วันที่ 27 เม.ย.66  นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ประเทศไทยต้องมาก่อน ตอน "เข้าทางใคร?" โดยยกรณี 6 ตุลา 2519 เตือนสติพรรคการเมืองดีเบตหาคะแนนเสียงไม่ควรนำปัญหา ม.112 มาถกเถียงเอาชนะกัน เนื่องจากทั้งฝ่ายโหนเจ้าและฝ่ายปฏิรูปสถาบันจะฉวยนำไปปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ขึ้นมาได้อีก

นายจตุพร กล่าวว่า การเมืองเรื่องการหาคะแนนเสียงขณะนี้เป็นสิ่งน่ากังวล ถ้าใครคิดการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปด้วยความราบรื่นต้องคิดผิดสิ้นเชิง เพราะอำนาจองค์กรอิสระยังอยู่ในมือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เบ็ดเสร็จ และ ส.ว. ยังมีสิทธิโหวตเลือกนายกฯ ดังนั้น เครื่องมือนี้ย่อมบ่งชี้การจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งจะส่อถึงอาการสะดุดขึ้น

อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งรัฐบาลหากคิดแบบง่ายๆ ในฐานจำนวนเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลเดิมถ้าได้ 126 เสียง บวกกับ ส.ว. 250 เสียง รวม 376 เสียง ก็สามารถชิงนายกฯ ไปอยู่ฝ่ายเดิมได้ อีกอย่างยังมีหนทางยุบพรรคให้กวาดเสียง ส.ส.มาเพิ่มเติมให้เกิน 251 เสียง เกินครึ่งของ ส.ส. 500 คน หรือถ้ากวาดต้อนไม่ได้ก็ยุบสภาอีกครั้ง เลือกตั้งใหม่ ย่อมเป็นอาการสะดุดที่จะเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

รวมทั้งเห็นว่า ตราบใดพรรคเพื่อไทยไม่ได้รับเลือกถึง 376 เสียงแล้ว ย่อมไม่มีวันไปสู้ในสภายกแรกการเลือกนายกฯ ได้เลย ดังนั้นในการตั้งรัฐบาลจึงขึ้นกับแต่ละพรรคการเมืองกำหนดจุดยืนตัวเองอย่างไรด้วย

นายจตุพร หวั่นวิตกและเสนอว่า ในการดีเบตที่จัดขึ้นถี่กระชันขึ้นช่วงนี้ ไม่ควรนำปัญหา ม.112 มาเป็นหัวข้อถกเถียง เพราะจะไปปลุกพลังฝ่ายอนุรักษ์ขึ้นมา อีกทั้ง คนรุ่นใหม่กับการเลือกตั้งครั้งนี้ จะมีแนวคิดเลือกไปในทาง ม.112 แต่สุดท้ายผลลัพธ์ย่อมนำไปสู่ความเสียหายกับสถาบันอย่างไม่ควรจะเป็นเลย ดังนั้นจึงเตือนว่า “ถ้าคิดเอาเรื่องสถาบันมาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเพื่อให้ได้คะแนนของแต่ละฝ่ายกันแล้ว ก็ให้ดู 6 ตุลากันไว้ให้ดี”

"เพราะถึงที่สุดจะไม่มีคนยอมกัน วันนี้ ผมไม่ใช่ว่าจะพูดเพื่อให้เกิดอะไร แต่ถ้าหยิบยกเรื่องนี้ (112) มาเป็นเรื่องใหญ่ในวงดีเบตทั้งหลาย จะนำพาให้ถลำกันไปเรื่อยๆ แล้วที่สุดจะกลายเป็นเรื่องเส้นแบ่งบางๆ แล้วขาดได้ตลอดเวลา และจะเกิดการชี้หน้าต่อว่าพวกโหนเจ้า พวกล้มเจ้าในการหาเสียง ทั้งที่เจ้าไม่เกี่ยวอะไรด้วย สิ่งนี้จะทวีความขัดแย้งของสองซีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้"

