ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง : แปลงโกดัง “โรงสีข้าวเก่า สุพรรณ” เป็นแกลเลอรี พื้นที่แสดงศิลปะ “SUPHAN’s Echoes” เสียงสะท้อนสุพรรณ สร้างแผนพัฒนาหอศิลป์ร่วมสมัยภูมิภาคสู่ความยั่งยืน

กล่าวโครงการพัฒนาหอศิลป์ร่วมสมัยสู่ภูมิภาค ภายใต้การผลักดันสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย(สศร.) เท่าที่ติดตามและนำเสนอมาก่อนหน้านี้ สศร.ดูมุ่งมั่นสร้างภาคีเครือข่ายหอศิลป์ที่กระจายตัวอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย ได้ริเริ่มขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมผ่านการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการส่งเสริมการดำเนินงานของหอศิลป์และแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมในส่วนภูมิภาค ตั้งแต่ปี 2565 – 2566 รวม 10 แห่ง ได้แก่ บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย จ.เชียงราย หอศิลป์ริมน่าน จ.น่าน หอโหวด 101 จ.ร้อยเอ็ด ศูนย์ศิลป์สิรินธร โรงเรียนศรีสงครามวิทยา จ.เลย สวนศิลป์บ้านดิน จ.ราชบุรี ศาลเจ้าเฉ้งจุ้ยจ้อซู้ก๋ง จ.กระบี่ เฮินศิลป์ใจ๋ยอง จ.เชียงใหม่ KULTX Collaborative Space จ.ขอนแก่น แกลเลอรี 1984+1 จ.สุพรรณบุรี และเดอลาแป อาร์ท สเปซ นราธิวาส จ.นราธิวาส

ความเคลือนไหว นายประสพ เรียงเงิน ผอ.สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวการผลักดันโครงการดังกล่าว สศร.ว่า เพื่อส่งเสริม สนับสนุน สร้างภาคีเครือข่ายศิลปิน หอศิลป์ ตลอดจนแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมที่กระจายตัวอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย โดยส่งเสริมการจัดแสดงนิทรรศการ กิจกรรม รวมถึงการวางแผนพัฒนาหอศิลป์ร่วมสมัยสู่ภูมิภาคในระยะยาวเพื่อให้มีความยั่งยืน อาทิ  การผลักดันด้านกฎระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของหอศิลป์และแหล่งเรียนรู้ การสนับสนุนเชิงวิชาการ การศึกษาดูงาน การจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาด้านการบริหารองค์กรด้านศิลปะ และการมอบรางวัลประจำปีในด้านต่างๆ เป็นต้น

ทั้งกล่าวเพิ่มเติม ล่าสุด สศร.ได้ให้การสนับสนุนกลุ่มศิลปินจ.สุพรรณบุรี จัดนิทรรศการ “SUPHAN’s Echoes” หรือเสียงสะท้อนจากสุพรรณ โดย นายปรีชา รักซ้อน ศิลปินผู้ก่อตั้งแกลเลอรี 1894+1 ได้พัฒนาโกดังโรงสีข้าวของครอบครัวให้เกิดประโยชน์ในเชิงสร้างสรรค์ เป็นพื้นที่แสดงผลงานศิลปะแห่งใหม่ใน จ.สุพรรณบุรี ซึ่งแทบจะไม่มีหอศิลป์หรือแกลเลอรีสาธารณะอื่นๆ สร้างหรือทำในแนวนี้นัก ดังนั้น สศร.จะสนับสนุนให้แกลเลอรีแห่งนี้เป็นหมุดหมายสำคัญของการบ่มเพาะความรัก ความเข้าใจในศิลปะให้กับชุมชนและสังคม รวมถึงจะมีการขยายความร่วมมือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ จัดกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมให้ยั่งยืนต่อไป

