เมื่อองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท.เปิดโรดแมปแผนยุทธศาสตร์การบริหาร ระยะ 5 ปี (2566-2570) โดยมุ่งเพิ่มมาตรฐานการการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตามหลักเกณฑ์สากล GSTC STMS ยูเนสโก และ CBT Thailand  ผ่าน 249 โครงการ ใน 6 พื้นที่พิเศษ ทุ่มงบร่วม 2 หมื่นล้านบาท และกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นกว่า 262,393 ล้านบาท

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) ได้เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในระยะ 5 ปี  (พ.ศ.2566 - 2570) ครอบคลุมการดำเนินงานใน 6 พื้นที่พิเศษของ อพท.  โดยเริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566 เป็นต้นไป ภายใต้ 249 โครงการ รวมงบประมาณกว่า 1.96 หมื่นล้านบาท กระจายลงไปยังหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันบูรณาการส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพทางด้านการท่องเที่ยวให้มีการบริหารจัดการการท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพและเกิดความยั่งยืน

พร้อมนำความรู้ด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่มาใช้ให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ตามกลไกลการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ฯ ไปสู่การปฏิบัติตามแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัดและขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง โดยขับเคลื่อนร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวและสร้างรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

พัฒนาพื้นที่เป้าหมาย 

สำหรับแผนการดำเนินงานภายใต้ 6 ยุทธศาสตร์ ได้บรรจุ 249 โครงการ ประกอบด้วย 1) ยุทธศาสตร์การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตามวัตถุประสงค์การประกาศพื้นที่พิเศษ 52 โครงการ 2) ยุทธศาสตร์การสนับสนุนและส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยว 52 โครงการ 3) ยุทธศาสตร์การสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมและประเพณี 38 โครงการ 4) ยุทธศาสตร์การสนบัสนุนและส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวสีเขียว 33 โครงการ 5) ยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์และสร้างความร่วมมือเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 31 โครงการ และ 6) ยุทธศาสตร์การยกระดับขีดความสามารถของห่วงโซ่การท่องเที่ยวและกลไกการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 43 โครงการ  

ซึ่งดำเนินงานใน 6 พื้นที่พิเศษ ได้แก่ 1) พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง 2) พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง 3) พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมรดกโลกสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร 4) พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเลย 5) พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองเก่าน่าน และ 6) พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองโบราณอู่ทองและพื้นที่เชื่อมโยง

ซึ่งเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ ภายใต้แผนยุทธศาตร์ 5 ปี คือ การเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว และผู้มาเยือน รวมถึงรายได้ให้เกิดขึ้นในพื้นที่พิเศษ โดยคาดว่าในปี 2566 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวและผู้เยี่ยมเยือน ทั้งสิ้น 23.91 ล้านคน ที่จะสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 182,130 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายในปี 2570 ซึ่งเป็นปีที่สิ้นสุดแผน จะมีนักท่องเที่ยวและผู้เยี่ยมเยือนในพื้นที่พิเศษฯ สะสมเพิ่มขึ้นเป็น 31.27 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.78 จากปี 2566 ในขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยว คาดการณ์ว่าจะมีรายได้ 262,393 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.07 จากปี 2566

สร้างเกณฑ์ระดับสากล

ซึ่ง นาวาอากาศเอก อธิคุณ กล่าวว่า การพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษฯ อพท. จะนำหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานสากลมาใช้เพื่อยกระดับ ให้เกิดความเชื่อมั่นและเพิ่มศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ทั้ง 1) การใช้เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria: GSTC) โดยมีเป้าหมายให้แหล่งท่องเที่ยวขึ้นสู่แหล่งท่องเที่ยวเป้าหมาย TOP100 ของโลก 2) การพัฒนาเมืองท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษไปสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UCCN) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้านการท่องเที่ยว 3) การใช้มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (STMS) ที่อพท. พัฒนาขึ้น ได้รับการรับรองในระดับสากล และ 4) เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย (CBT Thailand) รวมถึงเครื่องมือการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism by DASTA) ซึ่งสอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต ความอยู่ดีมีสุขของประชาชน สร้างสมดุลทางสังคมระหว่างประชาชนในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยว

 

นอกจากนี้ ในการพัฒนาพื้นที่พิเศษตามแผนยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้าน อพท. มีขั้นตอนการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ฯ รายพื้นที่ เพื่อต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกับ อพท. เพื่อทำการติดตามประเมินผลในรายปีและรายสามปี โดยมีสำนักงานพื้นที่พิเศษของ อพท. เป็นผู้ประสานงานหลักในการผลักดันให้เกิดการดำเนินงานตามแผนงานและโครงการต่าง ๆ ตามแผนยุทธศาสตร์ฯ พร้อมกับการถ่ายโอนภารกิจให้กับหน่วยงานในท้องถิ่น หรือการร่วมกันดำเนินงานในระยะต่อไป ให้สอดรับกับบริบทของพื้นที่เพื่อสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง