กระเป๋าย่านลิเภา กลับมาโด่งดังและเป็นที่กล่าวขานไปทั่วโลกอีกครั้ง จากที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงกระเป๋าย่านลิเภา ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จฯเยือนสหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 7 พ.ค.66 ตามคำทูลเชิญของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ เพื่อทรงร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน

สำหรับ กระเป๋าย่านลิเภา คือ เครื่องจักสานชนิดหนึ่งที่สานโดยเส้นย่านลิเภาซึ่งเป็นพืชในสกุลเฟิร์นหรือไม้เถาชนิดหนึ่ง (ไม้เถาเรียกย่านลิเภาในภาษาปักษ์ใต้) ส่วนใหญ่พบในป่าทางภาคใต้ของประเทศไทย เส้นย่านลิเภา มีความเหนียวทนทานเหมาะที่จะทำกระเป๋า

ซึ่งกว่าเราจะได้ผลิตภัณฑ์จักสานย่านลิเภาแต่ละชิ้นนั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย เพราะต้องใช้ความอดทนบวกกับทักษะฝีมือ ถือเป็นงานหัตถกรรมที่มีกรรมวิธียุ่งยากซับซ้อนไม่แพ้งานหัตถกรรมชนิดอื่น

และ “ย่านลิเภา” หนึ่งในการฟื้นฟูงานหัตถกรรมเก่าแก่ของไทยในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ย่านลิเภา คือพืชประเภทเถาวัลย์ชนิดหนึ่ง เป็นวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นภาคใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดนครศรีธรรมราช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงพระราชดำริให้จัดตั้งกลุ่มจักสานย่านลิเภา รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ย่านลิเภาให้มีคุณภาพดีขึ้น เพื่อจำหน่ายเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ให้แก่ราษฎรภายในโครงการส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในภาคใต้ และทรงฟื้นฟูการนำย่านลิเภามาสานเป็นกระเป๋าขึ้นใหม่ ทั้งยังทรงนำมาใช้ด้วยพระองค์เองหลายครั้งในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนงานหัตถกรรมจักสานย่านลิเภาเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง

“ย่านลิเภานี้เป็นศิลปะเก่าแก่ของบรรพบุรุษเรา แล้วก็วัตถุดิบก็เกิดขึ้นเองภายในประเทศคือ ทางภาคใต้ที่ฝนตกมาก,…,ลักษณะพิเศษของย่านลิเภา ถ้าแม้นว่าทิ้งให้แก่กับต้นแล้ว ใยของเขาจะเหนียวอยู่ได้เป็นร้อยปี โดยที่ไม่มีตัวแมลงมากัดกินเลย เพราะฉะนั้นพูดได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่ยอดเยี่ยมที่สุดของเมืองไทย”

พระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2524

ขอบคุณข้อมูล/ภาพ : เพจเฟซบุ๊ก Queen Sirikit Museum of Textiles, มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และ กรมประชาสัมพันธ์