สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม  วัชรประดิษฐ์

“พระร่วงกรุวัดปู่บัว” พระกรุเก่าแก่พิมพ์หนึ่งของสุพรรณบุรี ซึ่งนอกจากจะล้ำเลิศด้านพุทธคุณด้านคงกระพันชาตรีเช่นเดียวกับพระพิมพ์พระร่วงทุกพิมพ์แล้ว  ความงดงามทางพุทธลักษณะก็เป็นเลิศเป็นที่ถูกตาต้องใจสำหรับนักนิยมสะสมยิ่งนัก ประการสำคัญเป็นพระร่วงกรุแรกที่มีการค้นพบในสุพรรณบุรีอีกด้วย แต่มีจำนวนน้อยมาก

วัดปู่บัวอยู่ที่ตำบลพิหารแดง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี พระร่วงกรุวัดปู่บัว มีการขุดค้นพบโดยบังเอิญในคราวที่ท่านเจ้าอาวาสวัดต้องการเคลียร์พื้นที่เพื่อทำทางเดินไปสู่ศาลาการเปรียญ เมื่อปี พ.ศ.2476 พบบรรจุอยู่ในไหซึ่งปกปิดด้วยพระพุทธรูปหินทรายปางนาคปรกที่วางเรียงล้อมรอบอย่างเป็นระเบียบจากใหญ่มาเล็กรวมจำนวน 32 องค์ ต่อมากระจัดกระจายไปยังผู้หลักผู้ใหญ่ในสมัยนั้น ปัจจุบันเท่าที่สามารถพบเห็นได้คือ ที่พิพิธภัณฑ์อู่ทอง 1 องค์ และที่วัดปู่บัวอีก 2 องค์เท่านั้น ส่วน “พระร่วง” ที่พบในไหมีประมาณ 130 องค์ นอกจากนี้ ยังพบลานทองจารึกข้อความว่า

“ศรีสวัสติ หริภุญเชยย ชาเตน มาตาเสฏโฐ อนุตตโร ปิตา ตเร นาเมน อยยิก ปิตา ญาณเทพ ปิตา (ห.ร.ล.) มหึสูโร โสวณภูมึ ตุรคสส วสเส เอกาทสส รวิทิวเส เวสาขยมเส สูลปกขิเตน สิริโสต ถิวํส โภชนวํส ชาสํสฐาปิโต ชินวรํ นครสส”

แปลโดยสรุปใจความได้ว่า ญาณเทพแห่งเมืองหริภุญชัย ร่วมกันสร้างพระพุทธรูปนี้ไว้ที่สุวรรณภูมิ (ซึ่งก็คือสุพรรณบุรี)

พระร่วงกรุวัดปู่บัว มีความสูงประมาณ 7 ซ.ม. กว้าง 2-2.5 ซ.ม. พุทธศิลปะเป็นแบบศิลปะลพบุรี องค์พระประธานประทับยืน แสดงปางประทานพร คือ พระหัตถ์ขวายกขึ้นประทับที่พระอุระ ส่วนพระหัตถ์ซ้ายปล่อยลงมาโดยหันฝ่าพระหัตถ์ออก พระบาททั้งสองข้างยื่นออกมาเล็กน้อย ยอดพระโมลีคล้ายฝาละมี พระศกเป็นเส้นแบบ “ผมหวี” พระเนตรโปน พระขนงเกือบเป็นเส้นตรงคล้าย “นกบิน” สามารถแบ่งพิมพ์ตามเอกลักษณ์เฉพาะได้ทั้งหมด 4 พิมพ์ คือ พิมพ์เศียรโต พิมพ์รัศมี พิมพ์เนตรโปน และพิมพ์เล็ก

ถึงแม้จะเป็นพระเนื้อชินตะกั่ว แต่สันนิษฐานว่าน่าจะมีส่วนผสมของ “ปรอท” อยู่ด้วย เพราะเมื่อองค์พระเนื้อชินผ่านกาลเวลายาวนาน จะเกิดสนิมตามหลักการพิจารณาพระเนื้อชินซึ่งเคยเล่ากล่าวไปแล้ว สนิมที่เกิดจากโลหะแต่ละชนิดจะไม่เหมือนกัน เช่น ถ้าเป็นทองแดงสนิมจะออกเป็นสีเขียว สังกะสีสนิมจะเป็นสีขาว ส่วนตะกั่วสนิมจะเป็นสีดำ แต่ พระร่วงกรุวัดปู่บัวจะเกิดเป็น “สนิมแดง”ด้วย จึงน่าจะมีส่วนผสมของปรอทปนอยู่ และกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่งดงามหรือภาษาในวงการเรียกกันว่า “สนิมแดงซึ้ง” คือความแดงของสนิมค่อนข้างจะออกแดงคล้ำหรือแดงเลือดนก มีสนิมไขขาวเคลือบอยู่ด้านนอกเหมือนสนิมแดงพระร่วงกรุอื่นๆ สำหรับการพิจารณา “สนิมแดง” นั้น ถ้าเป็นของเก่าแก่จะเกิดมาจากเนื้อในเกาะติดแน่น มีลักษณะเก่าและแห้ง ถ้าเอาสำลีมาเช็ดออกเบาๆ จะเกิดความเงาวาวขึ้นทันที นอกจากนี้ สนิมแดงส่วนใหญ่จะปรากฏรอยแตกปริเป็นเส้น ซึ่งจะทำให้สังเกตง่ายขึ้นเพราะปลอมแปลงไม่ได้

ด้านพุทธคุณนอกจากจะล้ำเลิศด้านคงกระพันชาตรีเช่นเดียวกับพระพิมพ์พระร่วงทุกพิมพ์แล้ว  ความงดงามทางพุทธลักษณะก็เป็นเลิศ ประการสำคัญเป็นพระร่วงกรุแรกที่มีการค้นพบในสุพรรณบุรีอีกด้วย ปัจจุบันพระร่วงกรุวัดปู่บัวนั้นหาของแท้ๆ ยากแล้วครับ ที่ทำปลอมเลียนแบบก็มีมาก ฝีมือหลากหลายจัดจ้าน เวลาเช่าหาก็ควรพิจารณาให้ดีๆ ถ้ามีอะไรผิดพลาดก็จะได้ไม่เสียใจภายหลังครับผม

​​​​​​​