สำหรับนิทรรศการ “SUPHAN’S Echoes” ปรีชา รักซ้อน รับหน้าที่ภัณฑารักษ์ ได้วางแผนการจัดนิทรรศการกลุ่ม ผ่านการสนทนา แลกเปลี่ยนความคิดระหว่างศิลปินอาวุโส ศิลปินหน้าใหม่ ในสุพรรณบุรีและจากพื้นที่อื่น รวมจำนวน 16 คน ที่รวบรวมเทคนิควิธีการสร้างสรรค์ที่หลากหลาย ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม สื่อผสม มัลติมีเดีย ภาพถ่าย ตลอดจนศิลปะการแสดง ที่สะท้อนถึง จ.สุพรรณบุรี พื้นที่ที่รุ่มรวยและเต็มไปด้วยมรดกทางประวัติศาสตร์ที่สามารถสืบย้อนไปถึงศตวรรษที่ 9 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ความซับซ้อนในมิติด้านวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ความเป็นชุมชน เศรษฐกิจ ตลอดจนสิ่งแวดล้อม รวมถึงพื้นที่แกลเลอรี 1894+1 เองที่มีบริบทจำเพาะของการเป็นโกดังโรงสีข้าวเก่า นำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานกับประเด็นเหล่านี้ในนิทรรศการ อาทิ การแสดงนาฏศิลป์ร่วมสมัย (Contemporary Dance) ในชุด “โรงสี” ของนักศึกษาจากวิทยาลัยนาฏศิลปะสุพรรณบุรี โดยชานนท์ ทัสสะ ผู้กำกับการแสดง ที่รังสรรค์ขึ้นใหม่ ร้อยเรียงเรื่องราวตั้งแต่จุดเริ่มต้นของอารยธรรมโบราณอู่ทอง สู่ความเชื่อและวิถีชีวิตที่ผูกติดกับสังคมเกษตรกรรม วัฒนธรรมข้าว และการมาถึงของยุคอุตสาหกรรม พร้อมเพลงประกอบที่มีการใส่เสียงต่างๆ จากโรงสีข้าวเป็นพื้นหลัง การแสดง Sound Art แบบสดของพชร ปิยะทรงสุทธิ์ ผู้สร้างเครื่องดนตรีจากอะไหล่ต่างๆ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากโรงสีข้าวแห่งนี้ ซึ่งเขาเคยได้เห็นเมื่อครั้งที่โรงสียังเปิดทำการ

ผลงานชุด “บ้านเรา” (Our Home) ของวิสูตร สุทธิกุลเวทย์ ศิลปินภาพถ่ายชาวสุพรรณบุรี นำเสนอภาพถ่ายในมุมต่างๆ มีทั้งที่คุ้นเคยและแปลกตาใน จ.สุพรรณบุรี จัดแสดงพร้อมกับชุดผลงานภาพถ่ายของลูกชายศิลปินที่กำลังศึกษาในโครงการแลกเปลี่ยน AFS ณ ประเทศอิตาลี เพื่อสร้างบทสนทนาในความเป็น ‘บ้านเขา’ และ ‘บ้านเรา’ หรือกระปุกออมสินปูนปลาสเตอร์ ผลงานสร้างสรรค์ร่วมกันของ ชญานิษฐ์ ม่วงไทย และพรยมล สุทธัง สะท้อนมุมมองของนักท่องเที่ยวจากจ.นครปฐม ที่มีต่อกระปุกออมสิน ของที่ระลึกที่วางจำหน่ายตลอดสองข้างทางระหว่างนครปฐมสู่สุพรรณบุรี หลากสีสันในรูปแบบปลาสลิด มังกร กระทั่งแมวที่พบในโรงสี จัดแสดงบนรถเข็นหาบเร่ ผลงานในนิทรรศการเหล่านี้ล้วนส่ง “เสียงสะท้อน” ถึงความเป็นสุพรรณบุรีในมิติที่แตกต่างกันไป เปิดให้เข้าชมถึงวันที่ 6 ส.ค.นี้