สัปดาห์พระเครื่อง /โดย  อ.ราม  วัชรประดิษฐ์

กรุวัดราชบูรณะ จ.พระนครศรีอยุธยา นับเป็นกรุเก่าแก่ที่มีความสำคัญยิ่งกรุหนึ่งของจังหวัดและประเทศไทย มีการขุดค้นพบสมบัติล้ำค่าต่างๆ มากมาย ซึ่งล้วนทรงคุณค่า ทั้งด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปกรรมการช่างในสมัยโบราณ รวมถึงด้านพุทธศิลปะ จัดเป็นกรุเก่าที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างชัดเจน

พระใบขนุน กรุวัดราชบูรณะ

พระใบขนุน กรุวัดราชบูรณะ

ในปี พ.ศ.2499 กรุวัดราชบูรณะ เป็นข่าวโด่งดังเมื่อมีคนร้ายลักลอบขุดกรุภายในพระปรางค์ประธาน ได้ทรัพย์สมบัติอันมีค่าไปจำนวนมาก ทางกรมศิลปากรจึงทำการ เปิดกรุ อย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน ปี พ.ศ.2500 ซึ่งยังปรากฏพบทรัพย์สมบัติที่หลงเหลือและเครื่องทองอีกจำนวนมากมาย ทั้ง พระพุทธรูป พระโพธิสัตว์แบบปาละ อินเดียภาคใต้รุ่นหลัง ลังการุ่นหลัง ชวา พม่า พระพุทธรูปทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี สุโขทัย อู่ทอง จนถึงอยุธยา มีพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางลีลาและพระพุทธรูปองค์เล็กๆ ทำด้วยศิลาจำนวนหนึ่ง ส่วนพระพิมพ์เป็นแบบปาละของอินเดีย และแบบทวารวดี ลพบุรี อยุธยา ซึ่งมีทั้งอยุธยาแท้และเลียนแบบสุโขทัย รูปพระสาวกเดี่ยว ได้แก่ พระสังกัจจายน์ ท้าวเวสสุวัณ รวมทั้งวัตถุล้ำค่าอื่นๆ เช่น จารึกอักษรขอมบนลานดีบุกเรื่องคำนมัสการพระบรมสารีริกธาตุและพระธรรม, เครื่องเชี่ยนหมากทำด้วยโลหะ, คันฉ่องโลหะฝีมือช่างจีน ฯลฯ ซึ่งทำให้ได้ทราบถึงศิลปะอยุธยาในต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันทรัพย์สมบัติมีค่าทั้งหมดถูกเก็บรักษาไว้ที่ห้องราชบูรณะ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา

พระใบขนุน กรุวัดราชบูรณะ พระใบขนุน กรุวัดราชบูรณะ

พระใบขนุน ที่จะกล่าวถึงนี้ ก็มีต้นกำเนิดที่ กรุวัดราชบูรณะเช่นกัน เป็นพระที่มีชื่อเสียงมากและหายากยิ่ง ด้วยพุทธลักษณะอันโดดเด่นและทรงคุณค่ายิ่ง

ในคราวกรุแตกอย่างเป็นทางการ เมื่อปี พ.ศ.2500 นั้น ทางกรมศิลปากรได้นำ ´พระใบขนุน´ ออกจำหน่ายจ่ายแจกให้กับประชาชน แต่เนื่องจากขนาดความใหญ่ขององค์พระ ผู้คนจึงเช่าหากันน้อยมาก ซึ่งอีกไม่กี่ปีต่อมาปรากฏว่า ‘หากันให้ควั่ก’ โดยส่วนใหญ่ผู้เช่าบูชาจะนำไปใส่ฐานตั้งให้เห็นความงามทั้งสองด้าน เพื่อสักการบูชา เอกลักษณ์ของ ‘พระปางลีลา’ นั้น จะคล้ายพระกำแพงศอก กรุวัดพระศรีมหาธาตุ จ.สุพรรณบุรี และมักนิยมปิดทองที่องค์พระลีลาด้วย

พระกำแพงใบขนุน กรุวัดมหาธาตุ จ.สโขทัย

พระใบขนุน กรุวัดราชบูรณะ เป็นพระขนาดใหญ่ ดีไม่ดีจะใหญ่กว่าใบขนุนอีก เป็นพระที่สร้างตามคติการสร้างพระให้ครบพระธรรมขันธ์ เหมือนการสร้างพระกำแพงห้าร้อย ตรงกลางประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลาศิลปะสุโขทัยงดงามมาก เข้าใจว่าคงได้รับอิทธิพลมาเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเข้าไปมีบทบาททางการเมืองเหนือกรุงสุโขทัย ตั้งแต่สมัยขุนหลวงพระงั่วและสมัยพระบรมไตรโลกนาถ เป็นต้นมา แล้วได้สร้างพระที่มีอิทธิพลสุโขทัยบรรจุในกรุเจดีย์ที่กรุงศรีอยุธยา พุทธลักษณะพิมพ์ทรง คล้ายรูปสามเหลี่ยมบ้าง ห้าเหลี่ยมบ้าง ด้านบนมีรอยปาดเนื้อ ตรงกลาง เป็นพระปฏิมากรปางลีลาเป็นพระประธาน อยู่ภายใต้ซุ้มครอบแบบคอระฆัง มีปรากฏทั้งสองหน้า ลักษณะทำตามพุทธประวัติตอนเสด็จลงมาจากการโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีพระองค์เล็กๆ ปางมารวิชัย ประดับรายล้อมทั่วแผ่นใบขนุน ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เนื้อองค์พระ เป็นเนื้อชินเงินอาบปรอท ให้สังเกตจะมีฟองหรือโพรงอากาศอยู่บนผิวปรอทที่ใดที่หนึ่ง แต่หากไปพบองค์ที่มีผิวสีดำ ก็ใช่ว่าจะเป็น ‘ของเก๋’ นั่นอาจเป็นเพราะองค์พระจมดินจมโคลนหรือผ่านการบรรจุกรุ ทำให้เกิดปฏิกิริยาที่คนโบราณเรียกว่า ปรอทตาย ผิวจะกลายเป็นสีดำซีดๆ ไม่ใช่ดำมันแทน แต่ตามซอกก็ยังคงปรากฏร่องรอยของปรอทให้เห็นอยู่

พระลีลากำแพงศอก กรุวัดพระศรีมหาธาตุ จ.สุพรรณบุรี

นอกจากนี้ ยังมีของดีที่คล้ายคลึงกับ´พระใบขนุน กรุวัดราชบูรณะ´ อีกพิมพ์หนึ่ง ขึ้นที่ กรุวัดมหาธาตุ จ.สุโขทัย เรียกกันว่า “พระกำแพงใบขนุน” มีขนาดใหญ่พอๆ กัน แต่ทำจากเนื้อดิน เข้าใจว่าได้รับอิทธิพลจากกำแพงเพชร จึงขนานนามว่าพระกำแพงใบขนุน องค์พระประทับนั่ง ปางมารวิชัย บนบัลลังก์บัวเล็บช้าง มีซุ้มกนกครอบองค์พระ ด้านหลังเรียบ ซึ่งได้รับความนิยมมากเหมือนกัน อาจเพราะ ‘ชื่อดี’ ด้วยความเชื่อแต่โบราณกาลว่า เป็นการหนุนนำให้เจริญก้าวหน้า โดยจะสังเกตได้จากผู้เฒ่าผู้แก่จะนิยมปลูกต้นขนุนในบ้าน หรืองานมงคลก็ทำขนมเม็ดขนุน ครับผม