นายจตุพร ย้ำว่า ใครจะเชื่ออย่างไรก็ตามสบาย แต่สำหรับตนแล้ว เชื่อว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ในอีกไม่กี่วันหรืออาจก่อนเลือกตั้งหรือหลังก็ตาม เพราะแต่ละฝ่ายปลุกแรงขึ้น เนื่องจากทั้งฝ่ายโหนและล้ม หวังได้คะแนนล้วนแต่ใช้ประโยชน์จากสถาบันทั้งคู่ และทั้งสองฝ่ายต่างมีกองเชียร์ แล้วเอาสถาบันมาเป็นเหยื่อ มาเป็นเครื่องมือจึงเป็นเรื่องที่น่ากังวล

"ถ้าใครคิดว่า ไม่มีอะไรนั้น เมื่อ 6 ตุลาก็คิดกันแบบนี้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเส้นแบ่งบางๆ มากๆ อยู่ที่ว่าจะเอามาเป็นชนวนกันวันไหน เมื่อแต่ละฝ่ายลากไปกินแดนสถาบันเรื่อยๆ แล้วจะเกิดกระทบกระเทือนไปถึงถาบันตามลำดับ ผมอธิบายไว้ว่า เรื่องนี้จะกลายเป็นปัญหา ใครจะคิดหรือไม่ก็ตาม แต่ทั้งสองฝ่ายกำลังจะกลายเป็นชนวนนำสู่ความขัดแย้งขึ้นใหม่"

ส่วนการทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นั้น นายจตุพร หวังว่า จะทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา แม้ตนไม่เคยปรารถนาให้มียุบพรรคและไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศนี้ด้วย แต่เมื่อกติกาดำรงอยู่ในการบังคับใช้กับการเลือกตั้ง ดังนั้น จึงต้องดำเนินการไปตามเนื้อผ้าหรือข้อเท็จจริง ถ้าทำผิดกติกากรรมการมีสิทธิแจกใบเหลืองหรือแดงได้ ถ้ากรรมการไม่ทำหน้าที่จะกลายเป็นปัญหาใหญ่เช่นกัน

"ถ้าบอกว่าแข่งขันให้จบก่อน ค่อยว่ากันที่หลัง หรือรับรองไปก่อนสอยที่หลัง จึงเป็นหลักคิดที่เป็นปัญหาใหญ่ของ กกต.มาตลอด และการเลือกตั้งคนจึงสงสัย กกต.มากที่สุดกับการปล่อยไปก่อนเพื่อหวังในสิ่งใดหรือไม่ ผมไม่ได้กล่าวหา แต่คนสงสัย"

นายจตุพร เสนอว่า ถ้ามีความผิดใดๆ เกิดขึ้นต้องจัดการ อย่าไปกลั่นแกล้ง ต้องว่ากันตามถูกและผิด แต่หากไม่ผิดก็ต้องปล่อยตัวไปเป็น ส.ส. ถ้ายึดหลักเพียงปล่อยไปก่อนสอยทีหลังย่อมไม่เกิดผลดีกับฝ่ายใดเลย เท่ากับปล่อยให้มีโอกาสไปปกครองบ้านเมืองก่อน ซึ่งจะเกิดความเสียใหญ่ได้

อีกทั้ง เห็นว่า ในเรื่องแจกเงินดิจิทัล หาก กกต.เห็นว่า พรรคเพื่อไทยทำได้ ก็ต้องบอกเลยทำได้ แต่ถ้าบอกว่าเป็นการกระทำความผิดโดยสอบถามธนาคารแห่งประเทศไทย หรือธนาคารชาติแล้ว ถ้าทำไม่ได้ต้องชี้เด็ดขาดว่าทำไม่ได้ พร้อมกำหนดมาตรการลงโทษตามกฎหมายอย่างไรก็ว่ากันไปตามเนื้อผ้า ส่วนพรรคการเมืองอื่นๆ มีความบกพร่องในการเสนอนโยบายอย่างไรก็ตามชี้ให้ชัด ก่อนที่ประชาชนจะไปเลือก

