ทุกภาพเหตุการณ์ ทุกความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในท่ามกลางความโศกเศร้า ของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ต่อการเสด็จสวรรคตของ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” ได้ถูกถ่ายทอดผ่าน “ภาพถ่าย” นับพัน นับหมื่นภาพ “สยามรัฐ” มีบทสัมภาษณ์เปิดใจคนทำงานในฐานะ “ช่างภาพ” ที่ได้มีโอกาสติดตามถ่ายภาพ เพื่อนำมาถ่ายทอดสู่สาธารณะ ต่างเคยได้ติดตามถ่ายภาพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในเหตุการณ์สำคัญๆ หลายต่อหลายครั้ง ในการปฏิบิหน้าที่ นับตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค.เป็นต้นมา แม้จะทำงานด้วยความรู้สึกเสียใจ เศร้าโศกแต่ทุกคนยังคงทุ่มเทต่อภารกิจแห่งความภาคภูมิใจอย่างเต็มความสามารถต่อไป สมบูรณ์ เกตุผึ้ง สมบูรณ์ เกตุผึ้ง สมบูรณ์ เกตุผึ้ง หรือ “น้าติ๋ม” อดีตหัวหน้าช่างภาพหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ซึ่งแม้วันนี้จะเกษียณไปแล้วหลายปี แต่ความทรงจำ ความประทับและความภาคภูมิใจ ที่ได้มีโอกาสได้ถ่ายภาพ ในหลวง รัชกาล ที่ 9 อย่างใกล้ชิด ยังคงชัดเจน ไม่ได้จางหายไปแต่อย่างใด “ในชีวิตการทำงานช่างภาพกว่า 40 ปีที่ผ่านมา เริ่มแรกที่เราได้มีโอกาสตามเสด็จพระองค์ท่าน ตามงานต่างๆ เช่น เมื่อก่อนท่านจะเสด็จฯไปโรงหนัง ทอดพระเนตรภาพยนตร์ที่โรงหนังเฉลิมไทยมีประชาชนเข้าเฝ้าฯ จำนวนมาก พระองค์ก็ไม่เคยถือพระองค์เลย อารมณ์ดีมาก ๆ แต่มีอยู่เหตุการณ์ที่เราซาบซึ้งมาก เมื่อครั้งที่ได้ติดตามไปถ่ายภาพของพระองค์ ตอนที่ทรงเรือใบ ที่พระราชวังไกลกังวล ช่างภาพก็จะหาโรงแรมนอนกันที่หัวหิน เมื่อก่อนมีช่างภาพที่ติดตามเสด็จฯไปไม่กี่คน มีอยู่วันหนึ่ง เมื่อพระองค์เล่นเรือใบเสร็จท่านก็ขึ้นมาจากทะเล เพื่อที่จะเสวยกลางวัน ช่างภาพก็พากันทำความเคารพ และเตรียมที่จะเดินออกจากพระราชวัง พระองค์หันมาเห็นก็ให้สมุหราชองครักษ์ มาถามพวกเราว่าจะไปไหนกัน เราก็บอกว่าจะออกไปรับประทานอาหารกันข้างนอก พระองค์ก็มีรับสั่งผ่านสมุหราชองครักษ์ ว่า เมื่อทุกคนอยู่ในวัง ก็ต้องทานข้าวในวัง ก็เลยพระราชทานเลี้ยงช่างภาพ ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่พวกเราอย่างมาก ในเรื่องของการเล่นเรือใบ นั้นบางปีพระองค์ทรงเล่นเรือใบ ข้ามอ่าวมาจากพัทยา มาที่หัวหิน บางครั้งถึงมืดค่ำ ไม่มีลมเลย ต้องมีเรือของทหารเรือไปลากเรือกลับเข้าวัง เพราะเป็นเวลาที่ค่อนข้างดึกแล้ว พระองค์มีความมานะ พยายามอย่างมาก มุ่งมั่นมาก ฝึกซ้อมทุกอาทิตย์เวลาที่พระองค์ชนะการแข่งขันเรือใบ ท่านก็ได้ถ้วยรางวัลที่ชนะเลิศ จากสมเด็จพระราชินี แล้วท่านก็เอาเบียร์ใส่จนเต็มถ้วย จากนั้นทรงเสวยก่อนพระองค์แรก ก่อนที่จะส่งต่อๆมาให้ทุกคน ท่านไม่ถือพระองค์เลย มีอยู่ครั้งหนึ่งเราได้ตามเสด็จพระองค์ไปที่บริเวณก่อสร้างเขื่อนขุนด่านปราการชล ที่นครนายก ท่านก็เดิน อยู่บนเนินสูง พวกเราก็ถ่ายภาพท่าน พอท่านหันมาเห็นว่าช่างภาพกำลังถ่ายรูป ท่านก็เลยคว้ากล้องที่คล้องพระศอ ขึ้นมาถ่ายภาพช่างภาพ พวกเราก็ดีใจมากพากันล้มลงกราบ ท่านก็ยิ้มให้แล้วก็เดินไป ทรงมีพระอารมณ์ขัน เมื่อวันที่ 13 ต.ค.เรานั่งดูข่าวที่บ้านพัก พอมีแถลงการณ์จากสำนักพระราชวัง พอเราได้ยิน เราก็ตกใจมากไม่คิดว่าจะเป็นพระองค์ท่านเลย วันนั้นเราเสียใจมาก รู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันหายไปหมดแล้ว นั่งดูแถลงการณ์ไปน้ำตาก็ไหลไปเอง ในอารมณ์ของช่างภาพอย่างเรา ก็ถือว่าได้ใกล้ชิด เราได้เห็นว่าพระองค์ทรงชอบกล้องมาก ไปไหนก็ต้องมีกล้องมาก ท่านทรงชอบกล้อง Leica มาต่อมาก็ทรงใช้ Cannon ไปไหนไม่มีขาด ซึ่งขณะนั้นLeicaป็นกล้องที่ราคาสูงมาก และมีคุณภาพมาก สำหรับงานสุดท้ายที่ผมได้มีโอกาสถ่ายภาพก่อนที่จะเกษียณจากงานคือการได้ถ่ายภาพเมื่อครั้งที่พระองค์ ทรงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชแล้ว เราก็หวังมาตลอดว่าพระองค์จะทรงมีพระพลานามัยแข็งแรงขึ้น แต่ถึงที่สุดแล้ว เราก็ต้องยอมรับกับความสูญเสียครั้งนี้” 	ขจรศักดิ์ สายชุม 	หัวหน้าฝ่ายช่างภาพ ขจรศักดิ์ สายชุม หัวหน้าฝ่ายช่างภาพ “งานแรกที่เราได้มีโอกาสถ่ายภาพในหลวงคือในปี2538 คืองานวางศิลาฤกษ์ โครงการสร้างทางยกระดับลอยฟ้าบรมราชชนนี ในครั้งนั้นเราจำได้ว่า เรารู้สึกตื่นเต้นมากเพราะถือเป็นครั้งแรกที่จะได้ถ่ายภาพในหลวง ได้เห็นพระองค์อย่างใกล้ชิด เพราะก่อนหน้านี้เราได้เห็นแต่ในทีวีเท่านั้นยังไม่เคยเห็นพระองค์จริงมาก่อน เราตื่นเต้น แต่ก็ทั้งดีใจและกังวลว่าการได้ถ่ายภาพในงานสำคัญที่มีในหลวงเสด็จนั้นจะเป็นอย่างไร แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี จำได้ว่าเราอยู่ห่างจากพระองค์ในระยะไม่เกิน 5เมตร เห็นพระองค์ที่แจ่มใสและเปี่ยมด้วยเมตตา ก็รู้สึกดีใจและภูมิใจมาก จากนั้นก็ได้มีโอกาสได้ถ่ายรูปในงานสำคัญๆ ที่ในหลวงเสด็จด้วยกันอีกหลายสิบงาน ซึ่งทุกครั้งที่เราได้ทำงานในลักษณะนี้ก็รู้สึกดีใจ ต่อมาพระองค์ก็เริ่มทรงประชวร เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช ตอนนั้นเราก็แค่คิดว่าพระองค์ท่านทรงป่วย และรักษาตัวทั่วๆไปเท่านั้น ยังไมได้คิดอะไรมาก แต่พอระยะหลังๆ ทางโรงพยาบาลก็ขอไม่ให้ช่างภาพใช้แฟลช เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนพระองค์ท่าน