ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

ตำราฝรั่งบอกว่าการเป็นนักการเมืองต้องฝึกฝน แต่ตำราไทยให้ใช้ทางลัดและ “ดึงตัน” เข้าไป

“ประสบการณ์ในวิชามาร” ที่ผมเรียกสั้น ๆ ว่า “ประสบมาร” ที่ผมได้รับฟังจากคำบอกเล่า และที่ได้เห็นจากการกระทำของพรหมมิตร ดูมันเกิดขึ้นและทำได้ง่าย ๆ คล้ายเป็นเรื่องธรรมดาที่ใคร ๆ ก็ทำกัน

เจ้านายของพรหมมิตรคือตัวการสำคัญในประสบมารเหล่านั้น นอกเหนือจากคนในระดับเดียวกันพวกคนรถ รปภ. และผู้ติดตามหรือตำรวจติดตาม ที่พรหมมิตรคบอยู่มากมาย แต่ก็ไม่ได้มีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งเหมือนกับเจ้านายของเขาเอง ที่ได้ “ฉีดดีเอ็นเอ” เข้าเส้นเลือดเขาจนฝังอยู่ในร่างกายตลอดมา

ในปี 2522 ที่พรหมมิตรได้มาเป็น รปภ.ให้กับเจ้านาย ซึ่งก็คือ ส.ส.ในเขตเลือกตั้งหนึ่งของเมืองย่าโม อันเป็นการได้เป็น ส.ส.ในสมัยที่สองของเจ้านาย ซึ่งต้องถือว่าประสบความสำเร็จในอาชีพการเมืองอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังได้รับการแต่งตั้งจากทางพรรคให้ไปเป็นผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรี ซึ่งก็คือเลขานุการของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงหนึ่ง (ถ้าได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการรัฐมนตรีนั้นจะหมายถึงเลขานุการของรัฐมนตรีว่าการ) หรือที่เรียกรวม ๆ กันไปว่า “ท่านเลขา” แต่ด้วยตำแหน่งเพียงแค่นี้ก็เพียงพอที่จะทำให้คนธรรมดาแบบ “ท่าน ส.ส.สองสมัย” นี้สามารถเป็นเทวดามีฤทธิ์วิเศษมากมาย อันได้เผื่อแผ่ถึงบริวารเช่นเขานี้ด้วย

พรหมมิตรต้องติดตามท่านเลขาไปกระทรวงทุกวัน ในตอนเช้าวันจันทร์ถึงวันศุกร์ โดยในวันจันทร์มักจะมีประชุมผู้บริหารของกระทรวงเป็นประจำ ซึ่งเจ้านายของเขาต้องเข้าไปนั่งร่วมประชุมด้วย เช่นเดียวกันกับเช้าวันอังคารที่รัฐมนตรีช่วยว่าการที่เป็นเจ้านายของเจ้านายของเขาอีกทีนั้นต้องไปประชุมอยู่เสมอ แล้วตอนบ่ายวันอังคารก็จะมีประชุมพรรค เพราะในวันพุธจะเป็นการประชุมสภา ที่จะมีประชุมในวันพฤหัสบดีอีกด้วย ส่วนวันศุกร์จะไม่มีงานในกระทรวงหรือในทำเนียบ เพื่อให้ ส.ส.ที่มาจากจังหวัดต่าง ๆ ได้กลับไปดูแลประชาชนพื้นที่เลือกตั้งของตน กระนั้นเจ้านายของเขาที่แม้ว่าจะเป็น ส.ส.จากต่างจังหวัด ก็ไม่ได้กลับไปลงพื้นที่แต่อย่างใด แต่ชอบที่จะจัดประชุมพบปะ “ผู้คน” ในส่วนที่จะต้องมาพึ่งพิงขอ “อาศัยบารมี” จากเจ้านายของเขาและท่านรัฐมนตรี ซึ่งก็มีเจ้านายของเขานั่นแหละเป็น “นายหน้า” หรือ “พ่อสื่อ” คอยประสานงานติดต่อ

