ทุกครั้งที่กรุงเทพมหานคร ประสบปัญหาน้ำท่วม ความได้ทราบถึงพระเนตรพระกรรณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตลอดเวลา และได้เสด็จฯไปตรวจสอบการแก้ไขปัญหาด้วยพระองค์เอง พร้อมพระราชทานพระราชดำริแนะนำแนวทาง ในช่วงระหว่างเดือนส.ค.ถึงปลายปี 2526 ได้เกิดฝนตกหนักมากในเขตกทม.และปริมณฑล วัดปริมาณเฉพาะช่วงส.ค.-ก.ย.ได้สูงถึง 1,028 มม. และวัดปริมาณตลอดทั้งปี 2,119 มม. ซึ่งสูงกว่าค่าฝนเกณฑ์เฉลี่ย (1,500 มม.) มาก ทำให้กทม.และปริมณฑลน้ำท่วมยาวนาน 3-5 เดือน มีการประเมินความเสียหายสูงถึง 6,598 ล้านบาท ทั้งนี้ กทม.ได้ประสบปัญหาถึง 3 น้ำคือ น้ำฝน น้ำเหนือบ่า และน้ำทะเลหนุน ปัญหาน้ำท่วมจึงยืดเยื้อ โดยเริ่มตั้งแต่ส.ค.จนถึงพ.ย.26 สร้างความเสียหายมากมาย ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเรียกเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าปรึกษาหารือเพื่อหาทางแก้ปัญหา ทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและระยะยาว พระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรในครั้งนั้น ได้ปรากฏด้วยการเสด็จฯตรวจสภาพพื้นที่น้ำท่วมถึง 6 ครั้งคือ ครั้งที่ 1 วันที่ 8 ต.ค.26 เวลา 14.15 น. เสด็จฯโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง จากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ทอดพระเนตรน้ำท่วมที่ซอยศูนย์วิจัย เพชรบุรีตัดใหม่ ลาดพร้าว บางกะปิ พระโขนง สำโรง ซึ่งน้ำท่วมขังกว่า 1 เดือน กับทอดพระเนตรคลองสามเสน คลองลาดพร้าว คลองแสนแสบ คลองตัน คลองพระโขนง คลองสำโรง คลองผดุงฯ รวมทั้งคลองต่างๆ ในกทม.และสมุทรปราการ เพื่อหาข้อมูลต่างๆ มาพิจารณาบรรเทาสภาพน้ำท่วมขัง ต่อมาเวลา 15.15 น. เสด็จฯกลับพระตำหนักจิตรลดารโหฐานและพระราชทานพระบรมราชวโรกาส ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าเฝ้าฯ และพระราชทานพระราชดำริให้ก่อสร้างทำนบกั้นน้ำในคลองแสนแสบ คลองบางกะปิ จะทำให้สภาพน้ำท่วมขังในซอยศูนย์วิจัย ลาดพร้าว บางกะปิ ลดลงได้รวดเร็วขึ้น โดยให้กทม. กองกำลังรักษาพระนคร กรมชลประทานร่วมดำเนินการโดยเร็วที่สุด ครั้งที่ 2 วันที่ 19 ต.ค.26 เสด็จฯตรวจการก่อสร้างทำนบปิดกั้นคลองแสนแสบ โดยเรือยนต์ของกองพันทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ จากท่าเทียบเรือวังสระปทุม ไปตามคลองแสนแสบ และมีพระราชดำรัสให้แก้ไขโครงการต่างๆ เพิ่มเติม ครั้งที่ 3 วันที่ 27 ต.ค.26 เสด็จฯตรวจน้ำท่วมบริเวณซอยศูนย์วิจัย และห้วยขวาง ซึ่งน้ำท่วมในระดับสูงมาก ระหว่างเวลา 18.30-19.20 น. โดยทอดพระเนตรสภาพน้ำท่วมในทุกๆ ซอยของซอยศูนย์วิจัย จากนั้นจึงเสด็จฯกลับ ซึ่งการเสด็จฯครั้งนี้ ไม่มีใครทราบมาก่อน แม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็ตามเสด็จฯไปทีหลัง ครั้งที่ 4 วันที่ 7 พ.