อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา วันนี้สมบูรณ์ รายได้มั่นคง จับปลาขายสด แปรรูป เที่ยวเชิงเกษตรและนิเวศ

“พื้นที่ตรงนี้เดิมเป็นป่าที่สมบูรณ์ต่อมามีราษฎรเข้ามาแผ้วถางทำเป็นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง เกิดอุทกภัยในฤดูฝนและซ้ำซากทุกปี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรมีพระราชดำริให้อธิบดีกรมชลประทานในขณะนั้นพิจารณาวางโครงการประเภทอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยพระปรงและห้วยโสมงซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำปราจีนบุรีเพื่อให้ราษฎรมีน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและทำการเกษตรได้ทั้งปี สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องจากพระราชดำริ(สำนักงานกปร.) กรมชลประทานได้สนองพระราชดำริ เริ่มกระบวนการศึกษาสำรวจออกแบบตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมา จนคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2552 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างโครงการ” นายวิเชียร เหลืองอ่อน ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานฤบดินทรจินดา ต.แก่งดินสอ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี กล่าว

ทั้งนี้การดำเนินงานก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ อาคารประกอบส่วนอื่นๆ แล้วเสร็จกักเก็บน้ำได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 เป็นต้นมา สามารถช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่อำเภอกบินทร์บุรี และอำเภอนาดี และช่วยให้ราษฎรได้รับน้ำจืดเพื่อทำเกษตรกรรม รวมทั้งยังส่งน้ำไปผลิตเป็นน้ำประปาได้อย่างมีคุณภาพ ตลอดจนรักษาระบบนิเวศผลักดันน้ำเค็มและน้ำเน่าเสียในจังหวัดปราจีนบุรี และแม่น้ำบางปะกงได้ตามเป้าหมาย ส่งผลให้ราษฎรได้รับประโยชน์ในการใช้น้ำประกอบอาชีพได้สูงสุดและยั่งยืน

นางจารุนันท์ ศรีพลเรือน ราษฎรหมู่ที่ 12 ต.แก่งดินสอ  อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี เปิดเผยว่า เดิมมีอาชีพทำไร่ทำนาเลี้ยงสัตว์รายได้ไม่ดีหลังจากมีอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา หรืออ่างเก็บน้ำห้วยสโมง มาทำอาชีพประมง โดยชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนเนื่องจากอยู่ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำได้รับการจัดสรรที่ดินทำกิน และได้อพยพไปอยู่อาศัยในพื้นที่แห่งใหม่ พร้อมได้รับการสนับสนุนให้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ทำประมงน้ำจืด จับปลาในอ่างเก็บน้ำขายและนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ปลาหลายชนิด อาทิ ปลาร้า ปลาส้ม โดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ฉะเชิงเทรา ได้มาจัดฝึกอบรมให้ความรู้ด้านการแปรรูปปลาพร้อมมอบปัจจัยการผลิตเบื้องต้นให้

“ปลามีเยอะ ทั้งปลาธรรมชาติ และที่ทางประมงและชลประทานนำพันธุ์ปลามาปล่อย ส่วนใหญ่จะเป็นปลาขาว ปลาตะเพียน ปลายี่สก ปลากดคัง ปลาบึก  ปลาหมอเทศ โดยราคาปลากดคังราคาอยู่ที่ประมาณ 150 -160 บาทต่อกิโลกรัม ถ้าเป็นปลานิลสำเร็จรูปขายกิโลกรัมละ 70 บาท ปลาจับได้มากทุกวัน หากบางวันขายปลาสดไม่หมด ก็นำมาแปรรูปขาย เช่น ปลาร้าปลาช่อน ปลาร้าปลากระดี่ ขายถุงละ 120 บาท น้ำหนักประมาณ 6 ขีด ปลาร้าสับทรงเครื่อง ขายกระปุกละ 60 บาท  แหนมปลายี่สก ขายถุงละ 120 บาท โดยจะมีนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมอ่างซื้อกลับไปรับประทานที่บ้านเพราะเก็บได้หลายวัน ส่วนหนึ่งก็ขายผ่านออนไลน์ โดยจะผลิตให้ตามออเดอร์ที่สั่งมา ตอนนี้รายได้ดีมาก” นางจารุนันท์ ศรีพลเรือน กล่าว

ด้าน นายสุริยะ อุทระภาศ ผู้ใหญ่บ้าน ม. 3 บ้านวังอ้ายป่อง ต.แก่งดินสอ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี และเป็นประธานสหกรณ์ประมงอ่างเก็บน้ำห้วยโสมง จำกัด เผยว่า เมื่อมีโครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาเกิดขึ้นชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อย่างเห็นได้ชัดสามารถประกอบอาชีพได้อย่างหลากหลายโดยเฉพาะการทำเกษตรก็เลือกปลูกพืชได้หลากหลาย มีอาชีพประมงน้ำจืดเกิดขึ้น รวมถึงอาชีพบริการต่าง ๆ เช่น การจัดกิจกรรมเกษตรเชิงท่องเที่ยวและเชิงนิเวศ ที่สามารถจัดได้ตลอดทั้งปี ซึ่งก็ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ตลอดทั้งปี

“สำหรับสหกรณ์ประมงปัจจุบันมีสมาชิกสหกรณ์ทั้งหมด 200 กว่าคน มีเรือที่ขึ้นบัญชีกับสหกรณ์ 202 ลำ จับปลาในแต่ละวันได้ไม่ต่ำกว่า 1,500 กิโลกรัม แต่ละคนจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1,100 ถึง 1,500 บาท ส่วนประมงเชิงท่องเที่ยว หรือไต๋เรือก็จะมีรายได้มากกว่าเพราะนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ตอนนี้มากขึ้น เนื่องจากมีพันธุ์ปลาที่หลากหลายจึงทำให้นักท่องเที่ยวที่นิยมทำกิจกรรมตกปลามีมากขึ้น ส่วนด้านการเกษตรเดิมที่ทำแบบเชิงเดี่ยวก็เปลี่ยนมาเป็นปลูกไม้ผลที่มีมูลค่าสูงขึ้น เช่น ทุเรียน เพราะมีน้ำเพียงพอสำหรับพืชที่ปลูกทำให้ชาวบ้านมีรายได้ และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” นายสุริยะ อุทระภาศ กล่าว