“พระบารมีปกเกล้าฯ” เรียนรู้การทรงงานสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ดร.สุทิน ลี้ปิยะชาติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้วยพระวิริยะอุตสาหะ สมดังพระราชปณิธานพระราชทานไว้ในพระปฐมบรมราชโองการความว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” และได้พระราชทานปรัชญาของเศรษฐกิจตามแนวพระราชดำริ ซึ่งเป็นปรัชญาการดำเนินชีวิตที่พระองค์พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทยผ่านพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสในโอกาสต่างๆ มาโดยตลอด ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และต่อมาภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้สังคมไทยรอดพ้นจากวิกฤติที่เกิดขึ้น ให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง ยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ที่สังคมต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตลอดเวลา กระผมขออัญเชิญบทความพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง “เรียนรู้การทรงงานสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้น้อมอัญเชิญมาพิมพ์ในส่วนแรกของหนังสือเรื่อง “สัจธรรมแห่งแนวพระราชดำริ สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๘๖ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๖ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ๘๑ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๖ ความตอนหนึ่งว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมุ่งมั่นอย่างวิริยะ และอุตสาหะที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความสุข อยู่ดีกินดี ด้วยการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรเพื่อทรงศึกษาและหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้แก่ราษฎรในทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยได้พระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมาย เพื่อพัฒนาประชาชนและประเทศให้ก้าวหน้าหรือเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น โดยทรงยึดหลักในการดำเนินโครงการว่าต้องเป็นการพัฒนาที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งประโยชน์ให้เกิดแก่ส่วนรวมและประเทศชาติอย่างแท้จริง จึงจะเป็น “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จออกมหาสมาคมในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๙ ความตอนหนึ่งว่า “...ทุกวันนี้ประเทศไทยยังมีทรัพยากรพร้อมมูล ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคล ซึ่งเราสามารถนำมาใช้เสริมสร้างความอุดุมสมบูรณ์และเสถียรภาพอันถาวรของบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี ข้อสำคัญเราจะต้องรู้จักใช้ทรัพยากรนั้นอย่างฉลาด คือไม่นำมาทุ่มเทใช้ให้สิ้นเปลืองไปโดยไร้ประโยชน์ หรือได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หากแต่ระมัดระวังใช้ด้วยความประหยัดรอบคอบ ประกอบด้วยความคิดพิจารณาตามหลักวิชา เหตุผล และความถูกต้องเหมาะสม โดยมุ่งถึงประโยชน์แท้จริงที่จะเกิดแก่ประเทศชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันยืนยาว...” ในการปรับปรุงและยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดังกล่าว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงงานเคียงข้างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยพระองค์ทรงทำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีพระราชประสงค์จะช่วยให้ราษฎรสามารถพึ่งตนเองได้ จึงจะเป็นการช่วยเหลืออย่างยั่งยืน ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานในพิธีเปิดการประชุมและนิทรรศการเรื่อง “มรดกสิ่งทอของเอเชีย : หัตถกรรมและอุตสาหกรรม” ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๓๕ ความตอนหนึ่งว่า “...