ย.26 เมื่อเวลา 14.40 น. เสด็จฯเป็นการส่วนพระองค์ด้วยรถแวนแวคคอเนีย พร้อมขบวนรถติดตาม จากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เข้าถนนศรีอยุธยา เลี้ยวขวาเข้าถนนเพชรบุรี มุ่งหน้าถนนบางนา-ตราด ท่ามกลางความประหลาดใจของชาวบ้าน เพราะไม่มีหมายกำหนดการ และไม่มีการปิดถนนในช่วงเสด็จฯ ผ่านแม้แต่ที่เดียว รวมทั้งตำรวจท้องที่ก็ไม่ทราบล่วงหน้ามาก่อน จนกระทั่งถึงสะพานข้ามคลองบางนา บริเวณกม.6 รับสั่งให้ชะลอรถดูระดับน้ำไปเป็นระยะๆ รถยนต์พระที่นั่งวิ่งไปถึงคลองบางแก้วใหญ่ กม.9 คลองสตูล กม.10 คลองชวดลากข้าว คลองลาดกระบัง และแวะหยุดที่คอสะพานที่ก่อสร้างใหม่ จึงเสด็จฯลงจากรถพระที่นั่ง เรียกเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ มาร่วมหารือ ทรงฉายภาพบริเวณน้ำท่วมด้วยพระองค์เอง และกางแผนที่ทอดพระเนตรจุดต่างๆ ในการระบายน้ำ จากคลองจิก รามคำแหง ลาดกระบัง ไปสู่คลองสำโรง บางพลีใหญ่ เพื่อระบายสู่ทะเลต่อไปด้วย จนเวลา 16.40 น. จึงเสด็จฯกลับ รถพระที่นั่งเข้าถนนรัชดาฯ ซอยอุดมสุข แขวงหนองบอน เขตพระโขนง รับสั่งให้หยุดรถพระที่นั่งบนสะพานคลองหนองบอน เพื่อฉายภาพบริเวณน้ำท่วม และศึกษาพื้นที่จากแผนที่ร่องน้ำต่างๆ ปรากฏว่าชาวบ้านที่ทราบข่าว ต่างมารอเฝ้าฯชมพระบารมีนับร้อยๆ คน ทำให้การจราจรบนสะพานติดขัดอยู่พักหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงโบกพระหัตถ์ให้รถขบวนเสด็จฯ ผ่านจนเป็นที่เรียบร้อยด้วยพระองค์เอง ราษฎรในละแวกนั้น เมื่อทราบว่าเสด็จฯ ก็ได้เข้าเฝ้าฯด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่ทรงห่วงใยพสกนิกร และเสด็จฯโดยไม่มีใครทราบล่วงหน้ามาก่อน ประชาชนในละแวกเคหะนคร 1 แขวงบางบอน เขตประเวศ ซึ่งรอรับเสด็จฯกล่าวว่า “...พวกเราแม้จะทนทุกข์เพราะน้ำท่วมขังเน่ามาเป็นเวลานาน ก็เชื่อมั่นว่าพระองค์ย่อมหาทางช่วยเหลือได้แน่นอน” ขบวนรถพระที่นั่งได้วิ่งกลับมาทางซอยอุดมสุข มุ่งหน้าสู่ถนนพัฒนาการ ทรงแวะฉายภาพบริเวณคลองตัน พร้อมกับทอดพระเนตรสภาพระดับน้ำสักครู่หนึ่ง แล้ววกมาคลองจิก ซึ่งเมื่อถึงจุดนี้เป็นเวลาค่ำพอดี ทรงนำไฟฉายส่วนพระองค์ออกมาส่องแผนที่ป้องกันน้ำท่วม และแนวพนังกั้นน้ำอยู่เป็นเวลานาน ท่ามกลางประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จฯ ด้วยความซาบซึ้งยิ่ง ตลอดเส้นทางที่ขบวนรถพระที่นั่งผ่านระดับน้ำท่วมสูงมาก บางแห่งท่วมลึกถึง 40-60 ซม. ทำให้ขบวนรถพระที่นั่งแล่นฝ่าน้ำออกไปอย่างเชื่องช้า ประชาชนทั้งสองฟากถนนเมื่อทราบว่า องค์พระมิ่งขวัญเสด็จฯมาต่างดีใจ ขบวนรถพระที่นั่งผ่านถนนลาดพร้าว ออกไปทางถนนวิภาวดีฯ ก่อนที่จะเสด็จฯกลับพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อเวลา 18.15 น. ครั้งที่ 5 วันที่ 14 พ.ย.26 เมื่อเวลา 15.30 น. เสด็จฯทอดพระเนตรสภาพน้ำท่วม โดยเสด็จฯจากพระตำหนักจิตรลดาฯ ไปทางถนนราชวิถี ดินแดง สุทธิสาร แล้วขึ้นทางด่วนเพื่อไปยังพื้นที่น้ำท่วมพระโขนง บางนา พร้อมตรวจสภาพคลองบริเวณดังกล่าว ในการนี้ ได้เสด็จฯตรวจคลองบริเวณจุดที่สายน้ำทั้งหมดไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา มีพระราชดำรัสแก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่ให้เร่งระบายน้ำ โดยเพิ่มเครื่องสูบน้ำให้มากขึ้น ตลอดจนขุดลอกขยายคลองทั้ง 4 สาย เพื่อให้การระบายน้ำจากพื้นที่น้ำท่วม พระโขนง บางจาก คลองขึ้น อันจะส่งผลให้ระดับน้ำลดลงไปด้วย การเสด็จฯทอดพระเนตรพื้นที่น้ำท่วมครั้งนี้ ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะหาหนทางเร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโดยเร็วที่สุด ได้เสด็จฯฝ่าน้ำท่วมและถนนที่ขรุขระยากแก่การเสด็จฯ มีพสกนิกรเข้าเฝ้าฯอย่างใกล้ชิด ภายหลังเสด็จฯทอดพระเนตรจุดต่างๆ และคูคลองอื่นๆ จนเป็นที่พอพระทัยจึงเสด็จฯกลับ เมื่อเวลา 18.30 น. ครั้งที่ 6 วันที่ 24 พ.