เมื่อวันที่ 1 พ.ค.66 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมนายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี รักษาการ หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวง อว.ประชุมแนวทางการผลิตกำลังคนขั้นสูงเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรม BCG ร่วมกับ ผศ.ดร.บุญสิทธิ์ ไชยชนะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ(มรภ.) ยะลา และผู้บริหาร มรภ.ยะลา ในโอกาสนี้ มรภ.ยะลาได้นำเสนอผลการดำเนินโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG) ที่ขับเคลื่อนด้วย อว.ส่วนหน้า จ.ยะลา ในการดำเนินการของ 3 มหาวิทยาลัย คือ มรภ.ยะลา วชช.ยะลา และมหาวิทยาลัยสวขลานครินทร์( มอ.) รับผิดชอบรวมทั้งสิ้น 64 ตำบล ใน จ.ปัตตานี จ. ยะลา และ จ.นราธิวาส โดยเน้นเรื่อง อาหารและเครื่องดื่มเป็นส่วนใหญ่ รองมาเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ของใช้ และสมุนไพร เนื่องจากใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความอุดมสมบูรณ์ด้านการเกษตร และโดดเด่นในการให้บริการ เช่น การท่องเที่ยว โรงแรม ที่ผ่านมามีการจ้างงานจำนวน 561 อัตรา เกิดการบูรณาการหน่วยงานในมหาวิทยาลัย และเก็บข้อมูลรายตำบล เรื่อง แหล่งท่องเที่ยว ที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร และได้ทำการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ 10 ผลิตภัณฑ์ เพื่อไปพัฒนาต่อทางด้านการตลาด โดยจำหน่ายทั้ง off line และ on line เกิดรายได้เพิ่มขึ้นในพื้นที่ถึง 67.24% แต่ทั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยต้องการการสนับสนุนเชิงนโยบายที่จะขับเคลื่อนโครงการนี้ไปสู่การแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะจากการทำงานที่ผ่านมา ได้นำ BCG มาใช้เพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร เช่น นำส้มโชกุลมาทำแยม ในช่วงโควิดคือตอบโจทย์มาก สามารถแก้ไขปัญหาปากท้องของชาวบ้านได้ ในพื้นที่อัยเยอร์เวง ก็ได้ส่งเสริมการทำข้าวเกรียบ และด้านการท่องเที่ยว ทะเลหมอก ทำให้ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ทำให้ลดปัญหาความขัดแย้งลงได้ จึงอยากให้ขับเคลื่อนเรื่องนี้ในเชิงนโยบาย ภายใต้โครงการนี้ต่อไปและทำต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย และได้มอบนโยบายให้กับ มรภ.ยะลา ว่า ต้องเน้นเรื่องการปฎิรูปอุดมศึกษาที่ทำให้เห็นว่า สถาบันอุดมศึกษาที่ทำให้คนเรียนมีอาชีพ คือดีที่สุด ไม่สำคัญว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยประเภทใด หรือสอนในระดับไหน การทำวิจัยก็ไม่จำเป็นต้องลงลึกแบบมหาวิทยาลัยวิจัยเสมอไป แต่ควรให้ความสำคัญกับการวิจัยที่ได้ช่วยพัฒนาจังหวัดและพื้นที่ มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวเป็นหน่วยพัฒนา เป็นมือเป็นไม้ให้จังหวัด หลักสูตรก็ต้องริเริ่มคิดจากผู้บริหารระดับสูง เช่น อธิการบดี รองอธิการบดี หรือสภามหาลัย แล้วไปหารือกับสาขาวิชาเพื่อพัฒนาต่อ ผู้บริหารต้องเป็น think tank ที่สำคัญ อย่างเช่น เรื่องโรงแรมต้องทำกับระดับแนวหน้า เช่น โรงแรม Pullman แล้วต้องให้อาจารย์ของเราเข้าไปร่วมเพื่อได้พัฒนาตนเองด้วย หลักสูตรในยุคนี้ควรลดเวลาเรียน อย่าขังเด็กให้อยู่ในมหาวิทยาลัยนานเกินไป sandbox ก็เป็นอีกช่องทาง เพราะประเทศยังขาดแรงงาน เราอาจต้องผลิต ป.ตรีแค่ 3 ปี แต่ทำยังไงให้คงไว้ด้วยคุณภาพ ก็คือต้องปฏิบัติให้มากๆ เน้นหลักสูตรระยะสั้น non degree ให้เหมาะกับพื้นที่ ให้คนในพื้นที่ได้มีงานทำ มีกิจกรรมที่ก่อเกิดรายได้ เช่น เลี้ยงไก่เบตง เลี้ยงผึ้งชันโรง เป็นต้น 

“อยากให้มหาวิทยาลัยช่วยคิด รวมถึงเรื่องการขอตำแหน่งทางวิชาการ 5 ช่องทางใหม่ เช่น ด้านการสอน มีอาจารย์ท่านไหนสอนเก่ง สอนเป็นเลิศ ให้รีบทำ และขอฝากเรื่องธัชภูมิด้วย ที่ทำร่วมกับ บพท. เป็นตัวเร่งและหนุนเสริมให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ อยากให้มหาวิทยาลัยสนใจ และทำอะไรก็ให้เห็นว่าเป็นโอกาส อย่าเห็นแต่ปัญหา อย่าท้อแท้ จ.ยะลาเป็นสังคมมุสลิมที่น่าอยู่ มีอาหารอร่อย และอยู่ร่วมกันได้ในความต่างศาสนา ลองช่วยกันคิดทำอย่างไรให้ 3 จังหวัดชายแดนให้เป็นโมเดลชุมชนมุสลิมที่ปรับตัวในโลกสมัยใหม่ได้ ซึ่งเราอาจต้องหาพันธมิตรมาช่วยในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยที่แข็งแกร่งกว่า หรือหน่วยงานในกระทรวง เช่น สวทช. วว. หรืออาจจะเป็นต่างประเทศ โดยเฉพาะมาเลเซียที่มีวัฒนธรรมมุสลิมที่เป็นแก่นของ Southeast Asia มาร่วมกันทำงาน ชวนคนที่รู้เรื่องภูมิศาสตร์ ธรรมชาติ หรืออินฟลูเอนเซอร์มาท่องเที่ยวฟรีเพื่อโปรโมทเบตงดึงคนมาท่องเที่ยวให้มากขึ้น” รมว.อว.กล่าว