พรหมมิตรมีหน้าที่คอยพา “ผู้คน” ที่ท่านเลขาและท่านรัฐมนตรี(ซึ่งก็คือรัฐมนตรีช่วยว่าการเจ้านายของท่านเลขา)นัดหมายไว้ไปนั่งที่ห้องประชุมหรือห้องรับรอง ตามจำนวนของคนที่มาขอเข้าพบ แต่ว่าถ้าเป็นแขกคนสำคัญ หรือมี “ธุระพิเศษ” ก็อาจจะพาไปที่ห้องทำงานของท่านเลขาและท่านรัฐมนตรีช่วยนั้นเลย ทั้งนี้เป็นอันเข้าใจกันและห้ามใครเข้าออกในช่วงเวลาที่แขกคนนั้นยังอยู่ในห้องโดยเด็ดขาด แต่ว่าถ้าเป็นแขกพิเศษยิ่งขึ้นไปกว่านั้น บางทีพรหมมิตรก็ไม่ได้ไปต้อนรับ แต่เจ้านายของเขาจะนัดหมายและรับรองด้วยตนเอง ซึ่งมักจะไปพบปะกันข้างนอกกระทรวง รวมถึงที่บ้าน เพื่อให้ “ลับหูลับตา” จริง ๆ เนื่องจากหากมาพบที่กระทรวงก็จะมีสายข่าวของข้าราชการในกระทรวงนั้นเองที่พูดออกไปให้รั่วไหล เพราะในเวลานั้นหลาย ๆ กระทรวงมักจะมีรัฐมนตรีมาจากต่างพรคกัน นัยว่าให้คอยถ่วงดุลกัน ไม่ให้รัฐมนตรีของพรรคใดกระทำการ “เกินหน้าเกินตา” ซึ่งก็คือได้ผลประโยชน์มากกว่าหรือเหนือกว่ากันนั่นเอง

บ่อยครั้งที่พรหมมิตรเห็นแขกพิเศษเหล่านั้นหิ้วกระเป๋าเอกสารหรือกระเป๋ากีฬาเข้าไปพบท่านเลขากับท่านรัฐมนตรีช่วยแล้วก็ไม่ได้เอากระเป๋าเหล่านั้นออกมาด้วย ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันว่านั่นคือ “ของบรรณาการ” ที่แขกพิเศษเหล่านั้นนำมา “จิ้มก้อง” หรือขอพึ่งบารมีท่านเลขาและท่านรัฐมนตรีช่วยนั่นเอง ส่วนตัวเขาเองบางทีก็ได้รับเงินใส่ซองวางไว้ให้บนโต๊ะหรือแอบวางใส่ให้ในมือ ซึ่งเขาเองก็ก็รับไว้เหมือนเป็นการไปลามาไหว้แบบปกติ

การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ที่เขามองเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี่เอง ได้ค่อย ๆ ซึมซาบเข้าไปในเนื้อหนังของเขาโดยไม่รู้ตัว เหมือนกับลมพัดมาแล้วเขาก็หายใจเอาอากาศนั้นเข้าไป เขาไม่รู้สึกว่ามันชั่วมันบาป แต่กลับรู้สึกว่ามันทำให้เขามีชีวิตอยู่ต่อไป แต่ถ้าไม่รับหรือปฏิเสธของบรรณาการเหล่านั้นเสียอีกที่เป็นสิ่งผิดปกติ เหมือนกับเกิดเป็นคนแล้วไม่รู้จักหายใจเอาอากาศไปเลี้ยงร่างกายกระนั้น

อาจจะเป็นด้วยสันดานของเขาที่สนใจใฝ่รู้ในเรื่องชั่ว ๆ เหล่านั้นด้วยตนเอง หรืออาจจะเป็นชะตาลิขิตที่นำพาเขาเข้ามาสู่ “เส้นทางคนชั่ว” แบบนี้ ทำให้เขาเริ่มรู้จักวิธีการที่จะ “หากิน” กับความชั่วเหล่านั้นได้โดยลำพัง โดยสมมุติตัวเองว่าเป็นตัวแทนของท่านเลขารวมถึงท่านรัฐมนตรีช่วย แล้วอาสาให้ความช่วยเหลือ เริ่มต้นก็คือข้อแนะนำต่าง ๆ ตลอดจนการเดินเอกสารหรือจัดทำเอกสารให้ ซึ่งก็สร้างรายได้ให้กับเขาเป็นกอบเป็นกำ

