สัปดาห์วิจารณ์/W7006(คอลัมน์ สะพายกล้องท่องโลก) ความทรงจำใต้เบื้องพระยุคลบาท (1) วาทินี ห้วยแสน [email protected] เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นหาที่สุดมิได้ และร่วมถวายความอาลัยในการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทาง คอลัมน์ สะพายกล้องท่องโลก จึงขอน้อมนำเรื่องราวความทรงจำเมื่อครั้งตามรอยพระยุคลบาทไปยังประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มาเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความจงรักภักดี ผ่านพระบารมีของพระองค์ท่าน พระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของเมืองไทย และเป็นพระราชาของคนทั้งโลก ที่ทุกคนให้ความเคารพ และเทิดทูนอยู่เหนือเกล้าอย่างที่ไม่มีสิ่งใดมาเสมอเหมือน ภาพประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ ย้อนไปที่ภาพของมหาชนที่พร้อมใจกันใส่เสื้อเหลืองเต็มลานพระที่นั่งดุสิต หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า ลานพระบรมรูปทรงม้าเต็มตลอดถนนราชดำเนินนอกสุดสายตา ในวันที่ 9 มิถุนายน 2549 นับเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ และน่าจะเป็นหนึ่งเดียวในโลกที่ประชาชนพร้อมใจกันทุกหมู่เหล่าด้วยใจบริสุทธิ์ เพื่อแสดงความจงรักภักดีที่มีต่อองค์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯในโอกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี แม้จะต้องจับจองที่นั่งข้ามคืน ก่อนที่จะนั่งรอเป็นชั่วโมงท่ามกลางแดดแผดเผาไปทั้งกายและรู้ดีว่าอาจจะไม่มีโอกาสมองเห็นพระองค์ที่เสด็จออกมา ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคมที่ประทับไกลลิบๆ ออกไป แต่มหาชนในวันนั้นก็ไม่ล่าถอย เพราะทุกคนเต็มใจที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ที่ทั่วโลกจะต้องจารึก ไว้ว่าประชาชนของพระองค์มีความจงรักภักดี และรักพระองค์ท่านมากเพียงใด นั้นเป็นเพราะในช่วง 60 ปีอันยาวนาน องค์พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์นี้ไม่เคยว่างเว้นจากพระราชกรณียกิจแม้แต่วันเดียว แม้สายฝนจะโปรยปราย หรือแสงแดดจะแผดร้อน พระองค์ท่านยังทรงเสด็จไปทุก ๆ แห่งในประเทศไทย ทั้งใกล้ ไกล หรือบนภูเขาสูงเสียดฟ้าสักปานใด ประชาชนคนไทยทุกหมู่เหล่าก็สามารถเห็นพระองค์ท่านได้ทุกเวลา โดยเฉพาะภาพที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินขึ้นภูเขาหลายๆ ลูกเพื่อเยี่ยมพสกนิกรของพระองค์ท่านที่ทุกคนในประเทศเห็นจนชินตานั้น หลายๆ คนอาจจะสงสัยเฉกเช่นเดียวกับสื่อมวลชนต่างประเทศท่านหนึ่งได้เคยทูลถามพระองค์ท่านถึงกลวิธีการเดินขึ้นภูเขาอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย และกระฉับกระเฉงตามแบบอย่างที่พระองค์ท่านทรงปฏิบัติมาโดยตลอดระยะเวลาที่ครองราชย์ ว่า พระองค์ทำได้อย่างไร ??? เสด็จพระดำเนินตามพระราชมารดา แม้ว่าในคำบอกเล่าต่อๆ กันมานั้นอาจจะไม่มีคำตอบที่พระองค์ท่านได้ทรงประทานไว้ แต่ถ้าพวกเราสามารถย้อนอดีตกลับไปในช่วงที่พระองค์ทรงพระเยาว์ ซึ่งต้องเสด็จพระดำเนินตามพระราชมารดา พระเชษฐา และพระภคินีไปพำนักไกลถึงเมืองโลซาน ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ก็จะทำให้ใครหลายๆ คนอดที่จะทึ่ง และยิ่งเพิ่มความจงรักภักดีที่มีต่อพระองค์ท่านอีกนานัปการ หลายๆ คนอาจจะรู้จักประเทศนี้ผ่านทางภาพยนตร์ส่วนพระองค์ที่ฉายให้ดูในช่วงวันสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ท่านในบางห้วงเวลาที่ผ่านๆ มาหลายเหตุการณ์ นั้นเป็นเพราะพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ของพวกเราท่านทรงใช้เวลาอยู่ที่นั้นเป็นเวลากว่า 18 ปี เพราะฉะนั้นจึงทรงคุ้นเคย เป็นอย่างดี ทั้งก่อนหน้าราชาภิเษกขึ้นครองราชย์สมบัติ หรือหลัง แม้กระทั่งในช่วงทรงมีความรัก หรือการนำเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทุกพระองค์ประพาสเมืองหลายเมืองในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ล้วนแล้วแต่เป็นการบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ที่พระองค์ทรงผูกพันนั้นเอง ฉะนั้นเมื่อได้เป็นหนึ่งในคณะเดินทาง เพื่อตามรอยพระยุคลบาทของพระองค์ท่านไปไกลถึงประเทศสวิสเซอร์แลนด์ จึงเป็นเหมือนบุญหล่นทับ เเพราะในช่วงเวลาที่ผ่านมาเพียงเห็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่พระองค์ทรงสูทแบบเรียบง่าย สะพายกล้องที่พระศอ ขณะที่พระหัตถ์เต็มไปด้วยเอกสาร โดยพระวรกายโน้มไปหาประชาชน เพื่อทรงสอบถามทุกข์สุข และปรึกษาปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น และมักจะประทับบนพื้นเดียวกับประชาชนอยู่เสมอนั้น ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ฉันเลือกใช้ชีวิตตามรอยพระยุคลบาทของพระองค์ท่านมาโดยตลอด ในความรู้สึกยามที่บินลัดฟ้าข้ามขอบโลกซึ่งต้องใช้เวลากว่า 10 ชั่วโมง เพื่อมุ่งหน้าสู่เมืองซูริค ประเทศสวิสเซอร์แลนด์เต็มไปด้วยความตื่นเต้น เพราะนอกจากความสวยงามที่กระจรกระจายไปทั่วโลก แล้ว ประเทศนี้ยังมีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทยอย่างยิ่งยวด นั้นก็คือ เป็นสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯได้เจริญพระชันษา และเจริญพระจริวัตรได้อย่างงดงาม ทันใดที่เครื่องบินร่อนลงจอดท่าอากาศยานของเมืองซูริคในช่วงสายๆ ของอีกวัน ตัวฉันก็รับรู้ถึงความหนาวเย็นที่เกาะตามกระจกใสๆ จนอดใจไม่ไหวที่จะดึงเสื้อแจ็กเก็ตแบบบางๆ ในเป้ใบเล็กมาสวมทับอีกหนึ่งตัว