ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

ท้องนาไม่ได้ก่อให้เกิดเพียงข้าวปลา แต่ยังมีความฝันอันยิ่งใหญ่ของใครบางคนอยู่ในผืนนานั้น

กงกริชเกิดในจังหวัดทางภาคอีสานที่ได้ชื่อว่ายากจนที่สุด เนื่องด้วยความแห้งแล้งและความยากลำบากในการทำกิน จนถึงขั้นที่เรียกได้ว่า “ตำน้ำกิน” แม้ว่าเขาจะเกิดในตลาดกลางตัวเมือง ในครอบครัวที่พอมีอันจะกิน เพราะครอบครัวมีอาชีพค้าขาย แต่ด้วยอาชีพของครอบครัวนี้เอง ทำให้เขาได้สัมผัสกับคนทุกข์คนยากจำนวนมาก ซึ่งก็คือชาวไร่ชาวนาที่ต้องเอาสินค้ามาขายให้กับครอบครัวของเขานั่นเอง

ครอบครัวของกงกริชเป็นครอบครัวคนจีนที่มาฝังรกรากอยู่ทางภาคอิสานนับร้อยปี ตั้งแต่ที่ทางรถไฟจากกรุงเทพฯมาสิ้นสุดอยู่แค่โคราช ยังไม่ได้ต่อมาที่อุบลราชธานี เตี่ยเล่าว่าโจวกง(คือปู่ทวด)มาขึ้นเรือที่ปากน้ำแม่กลอง ทำงานรับจ้างอยู่ในสวนอยู่หลายปี จนได้เมียเป็นคนไทยจึงพากันขึ้นรถไฟมาอยู่แถวยศเส ทำงานรับจ้างทั่วไป แต่พอมีลูกก็ต้องหาทางขยับขยาย ทราบจากคนที่นั่งรถไฟมาจากโคราชว่า ทางการกำลังบุกเบิกทำทางเชื่อมไปหนองคายและอุบลราชธานี โจวกงเลือกไปทางอุบลฯ แต่ทางกำลังก่อสร้าง เลยพักอยู่ที่โคราชระยะหนึ่ง คอยรับ “ของเค็ม” พวกปลาทูเค็ม ปลาแห้ง กุ้งแห้ง ที่มากับรถไฟเอาไปขายต่อตามเมืองต่าง ๆ ตามรายทางที่ทางรถไฟกำลังต่อขยายไป ที่สุดจึงมาปักหลักอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ พอทางรถไฟเสร็จก็เอา “ของแห้ง” พวกเนื้อควายแห้ง เก้งกวางแห้ง ครั่ง และหัวหอม จากชาวบ้านแถบ ๆ นั้น ส่งกลับไปที่หัวลำโพง แล้วก็ขยายการรับซื้อของเค็มจากแม่กลองมากขึ้น ทำมาจนถึงรุ่นอากง(ปู่)จึงเน้นค้าขายพืชผลทางการเกษตรแต่เพียงอย่างเดียว โดยมีปอ ข้าว โพด และข้าวฟ่าง เป็นหลัก จนถึงรุ่นพ่อของเขาจึงมีการค้าขายข้าวสารเพิ่มอีกหนึ่งอย่าง โดยรับซื้อข้าวเปลือกมาจากชาวนาแล้วส่งเข้าโรงสีที่เป็นพรรคพวกกัน พร้อมกับที่ยุคนั้นทหารอเมริกันมาตั้งฐานทัพที่อุบลราชธานี กิจการร้านค้าในภาคอิสานก็ขยายตัวออกไปเป็นอย่างมาก เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับธุรกิจในครอบครัวของกงกริชก็เจริญก้าวหน้าตามไปด้วย

สมัยเด็ก ๆ กงกริชมีชีวิตที่สุขสบายมาก ข้าวของเครื่องใช้ในบ้านส่วนใหญ่เป็น “ของนอก” คือได้มาจากค่ายทหารในฐานทัพ ที่มีการนำออกมาขายอย่ามากมาย รวมถึงของกินต่าง ๆ พวกอาหารกระป๋องและขนมต่าง ๆ ที่กงกริชชอบมากคือเนื้อกระป๋องและเค้กกระป๋อง พวกพี่ ๆ ที่เป็นวัยรุ่นแล้วก็แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าจากอเมริกา กางเกงยีนส์ พวก “กะรุ่งกะริ่ง กะเร่อกะร่า” ก็เริ่มมีแล้ว กับรองเท้าผ้าใบยี่ห้อดัง “ทางใครทางมัน” ก็มีใส่กันเกร่อ รวมทั้งพวกเพลงร็อคและแฟชั่นทรงผมแบบฝรั่ง ที่บ้านตอนเช้าแต่ก่อนนั้นรับประทานข้าวต้มทุกวัน ก็เริ่มมีไข่ดาวหมูแฮมกับขนมปังปิ้งมาเป็นเมนูประจำ แต่กงกริชมักจะขอร้องแม่ครัวให้ทำแซนด์วิชที่มีไข่ดาวและหมูแฮมอยู่ตรงกลางนั้นกินเกือบทุกวัน