ในทุกครั้งที่เราไปถ่ายรูปทิ่โรงพยาบาลศิริราช ในใจก็คิดว่าเราอยากให้ท่านแข็งแรง เหมือนถ่ายไปก็เป็นห่วงไป เวลาที่เราเห็นท่านโบกพระหัตถ์ให้กับประชาชน เราก็ดีใจเพราะรู้สึกว่าท่านยังแข็งแรงอยู่ จิตใจเราก็ยังดีอยู่ แต่มาหลังๆก็มีข่าวว่าพระวรกายเริ่มแย่ลง เรื่อยๆ ช่างภาพในภาคสนามส่วนใหญ่ที่พูดคุยกัน เมื่อต้องไปถ่ายพระองค์ที่โรงพยาบาลศิริราช ตอนนั้นแทบทุกคนจะพูดคุยและคิดหวังเหมือนกันว่า อยากให้พระองค์หายป่วยไวๆ แต่แล้วเมื่อวันที่ 13 ต.ค.เป็นวันที่เราได้รับข่าวที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น โดยวันนั้นเราได้ทราบข่าวมาแต่ยังไม่แน่ใจและไม่อยากเชื่อ จึงได้โทรศัพท์สอบถามเพื่อนช่างภาพที่เฝ้าถ่ายภาพที่โรงพยาบาล ว่าจริงหรือไม่ซึ่งเพื่อนก็ตอบมาสั้นๆ ว่า “ท่านสิ้น” วินาทีนั้นเราก็ยอมรับว่าอึ้ง และเสียใจมาก ขณะที่ขี่รถมอเตอร์ไซต์กลับบ้าน ก็ยอมรับว่าเรารู้สึกเครียด น้ำตาก็ไหลไปตลอดทาง ที่ผ่านมาเราจะสอนน้องๆช่างภาพตลอดว่าเมื่อใดที่ได้มีโอกาสไปงานที่ได้ถ่ายรูปพระองค์ท่าน ก็ขอให้รีบทำ และทำให้ดีที่สุด เพราะถือเป็นงานที่มีความสำคัญมาก ยิ่งช่วงหลังๆ เราจะได้เห็นว่าพระองค์จะเสด็จลงมาทอดพระเนตรที่ท่าน้ำศิริราช เท่าที่รู้มีเพื่อนช่างภาพบางคนถ่ายไปก็ร้องไห้กันไปนะ แต่เราก็ต้องทำงาน และเชื่อว่าในวันที่มีการถวายพระเพลิงพระบรมศพ วันนั้นก็คงจะรู้สึกเศร้าโศกกันมาก เพราะเหมือนเป็นวันที่เรา จะต้องจาก และไม่ได้เห็นพระองค์อีกแล้ว เป็นครั้งสุดท้ายจริงๆที่เราจะได้ถวายงานพระองค์ท่าน” พสุพล ชัยมงคลทรัพย์ พสุพล ชัยมงคลทรัพย์ “งานแรกที่ผมได้ถ่ายภาพในหลวง คืองานที่พระองค์ท่านเสด็จฯ พระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ด้วยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2539 ระหว่างเสด็จได้เกิดมีลมพายุแรงมาก สร้างความกังวลใจให้กับประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จเป็นอย่างมาก แต่ในสมัยนั้นยังใช้กล้องฟิล์ม เวลาผ่านไปไม่สามารถหาภาพมาได้ หลังจากนั้นในปี 2552 ผมเข้ามาทำงานสยามรัฐแล้ว ได้มีโอกาสถ่ายภาพพระองค์ท่านถึง 3 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2555 ในหลวงเสด็จฯ ไปทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 เชิงสะพานพระราม 8 จังหวะที่พระองค์ท่านเสด็จมาทรงถือกล้องและถ่ายภาพมายังกลุ่มช่างภาพด้วย รู้สึกปลื้มปิติที่ได้มีโอกาสได้เห็นพระองค์ท่านใกล้ๆ และเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2555 พระองค์ท่านเสด็จฯ พร้อมด้วยคุณทองแดง ลงจากชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ทรงเสด็จฯ ยังชั้น 7 อาคารโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณ จากนั้นทรงทอดพระเนตร พลับพลาที่ประดิษฐานพระอนุสาวรีย์ ร.5 และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ผมรอถ่ายภาพอยู่บริเวณอาคารหนึ่ง และต้องรีบวิ่งล่วงหน้าไปถ่ายอีกอาคารหนึ่ง เหนื่อยแต่ก็ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความภูมิใจที่ได้ถ่ายภาพพระองค์ท่าน ต่อมา เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2555 ครั้งที่พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยคุณทองแดง จากโรงพยาบาลศิริราช ไปทอดพระเนตรอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี เขตคลองสาน ได้ภาพจังหวะที่พระองค์ท่านทรงแย้มพระสรวล มองประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จฯ รู้สึกดีใจที่พระองค์ท่านมีความสุข ส่วนในวันที่ 13 ต.ค.2559 ผมไปสแตนบายที่โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่ช่วงบ่าย และถ่ายภาพประชาชนที่มานั่งสวดมนต์เพื่อให้ในหลวงทรงหายจากอาการประชวรและมีพลานามัยแข็งแรง แต่ก็มีกระแสข่าวไม่ค่อยดีออกมาเป็นระยะๆ ทำให้รู้สึกกังวล แต่ก็ทำหน้าที่ต่อไป จนกระทั่งเวลาประมาณ 18.45น.ทางสำนักพระราชวังได้ส่งเมล์มายังสำนักพิมพ์แจ้งประกาศการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ผมและเพื่อนๆ ช่างภาพอยู่ที่ชั้นล่างอาคารศิริราช 100 ปี เริ่มมีอาการเศร้า แต่ก็ยังไม่แน่ใจจึงรอความชัดเจนจากแถลงการณ์ ของสำนักพระราชวัง ที่ออกทางโทรทัศน์ และเมื่อเวลานั้นมาถึง ปรากฎว่า ประชาชนต่างก็ร้องไห้น้ำตาไหล รวมถึงผมและเพื่อนช่างภาพเองที่ต้องถ่ายภาพบรรยากาศความเศร้า พร้อมกับน้ำตาไหลไปด้วย ไม่ต่างจากประชาชนที่เฝ้ารอฟังข่าว” กฤษฎา พันสุ กฤษฎา พันสุ “ในปี 2535 ได้มีโอกาสตามเสด็จไปถ่ายภาพของพระองค์หลายแห่ง ทั้งงานที่ทรงหว่านเมล็ดข้าวที่โรงเรียนนายร้อย จปร. จ.นครนายก และเสด็จเปิดเขื่อนป่าสัก แต่ที่ได้ใกล้ชิดรับใช้พระองค์ท่าน ตอนที่ท่านทรงงานที่โรงพยาบาลศิริราช ช่วงนั้นพระองค์ได้เสด็จมาเฝ้าอาการพระอาการประชวรสมเด็จย่าทุกคืน พระองค์ ท่านจะเสด็จมาเฝ้าพระอาการสมเด็จย่า ประมาณ 4 ทุ่มและท่านจะเสด็จลงมาทรงงานใต้ตึกชั้นล่างของ โรงพยาบาล ช่วงประมาณ ตี 4 หรือ ตี 5 ท่านทรงราวๆๆ 1 ชั่วโมง ท่านทรงรับสั่งในการแก้ปัญหาน้ำท่วม กทม.