ย.26 เสด็จฯฝั่งธนบุรี ทรงพระดำเนินลุยน้ำเข้าไปตามทางรถไฟประมาณ 1 กม. ซึ่งที่นั่นคณะของกรมชลประทานรอรับเสด็จฯ ได้ทรงมีพระราชดำริให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย หาทางที่จะให้คลองพระราชมนตรีสามารถระบายน้ำออกไปได้เร็วกว่าเดิม โดยทรงให้ขุดท่อระบายน้ำลอดใต้ทางรถไฟ 4-5 ท่อ และทรงใช้เรือผลักดันน้ำอีก 2-3 ตัว ติดตั้งบริเวณดังกล่าวด้วย เพื่อช่วยเพิ่มการดันน้ำออกไปอีกทางหนึ่ง ทรงพระดำเนินผ่านท้องนา 1 กม.เศษ เข้าไปยังประตูระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี ผ่านพสกนิกรด้วยพระพักตร์แจ่มใสและแย้มพระสรวลอยู่ตลอดเวลา มีรับสั่งให้กรมชลประทานร่วมกับกทม.ขุดทางระบายน้ำออกโดยวิธีธรรมชาติให้เร็วขึ้น โดยมีรับสั่งให้ขุดเหนือปากประตูระบายน้ำของคลองอ้อมไปยังคลองสามชัย ซึ่งห่างจากประตูระบายน้ำดังกล่าวไม่กี่ร้อยเมตร เช่นเดียวกับขุดทางระบายน้ำลัดที่ประตูระบายน้ำพระโขนง ทรงให้เจ้าหน้าที่ยกศาลเจ้าซึ่งอยู่บริเวณเดียวกันขึ้นอีก 1 เมตร เพื่อไม่ให้ต้องจมอยู่ในน้ำด้วย ได้มีรับสั่งกับหน.เขตบางขุนเทียนว่า อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การระบายออกโดยธรรมชาติไม่มีประสิทธิภาพเพราะมีการสร้างโรงงานและหมู่บ้านจัดสรรไม่ถูกต้องตามลักษณะที่ควรจะเป็น พระองค์ทรงรับสั่งว่าให้ควบคุมการสร้างโรงงานและหมู่บ้านจัดสรร อย่างน้อยเขตหรือกทม.ควรต้องมีมาตรการทำทางระบายน้ำ ให้กำหนดไว้เป็นข้อบังคับ ทรงย้ำให้เขต-กทม.ประสานผู้เชี่ยวชาญในเรื่องทางน้ำไหลผ่านต่างๆ ด้วย เพื่อให้การแก้ปัญหาน้ำท่วมประสบผลสำเร็จร่วมกัน และมีพระราชดำรัสชัดแจ้งว่า ถ้าไม่แก้ปัญหาเหล่านี้แล้ว สภาพการณ์ในปีหน้าจะร้ายกว่าปีนี้อีก เพราะขนาดปริมาณน้ำลงมาเท่านี้ก็ท่วมขังแล้ว ได้รับสั่งกับเจ้าหน้าที่ทั้งหมดที่เฝ้าฯติดตามในครั้งนี้ด้วยว่า ข้อมูลและการแก้ปัญหาน้ำท่วมปีนี้ ขอให้ทุกคนอย่าลืมเสียหมด หลังจากที่น้ำลดลง ขอให้เก็บทุกอย่างไว้เป็นหลักฐานประกอบการแก้ไขในอนาคต ในส่วนพระองค์ก็จะนำข้อมูลเหล่านี้เข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ไว้เพื่อเป็นสิ่งเปรียบเทียบกับปัญหาในอนาคต หลังจากมีรับสั่งในเรื่องต่างๆ แล้ว ได้เสด็จฯกลับพระตำหนักจิตรลดาฯ เมื่อเวลาประมาณ 19.00 น.เศษ พร้อมผู้เฝ้าติดตามทั้งหมด เพื่อเข้าเฝ้าฯสรุปผลการเสด็จฯออกทอดพระเนตร และสรุปในสิ่งที่มีรับสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ... (เรียบเรียงจากหนังสือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับการพัฒนากรุงเทพมหานคร ตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” กทม.จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในมหามงคลสมัยฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พุทธศักราช 2539)