ก่อนที่จะเดินออกไปพร้อมกับคณะที่ร่วมเดินทางตามรอยพระยุคลบาทในครั้งนี้กว่าสามสิบชีวิต!!! วันที่ไปถึงคือ 1 มิถุนายน ซึ่งทุกๆ ปีจะเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูร้อนอย่างเป็นทางการของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ แต่ในวันนี้ที่สนามบินซูริคกลับหนาวเย็น แม้แต่คนในพื้นที่ยังสวมเสื้อหนาๆ ถึงจะมีแสงแดดสาดส่องช่วยเพิ่มบรรยากาศรอบข้างให้ดูสดใสขึ้น แต่ก็ไม่ได้ช่วยลดความหนาวลงได้สักเท่าไร แต่กระนั้นหนทางข้างหน้าก็ไม่ได้เลวร้ายไปเสียทั้งหมด เพราะทิวทัศน์รอบๆ ข้างระหว่างเดินทางทั้งดอกไม้ใบหญ้าริมถนนยังมีให้เห็นทั่วไป ขณะที่ลำธารเขียวนวลใสไหลคล่องคล้ายฤดูน้ำหลากแถวบ้านเรานั้นก็มีประตูกั้นน้ำอย่างเป็นระบบดูเป็นระเบียบเรียบร้อยจนน่าอิจฉา เพียงอึดใจเดียวก็มาถึงโรงแรมสวิสโฮเต็ลแม้จะออกนอกเมืองมาสักหน่อย แต่ก็ไม่ไกลจากแหล่งช๊อปปิ้งสถานที่ที่นักท่องเที่ยวคนไทยนิยม และชื่นชอบนักหนา ดังนั้นเมื่อทุกคนได้รับกุญแจที่พักกันเรียบร้อย ก็ไม่รอช้าที่จะรีบนำสัมภาระที่ประกอบด้วยกระเป๋าเดินทางใบเขื่องหนึ่งใบ พร้อมเป้สะพายหลังอีกหนึ่งใบเล็ก ล้างหน้าล้างตาและสลัดเนื้อตัวขจัดความเมื่อยล้า ก่อนที่จะเปลี่ยนเสื้อผ้าเพื่อเตรียมเดินทางเข้าเมืองซูริคอีกครั้ง ซึ่งการใช้เวลาช่วงบ่ายเดินเที่ยวชมเมืองซูริคดูจะเป็นเรื่องหนักหนาสำหรับใครหลายๆ คนที่ไม่คุ้นชินกับเวลาที่เปลี่ยนไป ดังนั้นจึงเป็นเรื่องไม่น่าแปลกนักถ้าจะเห็นบางคนในกลุ่มเริ่มหาวหวอดๆ เพราะนอกจากจะเพลียกับการเดินทางอย่างยาวนานแล้ว เวลาที่ห่างกันเกือบ 6 ชั่วโมงก็ดูจะเป็นอุปสรรคการกับเดินชมความสวยงามในเมืองแห่งนี้มิใช่น้อย เมืองร่ำรวยแต่คนใช้ชีวิตเรียบง่าย "ซูริค"ในวันนี้ยังคงความมีเสน่ห์ของเมืองที่รุ่มรวยเงินทอง เพราะมีธนาคารแห่งชาติ ซึ่งเป็นธนาคารกลางของโลกที่รับฝากเงินจากมหาเศรษฐีทั่วโลกเกือบสองพันธนาคารด้วยเหตุนี้ถนนแทบทุกสายของเมืองแห่งนี้จึงคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศ บางคนอาจจะเดินทางเพื่อทำการค้า แต่บางคนอาจจะแวะพักผ่อน ก่อนที่เดินทางไปเที่ยวต่อยังเมืองต่างๆ ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ที่ยังคงเอกลักษณ์ในภูมิประเทศอันหลากหลาย ที่สามารถขายการท่องเที่ยวได้ทุกตำบลตลอดทั้งปี แต่อย่างไรก็ตามถ้าไม่นับเมืองใหญ่ๆ อย่างเมืองซูริค โลซาน เบิร์น ลูเซิร์น และเจนีวาที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว และคนต่างถิ่นที่เข้ามาแย่งงานกันทำเพิ่มขึ้นแล้วนั้นชาวสวิสที่อาศัยอยู่ในเมืองเล็กๆ เกือบทั้งหมดในประเทศ ยังคงดำเนินชีวิตไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องไม่แปลกถ้าหลายๆ คนในคณะเดินทางเมื่อได้สัมผัสกับชาวสวิสแท้ๆ ถึงกับเอ่ยปากว่า คนที่นี่เขารวยจริง แต่กลับอยู่กันอย่างเรียบง่าย ประหยัด ไม่หวือหวาฟุ่มเฟือย!!! ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าชาวสวิสมีมาตรฐานชีวิตที่เหมือนกัน เท่ากัน และมีฐานะพอๆ กัน โดยมีบรรพบุรุษเมื่อครั้งอดีตเป็นเพียงเกษตรกร แต่เนื่องด้วยประเทศนี้มีพลเมืองเพียง 7.4 ล้านคน ซึ่งเป็นอันดับที่ 94 ของโลก เพราะฉะนั้นจึงเป็นตัวประกอบให้ประเทศมีฐานะทางเศรษฐกิจอยู่ในอันดับที่ 20 ของโลก และมีสถานะทางการเงินอยู่ในอันดับที่ 6 ของโลกอย่างช่วยไม่ได้??? แม้ว่าจะต้องเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจรอบๆ ด้านเฉกเช่นเดียวกับประเทศใหญ่ๆ ทั่วโลก และดูทีท่าว่าจะยังไม่กระเตื้องภายในปีนี้ หรือปีหน้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าเงินที่อ่อนตัวลง หรือคนต่างถิ่นเข้ามาแย่งงานทำเพิ่มมากขึ้น แต่คนพื้นถิ่นชาวสวิสแท้ๆ ก็ยังยืนหยัด และปฏิบัติตนเหมือนเดิมอย่างที่เคยปฏิบัติมาหลายร้อยปี โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง สำหรับ "ถนนบาห์นฮอฟ"อยู่ใจกลางเมืองซูริคย่านเศรษฐกิจ เป็นสถานที่ไว้รอรับนักท่องเที่ยวจำพวกกระเป๋าหนักช๊อปปิ้ง แต่ในส่วนพลเมืองประชากรของเขา รัฐบาลของชาวสวิสก็ไม่ได้ละทิ้ง เพราะมี"โคออพ"สหกรณ์ของคนกระเป๋าเบาที่มีอยู่ทุกมุมเมือง และผู้เขียนเองก็ใช้สถานที่แห่งนี้จับจ่ายซื้อของฝากเพื่อนฝูงในเมืองไทยอย่างเมามันส์ เพราะถ้าเทียบราคากับร้านค้าทั่วไป ดูจะถูกกว่ากันเกินครึ่ง ยิ่งถ้าบวกลบคูณหารเป็นเงินไทยดูจะประหยัดเงินในกระเป๋าไปได้มากโขทีเดียว!!! พลบค่ำในวันนั้นเมื่อก้มดูนาฬิกาเข็มสั้น และเข็มยาวชี้บอกว่าเป็นเวลาทุ่มครึ่ง แต่เมื่อเงยหน้าขึ้นมองท้องฟ้าดูยังไง บรรยากาศก็เหมือนสี่โมงเย็น เพราะยังเห็นแสงแดดสาดส่องพอให้ร่างกายรับรู้ไอแดดเป็นระยะๆ ซึ่งถ้าคำนวณเป็นเวลาเมืองไทยดูจะดึกโขอยู่ ฉะนั้นบางคนเมื่อได้ที่นั่งบนเรือล่องทะเลสาบซูริค เพื่อชมทิวทัศน์สองข้างทาง พร้อมๆ กับรับประทานอาหารมื้อเย็น ก็ดูทีท่าว่าจะฟุบหลับคาโต๊ะเสียให้ได้ แต่อาจจะเป็นเพราะสังคมของชาวสวิสริมทะเลสาบซูริคได้ดึงดูดให้หลายคนต้องดึงตัวเองให้ออกจากภวังค์ เพื่อสัมผัสกับความงามดังกล่าว เพราะหลังจากได้ฟังราคาบ้านในบริเวณดังกล่าวที่สนนราคาตกหลังละประมาณร้อยล้านบาทเป็นอย่างต่ำ ทำให้ใครหลายๆ คนอยากจะเกิดเป็นคนสวิสเสียให้ได้ ซึ่งในเมืองอื่นๆ เช่นเมืองโลซาน ลูเซิร์น และเจนีวาก็จะมีบ้านในแบบเดียวกัน และระดับราคาก็ไม่แตกต่างกันมากนัก ซึ่งเรื่องราวของเมืองอื่นๆ คงต้องนำมาเล่าต่อในฉบับหน้า เพื่อร่วมน้อมเกล้าฯ ถวายอาลัยส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สู่สวรรคาลัย