งานอย่างนี้เขาไม่ได้ทำตามลำพัง เขาเองก็ได้รับความอนุเคราะห์จากข้าราชการประจำหลายคนในกระทรวง ข้าราชการเหล่านี้ส่วนหนึ่งก็คือ “หน้าห้อง” หรือฝ่ายเลขานุการที่มาประจำสำนักของรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยต่าง ๆ ซึ่งก็จะมีอยู่ 4-5 คนต่อรัฐมนตรีแต่ละท่าน หรืออาจจะมีมากกว่านั้นแล้วแต่ว่าท่านรัฐมนตรีต้องการคนมาช่วยทำงานอะไรบ้าง ซึ่งบางกระทรวงอาจจะมีหน้าห้องเป็นสิบ ๆ คนก็ได้ หน้าห้องเหล่านี้จะเป็นผู้คอยกลั่นกรองงานและเอกสารต่าง ๆ ก่อนที่จะมาถึงท่านเลขาและท่านรัฐมนตรีไปตามลำดับ (เว้นแต่เอกสารที่สำคัญหรือเป็นความลับมาก ๆ ท่านอธิบดีหรือผู้บริหารของกระทรวงก็อาจจะถือเข้าไปพบรัฐมนตรีด้วยตัวเอง โดยไม่ผ่านหน้าห้อง หรือนำมาออกเลขเอกสารและผ่านขั้นตอนการบันทึกจัดเก็บตามระเบียบของทางราชการ) หน้าห้องเหล่านี้นอกจากจะเป็นผู้ที่รอบรู้เกี่ยวกับระเบียบงานราชการต่าง ๆ เป็นอย่างดีแล้ว บางคนก็อาจจะถูกส่งมาด้วยเป้าหมายพิเศษบางอย่าง เช่น เป็นหูเป็นตาให้กับผู้บริหารของกระทรวงนั้นเอง ซึ่คนเหล่านี้มักจะได้การพิจารณาความดีความชอบ หรือที่เรียกว่า “ให้สองขั้น” เป็นกรณีพิเศษอยู่ทุกปี ทำให้เจริญก้าวหน้ารวดเร็วกว่าเพื่อนข้าราชการทั่วไป ดังนั้นตัวรัฐมนตรีก็อาจจะไม่ค่อยไว้วางใจเท่าไหร่ จึงต้องไปหาข้าราขการที่ตัวเองไว้วางใจมาเป็นหน้าห้องร่วมด้วย แต่ก็จะไม่ “เก่ง” เท่ากับบรรดาหน้าห้องที่มาจากกระทรวงนั้น ๆ โดยตรง

โชคดีที่กระทรวงที่เจ้านายของเขาไปเป็นเลขา เป็นกระทรวงที่รัฐมนตรีคนก่อนก็มาจากพรรคของนายของเขา ทำให้ไม่ได้มีการเปลี่ยนหน้าห้องอะไรมาก ส่วนใหญ่ก็ยังใช้คนเดิม ๆ และพอจะไว้วางใจได้พอสมควร ยิ่งไปกว่านั้นหน้าห้องเหล่านี้นี่เองที่คอย “ชี้แนะ” ช่องทางทำมาหากินให้กับนักการเมือง โดยเฉพาะกับท่านเลขาผู้เป็น “มือใหม่” ข้าราชการเหล่านี้ก็จะเข้าแนบชิด แล้ว “ครอบ” หรือจับเอามาเป็นพวกด้วยเสียเลย ดีที่ว่าเจ้านายของเขาคือท่านเลขาพอจะรู้ตื้นลึกหนาบางและการเข้ามาทำหน้าที่ต่าง ๆ ของหน้าห้องหรือฝ่ายเลขานุการที่มาจากข้าราชการกระจำเหล่านี้มาบ้างแล้ว แกจึงรู้จักพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ซึ่งก็คือเอาคนที่หลาย ๆ คนคิดว่าควรจะระมัดระวังเป็นพิเศษ ที่อาจจะเผลอแว้งกัดเอาเมื่อไหร่ก็ได้ เอามาเป็นพวกเสีย

คนที่ทำงานการเมืองมานานรู้จักหลบเป็นปีกรู้จักหลีกเป็นหาง ก็น่าจะใช้วิธีการเช่นเดียวกันกับเจ้านายของพรหมมิตรนี้ คือการใช้ข้าราชการนั่นแหละให้ “ออกรับ” หรือรับเคราะห์แทน ในเวลาที่จะมีการกระทำ “มีนอกมีใน” ต่าง ๆ โดยอ้างถึงการแนะนำของข้าราชการในการชี้ช่องทางตามกฎหมาย หรือการจัดทำเอกสารและดำเนินการขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งนักการเมืองไม่ได้ดำเนินการด้วยตนเอง ดังนั้นเมื่อถึงเวลาที่มีการถูกจับผิด หรือดำเนินคดีเอาผิด นักการเมืองก็จะโยนบาปเคราะห์เหล่านั้นไปยังข้าราชการประจำ

แต่ “เหนือฟ้ายังมีฟ้า” ข้าราชการเองก็ระมัดระวังตัวมากเช่นกัน ซึ่งถ้านักการเมืองประมาทเรื่องนี้ก็อาจจะประสบชะตากรรมย่ำแย่ไปทั้งวงศ์ตระกูลนั้นด้วย