนฟิล์มขึ้นชัตเตอร์ได้รวดเร็วกว่ากล้องชนิดอื่นๆ แต่การหมุนฟิล์มได้รวดเร็วนี้ ก็ทำให้เกิดเหตุขัดข้องอยู่เสมอ ใน พ.ศ. 2494 พระองค์ทรงทดลองใช้กล้อง Ikoflex ทรงปรารภว่า ใช้ง่าย เลนส์ดี ได้ภาพสวยคมชัด เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก จึงทรงใช้กล้องนี้อยู่นาน ต่อมาใน พ.ศ. 2496 พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดงานวันฉลองรัฐธรรมนูญที่สวนลุมพินี พระองค์ได้ทอดพระเนตรกิจการร้านของสถานทูตรัสเซีย เจ้าหน้าที่ได้ทูลเกล้าฯ ถวายกล้อง Kiev ทรงทดลองใช้จนเข้าพระราชหฤทัย จึงได้ทรงเก็บไว้เป็นที่ระลึก ใน พ.ศ. 2514 ทรงทดลองใช้กล้องที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ กล้อง Canon – 7 แบบเล็งระดับตา กล้องรุ่นนี้แข็งแรงทนทานดีมาก แต่มีข้อจำกัดเปลี่ยนเลนส์ไม่ได้ ทำให้ได้ภาพไม่ตรงตามพระราชประสงค์ จึงทรงเปลี่ยนมาใช้กล้องระบบสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว รุ่น Canon A-1 ระบบปรับตั้งด้วยตนเอง (manual) กับระบบปรับตั้งอัตโนมัติด้วยพลังไฟฟ้า ต่อมาทรงใช้กล้อง Canon 35 รุ่นใหม่ แบบระบบอัตโนมัติ ทดลองใช้อยู่ระยะหนึ่ง ทรงปรารภว่า ใช้ง่ายเกินไป ทรงทดลองใช้กล้อง Nikon F3 บันทึกภาพได้คมชัดเป็นที่พอพระราชหฤทัย แต่กล้องนี้มีน้ำหนักมากเกินไป จึงพระราชทานให้เป็นสมบัติของส่วนช่างภาพส่วนพระองค์ ต่อมาทรงทดลองใช้กล้องกลุ่ม Canon EOS (electronic optical system) เริ่มตั้งแต่รุ่น EOS-650, EOS-620, และเมื่อบริษัท Nikon ผลิต F-401 S ทรงทดลองใช้อยู่ระยะหนึ่ง และทดลองใช้กล้อง Minolta Dynax 5000i สร้างสรรค์ผลงานด้วยระบบการ์ด (creative expansion card system) สามารถถ่ายภาพเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็ว เช่น ภาพการแข่งขันกีฬา ควบคุมช่วงความชัดให้ชัดมากหรือชัดน้อยด้วยระบบอัตโนมัติ และทดลองใช้กล้องเล็กที่เรียกว่า กล้องคอมแพ็ค (compact camera) ทั้งทดลองใช้กล้อง Pentax AF ฯลฯ (ย่อสรุปจากสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยฯ, มปป. : 24-36) แต่ที่ทรงใช้อยู่เป็นประจำคือ กล้อง Canon รุ่น EOS 1000 และ Minotia เป็นกล้องที่มีน้ำหนักเบา (น้อม พงศ์กัญจนากูร) ด้วยความสนพระราชหฤทัยและพระปรีชาสามารถทางการถ่ายภาพ ประกอบกับพระราชประสงค์ที่จะทรงใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายอย่างกว้างขวาง จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดส่วนช่างภาพส่วนพระองค์ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ล้างอัดขยายภาพ บันทึกราละเอียดของภาพ อนุรักษ์ภาพ และบริการผู้มาติดต่อขอภาพไปใช้ประโยชน์ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ในหลวง รัชกาลที่ 9” มิได้เพียงแสดงความงามทางศิลปะหรือวิจิตรศิลป์เพียงอย่างเดียว ยังมีคุณประโยชน์อเนกอนันต์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตพสกนิกรของพระองค์ และการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศด้วย นับได้ว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงใช้ศิลปะการถ่ายภาพเพื่อการพัฒนาประเทศในอีกมุมหนึ่งโดยแท้ ในส่วนของนักถ่ายภาพสมัครเล่นทั่วไปอย่างผม ได้เรียนรู้มุมภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระองค์ ที่เผยแพร่ทางนิทรรศการภาพถ่ายเฉลิมพระเกียรติในแต่ละวโรกาส ซึ่งภาพถ่ายของพระองค์ นอกจากทรงใช้ประโยชน์ต่างๆ แล้ว ยังสื่อแนวคิดในหลายๆ ด้าน ในหลายๆ มุมไว้ในภาพให้แง่คิดอีกด้วย ผมจึงนำมาเป็น “ครู” การถ่ายภาพ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