สิ่งสำคัญ ย้ำว่า เงินดิจิทัลยังมีข้อสงสัยในการแจกให้คนรวยที่มีสิทธิเลือกตั้ง 100% แล้วหลักการแบบนี้สามารถใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งได้หรือไม่ และเป็นโยบายในการหาเสียงได้หรือไม่ ยิ่งอดีตผู้ว่าธนาคารชาติ และผู้ว่าธนาคารชาติคนปัจจุบันไม่มีใครเห็นด้วยสักคน แต่เมื่อชี้แจงต่อ กกต.นั้นต้องเอาข้อกฎหมายมายืนยัน และผลลัพธ์จะนำไปสู่อะไรก็ตามเป็นเรื่องทุกฝ่ายต้องยอมรับกัน

"กรณีนี้ (แจกเงินดิจิทัล) มีผลต่ออนาคต เป็นสิทธิของประชาชนต้องรู้ว่า ทำได้หรือไม่ ถ้าทำได้บ้านเมืองนี้ก็ไม่มีอะไรเหลือ ต่อไปเลือกตั้งครั้งหน้าก็แจกสองหมื่นหรือเกทับกันเป็นสาม สี่หมื่น มันขึ้นราคาโดยไม่ต้องใช้เงินตัวเองมาแลกคะแนนเสียง บ้านเมืองจะอยู่ในสภาพที่หนักกว่านี้”

นายจตุพร กล่าวว่า การเลือกตั้งเป็นเพียงหนทางไปสู่อำนาจ แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย และการเลือกตั้งครั้งนี้เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ที่เราไม่เคยมีประชาธิปไตยจริง หรือมีเผด็จการจริง แต่ที่เป็นจริงคือ เป็นการเปลี่ยนคนเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ของชาติเท่านั้น ดังนั้น เราจึงต้องเริ่มมานับหนึ่งประเทศไทยกันสักที

พร้อม ระบุว่า ที่ผ่านมา คนไทยมักคิดเหมือนกับ กกต. คือ ปล่อยไปก่อนสอยที่หลัง ทั้งที่ต้องระงับยับยั้งเบื้องต้น เพื่อป้องกันความฉิบหายใหญ่หลวงไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคต แต่การอ้างกลัวกระทบเศรษฐกิจโดยรวม จึงทำให้เกิดบรรยากาศหายนะขึ้นจากการปล่อยปละละเลยด้วยข้ออ้างสารพัดนั้น

รวมทั้ง เห็นว่า ปัญหาใหญ่ขณะนี้ คือ ความเหลื่อมล้ำที่ไม่มีการแก้ไขได้ เอาแต่พูดให้สวยหรูเท่านั้น สำหรับค่าไฟฟ้่าต้องตรวจสอบอย่างจริงจังว่า ราคาจริงๆ ควรอยู่ที่เท่าใด และสัญญาที่รัฐไปทำกับเอกชนที่เกิดความเสียหายมีอะไรบ้าง ซึ่งต้องแก้ไขและยกเลิกสัญญา เพื่อระงับความเสียหายมาสู่ประชาชนต้องทนทุกข์ เดือดร้อนเท่าทวีไปอีก

"ในวันนี้ ปล่อยให้คนไทยมาจ่ายเงินให้กับการได้ประโยชน์ของกลุ่มทุนที่เป็นพวกฉลาดแกมโกงกัน เมื่อไฟฟ้ามีกำลังการผลิต 5,400 เมกะวัตต์ แต่ใช้ไป 1,300 เมกะวัตต์ ที่เหลือให้คนไทยจ่ายฟรี แล้วทำไมคนไทยต้องมีหน้าที่อย่างนี้ด้วย คนไทยต้องไปรับกรรมจากการเห็นแก่ได้ ซึ่งผมไม่เชื่อว่า เป็นความโง่ แต่่เป็นผลประโยชน์ที่แต่ละคนได้รับ แล้วคนไทยต้องแบกรับภาระถึงปัจจุบันนี้”

นายจตุพร กล่าวว่า รัฐได้ยกกำลังการลิตให้เอกชนเกินจำนวนที่เป็นอยู่กว่า 20,000 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นปัญหาที่ประชาขนต้องแบกรับจ่ายค่าไฟ โดยเอกชนโรงงานไฟฟ้าได้สูบกินเปล่าๆ ไม่ได้เดินเครื่องผลิตกำลังไฟฟ้าด้วยซ้ำ เท่ากับคนหาเช้ากินค่ำมีความยากลำบาก แต่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าไปสร้างกำไรกินเปล่าให้เอกชน