ช่วงนั้นช่างภาพและสื่อมวลชนเรียกได้ว่าต้องทำงานนอนกินกันอยู่ที่โรงพยาบาลกันเลย พวกเราจึงรับรู้ได้ว่าพระองค์ทรงงานหนักมาก ขณะที่ประชาชนนอนหลับ แต่ท่านไม่ได้หลับ แต่กลับทรงงานด้วยความห่วงใยประชาชน วันที่เรารู้ข่าว เสด็จสวรรคต วันนั้นเป็นจังหวะที่กำลังขับรถกลับบ้าน เราก็ร้องไห้ไปด้วย คิดว่าสิ่งที่ได้ยินมาเป็นเพียงแค่ฝัน .เหมือนดวงใจของเราออกไปจากร่างเรา วันที่มาทำข่าวส่งเสด็จท่านสู่สวรรคาลัย เราถ่ายภาพไป กดชัดเตอร์ไป น้ำตาไหลออกมาเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ รู้อีกทีชัตเตอร์ตัวกล้องเปียกไปด้วยน้ำตา คิดอยู่เสมอว่านี่คงเป็นการทำงานในสายงานช่างภาพที่สุดยากลำบาก แต่ก็ตั้งใจทำหน้าที่ในเวลานั้นให้ดีที่สุดในสภาวะกดดันรอบด้าน ท่ามกลางประชาชนที่มารอรับส่งท่านสู่สวรรคาลัย คิดว่า ต่อไปนี้คงไม่มีการทำข่าวกดชัดเตอร์กล้องกดติดรูปท่านอีกต่อไปแล้ว” สิริภูมิ ชูวงศ์ตระกูล สิริภูมิ ชูวงศ์ตระกูล “ผมได้มีโอกาส ถ่ายภาพในหลวงครั้งแรก งานนั้น คือ งานวันพ่อ 5 ธ.ค. 2555 ที่พระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคิริขันธ์ ในการทำงานนั้น นความยากจะอยู่ที่ ว่าจะทำอย่างไรจึงจะไม่ไปบังประชาชนจำนวนมหาศาลที่มารอเฝ้ารับเสด็จ ตั้งแต่เช้า แต่มันทำให้ผมได้รู้เลยว่าคนไทยรักในหลวงมากขนาดไหน เพราะอากาศวันนั้นร้อนบวกกับจำนวนคน แต่ประชาชนก็พร้อมที่จะยืนรอท่ามกลางแสงแดด วินาทีแรกที่เห็นพระองค์ท่าน น้ำตามันไหลออกมาเองไม่รู้เพราะอะไร ทั้งๆที่มันเป็นเวลาเพียงไม่ถึงนาทีที่รถพระที่นั่งส่วนพระองค์ เคลื่อนผ่านตัวเราไป มันปลื้มปิติและภูมใจที่ครั้งนึงเราได้เคยถวายงานพระองค์ท่าน วันที่ผมรู้ข่าวว่าในหลวงเสด็จสวรรคต ตอนแรกไม่เชื่อข่าวลือทุกอย่างที่ได้ยินมา รีบขับรถไปที่โรงพยาบาลศิริราชเพื่อจะได้เห็นกับตาว่าข่าวเป็นอย่างไร และวันนั้นมันก็ยังไม่ใช่ความจริงที่เกิดขึ้น วันรุ่งขึ้นผมดีใจมากที่มันเป็นแค่ข่าวลือ แต่พอตกค่ำของวันที่ 13 ต.ค. มีประกาศแถลงการณ์จากสำนักพระราชวังออกมา ผมไม่อยากจะเชื่อเลย จากวันนั้นถึงวันนี้ความรู้สึกเหมือนฝันไปแล้ววันนี้ก็ยังคงฝันอยู่ การทำงานในช่วงพิธีส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย วันนั้นเป็นวันที่ประชาชนทั่วประเทศพร้อมใจกันมาส่งเสด็จในหลวง ภาพบรรยากาศในวันนั้นเต็มไปด้วยความโศกเศร้า ผมถ่ายรูปไปร้องไห้ไป เราเข้าใจความรู้สึกของประชาชนในวันนั้น มันเป็นการสูญเสียของคนทั้งประเทศ วันนั้นท่านไม่อยู่แล้ว แต่สิ่งที่ท่านทิ้งไว้ คือ การรวมคนไทยให้เป็นชาติไทย” ณวพงศ์ ม่วงศิริธรรม ณวพงศ์ ม่วงศิริธรรม “เมื่อผมได้เข้ามาทำงานที่สยามรัฐ ทำให้ได้มีโอกาสถ่ายภาพของในหลวง ครั้งแรกคือวันที่พระองค์จะเสด็จมาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช ผมรีบเดินทางไปรอที่โรงพยาบาลก่อนเวลากำหนด เพราะในใจเราอยากรู้ว่า พระองค์ทรงพระประชวรจริงหรือไม่ และเป็นอะไร มากหรือน้อยแค่ไหน เรียกว่าผมรีบไปเพราะอยากรู้ข่าว มากกว่าแค่การไปถ่ายภาพเสียอีก จนขบวนเสด็จก็มาแต่ในหลวงท่างทรงประทับในรถโรงบาลที่ปิดมิดชิตผมไม่เห็นท่าน ผมรู้สึกใจไม่ดี แต่ผมก็ถ่ายรถขบวนเสด็จจนจบขบวน สำหรับการทำงานนั้น ต้องยอมรับว่าแม้เราจะเจอกับสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว อีกทั้งยังต้องสวมสูทเพื่อปฏิบัติหน้าที่ ให้เกิดความเรียบร้อย แต่เมื่อเราได้เห็นขบวนพระองค์มาถึงเราก็มีความสุข มีความปลื้มปีติ ในวันที่ได้รู้ข่าวว่าพระองค์เสด็จสวรรคต รู้สึกเสียใจมาก เหมือนคนที่ผมรักมาตั้งแต่เด็ก และครอบครัวผมรัก และ ทุกคนในประเทศนี้รักจากไปรู้สึกเหมือนหัวใจมันแกว่ง ร้องไห้ทุกครั้งที่ได้ถ่ายอะไรที่เกี่ยวกับพระองค์ แต่ก็อยากถ่ายเก็บทุกอย่างไว้ให้คนรุ่นหลังได้เห็นว่าท่านเป็นในหลวง รัชกาลที่9 นั้นทรงเป็นกษัตริย์ที่ประชาชนรักทั้งประเทศการทำงานในช่วงพิธีส่งเสด็จสูสววคาลัย เป็นงานพิธีที่ผมจะตั้งใจทำให้ดีที่สุด ถึงผมจะถ่ายรูปบนความเศร้าของตัวผมเอง และ พี่น้องชาวไทยทั้งหมดก็ตาม” ประเวศ พึ่งแสวงผล ประเวศ พึ่งแสวงผล “ การถ่ายภาพในหลวงครั้งแรกและครั้งเดียวของผม คือ ท่านเสด็จจากโรงพยาบาลศิริราชกลับพระราชสังวังไกลกังวลเมื่อปี 2558 การทำงานค่อนข้างลำบากเล็กน้อย เนื่องจากต้องทำงานท่ามกลางช่างภาพ สื่อมวลชนจำนวนมาก แล้วยังมีประชาชน ที่คอยรับเสด็จจำนวนมาก เราก็กลัวว่าจะไปบังให้ผู้ที่ตั้งใจจะได้เห็นท่านผมยอมรับว่า วินาทีแรกที่เห็นพระองค์ท่าน หัวใจและมือที่ถือกล้องสั่น เหงื่อออกแบบบอกไม่ถูกหมือนหยุดหายใจไปชั่วขณะ เป็นบุญของผมครั้งแรกและครั้งเดียวที่เห็นท่าน เป็นเกียรติสูงสุดในชีวิตการเป็นช่างภาพของผมเลยก็ว่าได้ วันที่ 13 ต.ค.สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ เรื่องสวรรคต ผมรู้สึกเหมือนทุกอย่างสะกดให้หยุดไป น้ำตาก็ค่อยๆไหลออกมาและนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของท่าน มันเป็นเรื่องที่ยากลำบากแน่นอนสำหรับพระราชพิธีส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย ไม่ใช่เพียงเราคนเดียวที่โศกเศร้า มีคนเป็นจำนวนมากมารับเสด็จตามเส้นทางที่นั่งรอไม่ว่าจะแดดร้อนเพียงใด จนหลายคนเป็นลมถึงขั้นพยาบาลห้ามขึ้นรถฉุกเฉิน ก็ไม่ทำให้ทุกคนถอยหรือลดละความพยายามที่จะรอส่งขบวนเสด็จของท่านความรู้สึกผมตอนที่ขบวนพระบรมศพเคลื่อนมาถึงทุกอย่างเงียบสงัดเหลือเพียงแต่เสียงร้องไห้ระงมตลอดเส้นทาง ส่วนผมตาส่องช่องมองภาพและน้ำตาไหลไปพร้อมๆกัน“