ข้าพเจ้าตั้งใจจะสรรหาอาชีพให้ชาวนาที่ยากจนเลี้ยงตัวเองได้เป็นเบื้องต้น ทั้งนี้เนื่องจากข้าพเจ้าได้มีโอกาสตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปเยี่ยมราษฎรตามชนบทมาหลายสิบปี ได้พบว่าราษฎรส่วนใหญ่เป็นชาวนาชาวไร่ที่ต้องทำงานหนัก และต้องเผชิญอุปสรรคจากภัยธรรมชาติมากมาย... ทำให้ชาวนาชาวไร่มักยากจน การนำสิ่งของไปแจกราษฎรผู้ประสบภัยธรรมชาติ เป็นเพียงบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชปรารภว่า เป็นการช่วยเหลือที่ไม่ยั่งยืน ควรจะหาวิธีอื่นที่ช่วยให้ราษฎรพึ่งตนเองได้...” ...งานหลักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคือ พัฒนาปัจจัยในการผลิตเพื่อการกินอยู่ของคนในท้องถิ่น ปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือการหาน้ำให้เพียงพอแก่การเพาะปลูก โดยทรงเล็งเห็นว่า น้ำเป็นส่วนสำคัญที่สุดของชีวิต และเป็นปัจจัยในการผลิตพืชผลต่างๆ รวมทั้งทรงทำพร้อมกันในทุกด้านเพื่อให้ประชาชนสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง โดยพึ่งพาปัจจัยภายนอกให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ พระองค์มีพระราชดำรัสอยู่เสมอว่าจะต้องให้ประชาชนมีสุขภาพอนามัยดี จึงทรงช่วยรักษาพยาบาลอุปการะผู้เจ็บป่วย นอกจากนั้น ทรงเห็นความสำคัญว่าต้องช่วยให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้ารับการศึกษา มีความรู้อย่างน้อยให้อ่านออกเขียนได้ สามารถอ่านเอกสารของทางราชการ และเพื่อให้รับความรู้ด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ดังนั้น ตั้งแต่เกิดมาจำความได้ จึงเห็นทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงคิดหาวิธีการต่างๆ ที่จะยกฐานะความเป็นอยู่ของคนไทยให้ดีขึ้น และได้ตามเสด็จฯ เห็นความทุกข์ยากลำบากของพี่น้องเพื่อนร่วมชาติ ก็คิดว่าช่วยอะไรได้ควรช่วย ไม่ควรนิ่งดูดาย เห็นจะเป็นเพราะความเคยชิน เมื่อโตขึ้นพอมีแรงทำอะไรได้ก็ทำอย่างอัตโนมัติ และเป็นเหตุที่ทำให้ชอบการพัฒนาช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งเป็นหน้าที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องทำประจำอยู่แล้ว และอีกประการหนึ่งรู้สึกเสมอว่า การเป็นเจ้าฟ้านั้นได้เปรียบผู้อื่นหลายอย่าง จึงควรนำข้อได้เปรียบนั้นมาทำประโยชน์แก่ผู้อื่น...” ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่เปรียบมิได้ กระผมขออัญเชิญพระราชดำรัสเกี่ยวกับคุณธรรมที่ทุกคนควรศึกษาและน้อมนำไปปฏิบัติ ซึ่งได้พระราชทานให้พสกนิกรชาวไทยน้อมนำไปไช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติตนและปฏิบัติงาน เพื่อทำความดีเพื่อสังคมไทยให้เจริญอย่างยั่งยืน สมดุลและมั่นคงต่อไปตราบนานเท่านาน ดังนี้ครับ พระราชดำรัสในพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๒๕ ความตอนหนึ่งว่า “...คุณธรรมที่ทุกคนควรจะศึกษาและน้อมนำมาปฏิบัติ มีอยู่สี่ประการ. ประการแรก คือการรักษาความสัจ ความจริงใจต่อตัวเอง ที่จะประพฤติปฏิบัติ แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม. ประการที่สอง คือการรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกใจตนเองให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัจความดีนั้น ประการที่สาม คือการอดทน อดกลั้น และอดออม ที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัจสุจริต ไม่ว่าจะด้วยเหตุประการใด ประการที่สี่ คือการรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตนเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง คุณธรรมสี่ประการนี้ ถ้าแต่ละคนพยายามปลูกฝังและบำรุงให้เจริญงอกงามขึ้นโดยทั่วกันแล้ว จะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุข ความร่มเย็น และมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนาให้มั่นคงก้าวหน้าต่อไปได้ดังประสงค์...” ขอน้อมเกล้าฯ ถวายอาลัยส่งดวงพระวิญญาณพระองค์เสด็จสู่สวรรคาลัย กระผมขอเชิญชวนทุกท่านน้อมนำพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท ตลอดจนศึกษาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต เพื่อความสมดุล มั่นคงและยั่งยืนของทุกท่านครับ