"วิธีการแก้ปัญหาของรัฐเพื่อช่วยลดความเดือดร้อนของประชาชน ก็นำงบประมาณแผ่นดินไปจ่ายให้เอกชนผู้ผลิตกำลังไฟฟ้าทิพย์ ได้กำไรกินเปล่า ดังนั้น เรื่องค่าไฟฟ้าแค่นำสัญญามาวางบนโต๊ะให้คณะกรรมการอิสระไต่สวน ตรวจสอบก็จบแล้ว และยังรู้ความเป็นมาตั้งแต่ต้นด้วย"

นายจตุพร เห็นว่า ขณะนี้พรรคการเมืองได้แต่เรียกร้องให้ลดค่าไฟฟ้าทันที่ แต่กลับไม่มีวิธีการว่าจะจัดการขบวนการปล้นชาติ ปล้นแผ่นดินอย่างไร จะกระชากหน้ากลุ่มคนกำหนดราคาแล้วให้ประชาชนเป็นผู้จ่ายกันได้อย่างไร ซึ่งเรื่องแก๊ส น้ำมันก็เช่นกัน ล้วนเป็นปัญหาท่วมปาก โดยประเทศไม่ควรอยู่ในสภาพแบบนี้ด้วยซ้ำไป

นอกจากนี้ กล่าวว่า ทรัพยากรไทยมีมากมาย หากไม่จัดการกันดีๆแล้ว จะถูกปู้ยี่ปู้ยำอีก ยิ่งแร่โปแตซที่ทำเหมืองกันขณะนี้ สุดท้ายคนไทยจะไม่ได้อะไรอีก ดังนั้น อะรที่ไม่เป็นธรรมทั้งเรื่องราคาผลผลิตการเกษตร การสื่อสาร และน้ำเมาก็ตาม ต้องควรดำเนินกิจการด้วยความเป็นธรรมกับประชาชนและประเทศชาติด้วย เพราะข้อเท็จจริงอยู่ที่ราคาที่ประชาชนควรบริโภคต้องเป็นเท่าไร จึงต้องกางความจริงกันออกมา

"ดังนั้น ภาระหน้าที่ของประชาชนต้องจัดการให้รัฐกล้าสู้กับทุน โดยไปจัดการให้ทุนได้กำไรในส่วนที่พึ่งจะได้ แต่ไม่ใช่การได้กำไรเกินควร เพราะเป็นภาระของประชาชน"

นายจตุพร กล่าวว่า การเมืองที่ควรพึงหวังต้องเป็นลักษณะการจัดการทรัยพยากรของชาติที่มีจำนวนมากให้ถูกต้องเป็นธรรม สิ้นสงสัยกันสักที เพื่อเริ่มต้นประเทศกันใหม่ แต่เมื่อทุกอย่างต่างกอบโกยเอาประโยชน์ แล้วคนส่วนใหญ่ และชาติบ้านเมืองเสียประโยชน์ จึงเริ่มต้นอะไรไม่ได้เลย และการกอบโกยผลประโยชน์จากการผูกขาดทรัพยากรชาตินั้นจะเป็นชนวนความเหลื่อมล้ำ และก่อความขัดแย้งใหม่

“อีกทั้งการแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาท ให้คนรวยเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเห็นแก่ตัวมากขึ้น ทั้งที่ไม่ใช่เงินส่วนตัว แต่เป็นงบประมาณแผ่นดิน ดังนั้น จึงต้องการให้เริ่มต้นประเทศนี้ ด้วยการเลือกตั้งครั้งนี้ แบบผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูกแล้ว เราจะได้รัฐบาลที่ประชาชนมีความเข้มข้นขึ้น หากทุกอย่างกลายเป็นปัญหาหมดแล้ว คงได้เวลาเข้าทางประชาชนสักครั้ง แล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง”