สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยจับมือดีไซเนอร์ระดับชาติยกระดับผ้าไทยร่วมสมัยสู่ตลาดโลกหวังโกยรายได้หลัก100 ล้านบาท

นายประสพ เรียงเงิน ผอ.สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กล่าวว่า สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ได้ดำเนินโครงการพัฒนาการออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่ออนุรักษ์ ส่งเสริมผ้าไทย สนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และมุ่งให้เกิดทั้งการสร้างคน สร้างสังคม และสร้างรายได้สู่ชุมชน พร้อมเผยแพร่ภาพลักษณ์ของประเทศผ่านงานวัฒนธรรมสู่เวทีโลก โดยในปีนี้ได้ร่วมกับคณะนักออกแบบหรือดีไซเนอร์ชั้นนำของประเทศ ในการส่งเสริมให้ชุมชนผู้ผลิตผ้าในท้องถิ่นมุ่งปรับปรุงพัฒนาการออกแบบเครื่องแต่งกายให้มีความร่วมสมัย ทันสมัย สามารถสวมใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน รวมถึงเพิ่มศักยภาพชุมชนให้สามารถเผยแพร่ภูมิปัญญาผ้าไทยสู่สายตาของชาวไทยและนานาประเทศ และยังมุ่งให้เกิดการสร้างเครือข่ายด้านเครื่องแต่งกาย เพื่อพัฒนางานร่วมกันในอนาคต

ผอ.สศร. กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการดำเนินงานได้คัดเลือกดีไซเนอร์ที่มีผลงานเชิงประจักษ์ระดับชาติและนานาชาติ จำนวน 4 คน และชุมชนที่มีศักยภาพที่พร้อมจะร่วมพัฒนาผ้าไทยร่วมสมัย 4 ภูมิภาค จากนั้นจะให้ดีไซเนอร์ลงพื้นที่ชุมชน 4 ภูมิภาค ในการให้ความรู้เทคนิค การทำลวดลายผ้า การพัฒนาลวดลายใหม่ และการแปรรูปชุดเครื่องแต่งกายให้มีความร่วมสมัยโดดเด่น ได้แก่ 1.นายธีระ ฉันทสวัสดิ์ รับมอบหมายพัฒนาผ้าไทยร่วมสมัย พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น ได้แก่ กลุ่มทอผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝาย และจุฑาทิพ ไชยสุระ SKJ Design 2.น.ส.สิริอร เฑียรฆประสิทธิ์ รับผิดชอบพัฒนาในพื้นที่ภาคตะวันออก จ.ชลบุรี ที่ศูนย์พัฒนาอาชีพชุมชนเขาดิน วิสาหกิจชุมชนทัตถกรรมสตรีรักษ์โลก 3.นายเอก ทองประเสริฐ พื้นที่ภาคเหนือ จ.ชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ที่กลุ่มผ้าทอ นายใจดี หรือแบรนด์ Ninechaidee ยาจกไฮโซ และ มณีรัตน์ หลีจา 4.นายทรงวุฒิ ทองทั่ว รับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ที่กลุ่มบาติกบ้านบาโง ร้านศรียะลาบาติก และบาติก เดอ นารา ทั้งนี้เมื่อได้ลวดลายผ้าที่สมบูรณ์แบบแล้ว จะนำมาตัดเย็บออกมา ตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัย ชุดต้นแบบอย่างน้อยแห่งละ 8 ชุด โดยสศร.จะต่อยอดยกระดับองค์ความรู้ในเรื่องของการพัฒนาผ้าไทยสู่การจัดแสดงในเวทีแฟชั่นโชว์ระดับนานาชาติ

“ผมได้ให้แนวทางในการส่งเสริมผ้าทอและเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัย โดยเฉพาะการทำงานกับคนรุ่นใหม่ การค้นหาอัตลักษณ์เฉพาะและช่องทางการตลาดในยุคปัจจุบัน เพื่อให้สามารถก้าวไปสู่ตลาดโลกให้ได้ โดยจากการดำเนินโครงการที่ผ่านมา เราได้ผลผลิตที่สมบูรณ์แบบสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผ้าไทยได้มากถึงหลักร้อยล้านบาท” นายประสพ ผอ.สศร. กล่าว