ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

ว่ากันว่า “ความกลัว” อยู่ตรงข้ามกับ “ความกล้า” บางครั้งก็เกิดขึ้นจาก “ความฉลาดรอบคอบ” แต่บ่อยครั้งก็เกิดจาก “ความหวาดระแวง”

นารีสมรเป็นเด็กที่ซนมาก ๆ ตอนอายุสัก 5 ขวบ ญาติคนหนึ่งซื้อตุ๊กตาสวยงามน่ารักมาก ๆ มาให้เธอ คืนนั้นเธอแกะแขนขาตุ๊กตาออกมา พร้อมเล็มผมออก และขูดขนคิ้วจนเกลี้ยงเกลา หลายวันต่อมาญาติมาเยี่ยมอีก ถามหาตุ๊กตาตัวนั้น พอได้เห็นก็เกือบจะเป็นลม เช่นเดียวกันกับจักรยานหัดถีบที่พ่อซื้อให้ เธอก็เอามือเล็ก ๆ ไขนอตและส่วนประกอบต่าง ๆ ออกมาวางไว้อย่างเป็นระเบียบ แต่แทนที่จะได้รับคำชม เธอก็ถูกตำหนิด้วยเสียงอันดังมาก ๆ ของพ่อ ดีที่บ้านนี้ไม่ลงโทษลูกด้วยการเฆี่ยนตี อย่างแรง ๆ ก็คือขังไว้ในห้องใต้บันได และให้อยู่ในความมืดสัก 10 ถึง 20 นาที เมื่อลูกร้องไห้จนเหนื่อยแล้วก็จะเข้าไปปลอบพร้อมสั่งสอนตักเตือน ก่อนที่จะเปิดให้ออกมา

โบราณมักจะพูดว่า เด็กดื้อเด็กซนคือเด็กฉลาด แต่การที่ปิดกั้นความดื้อความซน ด้วยการลงโทษก็ดี ด้วยการตำหนิตักเตือนสั่งสอนก็ดี ก็เหมือนเป็นการสกัดกั้นการแสดงซึ่งความฉลาดและความเป็นตัวตนต่าง ๆ ของเด็กนั้น นารีสมรนึกถึงเรื่องเหล่านี้ในวัยเด็กก็ทำให้เธอคิดไปเองว่า ความหวาดกลัวในเรื่องต่าง ๆ ก็คงมาจากการที่เธอถูกปิดกั้นซึ่งเสรีภาพในวัยเด็ก โดยเฉพาะการถูกขังอยู่ในที่แคบ ๆ และมืด ๆ จึงทำให้เธอรู้สึกหวาดกลัวอะไรไปเสียทั้งหมดมาตั้งแต่เด็ก ๆ ด้วยเหตุนั้นนั่นเอง

นารีสมรเป็นคนชอบคิดและปะติดปะต่อในทุกเรื่องทุกราว เธอบอกว่าบางทีความกลัวของเธออาจจะเกิดจากการที่เธอมักจะถูกคนโน้นคนนี้วิพากษ์วิจารณ์ อย่างที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่านินทา เธอถูกนินทามาตั้งแต่เข้าโรงเรียน ตั้งแต่ที่เธอจำเรื่องราวต่าง ๆ ได้ในชั้นประถมศึกษา เธอมักจะถูกเพื่อนล้อและนินทาว่าเธอเป็นคุณหนู ต้องมีพี่เลี้ยงมาคอยดูแล ทั้งการรับส่งและเอาอาหารกับขนมมาให้รับประทาน ไม่เว้นแม่แต่โบผูกผมที่เธอจะเปลี่ยนสีทุกวัน ก็ถูกเพื่อน ๆ นินทาว่าเธออวดสวย อวดรวย และอวดเด่น แต่พอเธอไม่เปลี่ยนสีโบแต่เปลี่ยนอันใหม่ในทั้งสัปดาห์นั้น เพื่อนก็ยังนินทาว่าขี้เกียจหาอันใหม่หรือสีอื่นมั้ง รวมทั้งที่บอกว่าสกปรกและไม่ได้ซักทำความสะอาด รวมถึงที่เธอถักเปียบ้าง รวบผมบ้าง ก็ถูกวิจารณ์ว่าหน้าแปลกบ้าง หน้าตลกบ้าง จนเธอเองก็ทำอะไรไม่ถูก

ในห้องเรียนก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เธอจำได้ว่า เธอมักจะเป็นที่ตำหนิหรือค่อนแคะจากคุณครูบางคนในบางวิชาอยู่เสมอ ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะเธอขยันพูดขยันถามมากจนเกินไป ซึ่งครูแบบโบราณมักจะไม่ชอบให้ใครแย้งใครถาม รวมถึงที่เพื่อน ๆ ในห้องก็มักจะทำเสียงครางฮือๆ เบา ๆ เวลาที่เธอยกมือขึ้นถาม เหมือนว่าไม่ชอบให้มีใครแสดงความเก่งกล้าสามารถใด ๆ ด้วยเหตุนี้กระมังที่ทำให้เธอต้องระมัดระวังตัว ไม่อยากทำอะไรให้โดดเด่น รวมถึงที่ไม่ชอบให้ใครมานินทาหรือค่อนแคะอะไรใด ๆ

ตอนขึ้นชั้นมัธยมในโรงเรียนผู้หญิงล้วน พวกเพื่อน ๆ ก็จะมีการจับกลุ่มกันเป็นแก๊ง เพื่อทำเรื่องสนุกสนานที่แต่ละกลุ่มสนใจ เช่น สะสมกิ๊บติดผม ทำการ์ดส่งข้อความต่าง ๆ ให้กัน หรือเที่ยวหาอะไรกินแปลก ๆ เวลาเลิกเรียน แต่นารีสมรกลับชอบอยู่ตามลำพัง เธอรู้สึกปลอดโปร่งที่ไม่ต้องอยู่ในการจ้องมองของคนอื่น เธอมักจะให้พ่อหรือแม่ที่ขับรถมาส่งจอดรถก่อนแยกที่จะถึงโรงเรียน แล้วเธอก็เดินเข้าโรงเรียนไปตามลำพัง เธอไม่ชอบเป็นขี้ปากของใครถึงความเป็นลูกแหง่หรืออ่อนแอแบบคุณหนู เธอชอบเข้าห้องสมุด เพราะที่นั่นจะเป็นที่ที่เงียบที่สุดและพลุกพล่านน้อยที่สุด ในห้องเรียนเธอก็จะนั่งริมประตูสุดด้านหลังของห้อง เพื่อจะได้ออกจากห้องโดยเร็วที่สุด ทันทีที่คุณครูบอกว่าหมดชั่วโมง แม้แต่ในวิชาต่าง ๆ ที่มีกิจกรรมที่ต้องทำงานกันเป็นกลุ่ม ถ้าเป็นไปได้ เธอก็จะไม่เลือกเข้ากลุ่มไหน แต่จะให้กลุ่มนั้นมาเลือกเธอเอง ซึ่งบ่อยครั้งก็ไม่มีใครชวนเข้ากลุ่ม และเธอก็ต้องทำงานนั้นตามลำพัง ซึ่งเธอก็มีความสุขมากที่เป็นเช่นนั้น

เธอสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยได้ตามความต้องการของพ่อแม่ โดยพ่อและแม่ของเธออยากให้เธอทำงานด้านการบริหาร ซึ่งในคณะที่เธอสอบเข้าได้มีให้เลือกทั้งการบริหารการคลัง การบริหารรัฐกิจ และการบริหารบุคคล แล้วเธอก็เลือกด้านการบริหารบุคคล เพราะตั้งใจว่าอยากทำงานภาคเอกชนและมีเงินเดือนสูง ๆ แต่เหมือนชะตาชีวิตจะลิขิตไว้ให้เธอต้องไปทำงานในหนทางที่ปลอดภัยและมั่นคงที่สุด ซึ่งก็คือการเป็นข้าราชการ พอเธอเรียนจบก็พอดีกับมีการสอบเข้ารับราชการของกระทรวงแห่งหนึ่ง เธอคิดแต่ว่าจะลองไปสอบเล่น ๆ เพื่อดูข้อสอบ แต่พอประกาศออกมาว่าเธอสอบผ่าน ตอนแรกเธอก็คิดว่าจะไม่ไปสัมภาษณ์ แต่ก็เหมือนมีอะไรดลใจให้เธอต้องไปบอกเรื่องนี้กับพ่อและแม่ ซึ่งพ่อกับแม่กลับดีใจและรีบให้เธอไปสัมภาษณ์ตามนัด งเมื่อประกาศว่าเธอผ่านการสัมภาษณ์และได้เป็นข้าราชการ พ่อกับแม่ก็ออกเงินให้ก้อนใหญ่เพื่อไปตัดชุดขาวและชุดสีกากีในร้านที่มีชื่อว่าตัดชุดข้าราชการได้สวยและดีที่สุดให้เธอหลาย ๆ ชุดอีกด้วย

ว่าไปแล้วเธอก็ชอบและอยากจะทำงานราชการอยู่เหมือนกัน ตอนที่เธอเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย มีกิจกรรมภาคบังคับในการที่จะต้องไปศึกษาเกี่ยวข้องกับส่วนราชการต่าง ๆ อยู่มาก ตั้งแต่ที่ต้องไปศึกษาพื้นที่ในชนบท มีรุ่นพี่ที่เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอต่าง ๆ มาบรรยายและพาไปลงพื้นที่ ในบางวิชาก็มีการทำโครงงานอย่างที่เรียกว่า Workshop คือการฝึกบริหารจริง ๆ อย่างที่เธอได้ไปทำอยู่ที่กระทรวงแห่งหนึ่งในช่วงปิดเทอม ทำให้เธอมองว่าระบบราชการของไทยยังมีปัญหาอยู่มาก และถ้ามีโอกาสเธอก็อยากลองไปแก้ไขปัญหา หรือร่วมพัฒนาระบบราชการนั้นบ้าง ดังนั้นเมื่อเธอได้เข้ามาเป็นข้าราชการ ก็ทำให้เธอเชื่ออยู่บางส่วนว่า อาจจะเป็นชะตาชีวิตที่ถูกลิขิตไว้แล้วก็ได้

เธอทำงานราชการไปสักสองปีก็เริ่มรู้สึกว่าสถานภาพของเธอไม่ค่อยจะปลอดภัย นั่นคงเป็นสภาพจิตใจของเธอที่อยู่ในสภาพหวั่นไหวมาตั้งแต่เด็ก ๆ เธอเริ่มมีความรู้ว่าการรับราชการจะต้องมีการแข่งขันกันเพื่อความก้าวหน้าเติบโต สิ่งหนึ่งก็คือวุฒิการศึกษา เพราะใคร ๆ ที่อยากจะเป็นผู้บริหาร ด้วยกฎระเบียบก็บังคับให้จะต้องเรียนจบถึงระดับปริญญาโท และด้วยเรื่องของหน้าตา แต่ละคนก็ต้องมีอะไรที่เหนือกว่าคนอื่น ๆ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เส้นสายหรือผู้ใหญ่อุปถัมภ์ แต่ต้องมี “คอนเน็กชั่น” หรือเครือข่ายโยงใยกับบุคคลต่าง ๆ อย่างมากมายและหลากหลายอีกด้วย

เรื่องเรียนปริญญาโทไม่ใช่เรื่องลำบากสำหรับเธอ ซึ่งถ้าจะให้ไปเรียนที่ต่างประเทศพ่อแม่ของเธอก็สนับสนุนและส่งเสียได้ แต่เธอมองว่าการเรียนในประเทศน่าจะดีกว่า เพราะในบางสถาบันที่สอนในหลักสูตรปริญญาโทนั้น มีข้าราชการในกระทรวงต่าง ๆ ไปเรียนอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งนั่นน่าจะเป็นความสะดวกสบายให้กับเธอที่จะได้มีเครือข่ายหรือมีสายสัมพันธ์กับข้าราชการในกระทรวงต่าง ๆ เพราะการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ นี้คือจุดอ่อนของเธอ ที่เป็นปัญหาสำหรับเธอมาแต่อ้อนแต่ออก

แม้ว่าต่อมาเธอจะรู้ว่าสายสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ไม่ใช่สิ่งน่ากลัว แต่เธอก็ยังคบกับทุก ๆ คนด้วยความระมัดระวัง ทั้งในเรื่องที่เป็นหน้าที่การงานและที่เป็นเรื่องส่วนตัว