กงกริชเป็นลูกคนสุดท้อง พี่ ๆ ทุกคนได้เรียนที่โรงเรียนในตัวจังหวัด โดยพี่สาวคนโตจบแค่ ป.7 เพราะอยากออกมาช่วยพ่อแม่ค้าขายมากกว่า ส่วนพี่สาวคนต่อมากับพี่ชายคนโตเรียนจนจบอาชีวะในโรงเรียนเทคนิคที่ตัวจังหวัด แล้วก็ออกมาช่วยพ่อแม่ค้าขายเช่นกัน ส่วนพี่ชายคนรองก่อนหน้ากงกริชเรียนจนจบมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ แต่ก็ไม่กลับบ้านเพราะได้งานบริษัทและได้แต่งงานกับภรรยาที่เป็นคนกรุงเทพฯ ตอนที่กงกริชจะต้องเข้าโรงเรียน แม่อยากให้กงกริชไปเรียนที่โคราชหรือที่อุบลฯ เพราะมีโรงเรียนอนุบาลที่ดีกว่า รวมถึงโรงเรียนประถมกับมัธยมนั้นด้วย แต่ในที่สุดก็ให้เรียนจนจบชั้นประถมที่โรงเรียนในจังหวัด แล้วจึงไปฝากเข้าโรงเรียนมัธยมที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นโรงเรียนแบบอยู่ประจำที่เก่าแก่และมีชื่อเสียง พอปิดเทอมจึงจะได้กลับมาบ้าน จนถึงมหาวิทยาลัยจึงได้เข้าไปอยู่ในหอพักของมหาวิทยาลัย

ตอนที่ยังไม่ได้เข้ากรุงเทพฯ ถ้าเป็นวันหยุด เช่น เสาร์อาทิตย์หรือปิดเทอม กงกริชชอบติดรถของพ่อออกไปตามที่ต่าง ๆ พ่อชอบขับรถกระบะคันเก่งของพ่อตามรถบรรทุกไปส่งของที่สถานีรถไฟ และบ่อยครั้งก็ไปรับซื้อพืชผลตามไร่นา พ่อบอกว่าได้ออกมาดูคนงานของพ่อว่าทำงานเป็นอย่างไร หรือถ้ามีปัญหาอะไรก็จะได้ช่วยแก้ไข เช่น คนรวมสินค้า(ที่สมัยนี้เรียกว่า “ล้ง”)เกิดเบี้ยวหรือปลอมปนสินค้า พ่อก็จะมีวิธีการพูดคุยที่นุ่มนวลและแก้ไขปัญหาได้ราบรื่น แต่ที่สำคัญคือได้ออกมาดูการทำมาหากินของชาวบ้าน ที่ทำให้ได้เห็น “ของจริง” จนพ่อจะเป็นผู้ที่มีความชำนาญในการพยากรณ์ว่า ปีนี้พืชผลจะได้ผลหรือไม่อย่างไร อันจะมีผลต่อการกำหนดราคา ทั้งราคาที่จะรับซื้อจากเกษตรกร และราคาที่จะไปขายให้กับพ่อค้าที่กรุงเทพฯ นั่นก็เพราะพ่อของกงกริชคือ “พ่อค้าคนกลาง” นั่นเอง”

กงกริชมองว่าพ่อของเขาเป็นพ่อค้าคนกลาง “ที่ดี” พ่อของเขาไม่เคยกดราคาชาวบ้าน อย่างแย่ ๆ ถ้าปีนั้นพ่อโดนกดราคามาจากกรุงเทพฯ พ่อก็พยายามจะชี้แจงให้ชาวบ้านเข้าใจ รวมถึงถ้าใครยังไม่อยากขายก็ให้รวบรวมเก็บไว้ก่อน รอจนราคาดีขึ้นก็ค่อยเอามาขายก็ได้ บางปีพ่อก็ประสบความสำเร็จในการเจรจาต่อรองกับ “เจ้าใหญ่” ในกรุงเทพฯ โดยเอาปัญหาของเกษตรกรไปขอความเห็นใจเพื่อขอราคาเพิ่ม เช่น ภัยแล้ง หรือแมลงและเชื้อโรคทำลายพืชผล เป็นต้น รวมถึงไปขอความช่วยเหลือจากจังหวัดให้ออกมาช่วยเกษตรกรนั้นด้วย แต่ที่กงกริชคิดว่าพ่อของเขาเป็นพ่อค้าที่ดีมาก ๆ ก็คือ บางทีมีเกษตรกรมาขอยืมเงิน พ่อก็จะให้บ้างแต่ไม่มาก เช่น ให้ยืมไปพอกินอีกสักเดือนสองเดือน สัก ๑๐๐ – ๒๐๐ บาท โดยเก็บดอกเบี้ยแต่พอควร พอพืชผลเก็บเกี่ยวได้ หรือน้ำท่าฟ้าฝนตกต้องลงมา ก็ค่อยมาชำระหนี้กัน แต่พ่อก็จะไม่เร่งรัดถ้าผู้กู้มีปัญหาในการชำระเงิน เพียงแต่จะเตือนไม่ให้ไปกู้ใครเพิ่ม และขยายเวลาคืนเงินยืมนั้นออกไปอีก แต่พ่อก็ไม่ได้ช่วยแบบนี้กับใคร ๆ มากนัก พ่อจะดูคนที่เป็นเกษตรกรที่ดี มีวินัย รักษาคำพูด และเชื่อฟังที่พ่อตักเตือน ซึ่งนั่นก็คือต้องคบค้าขายกันมาพอสมควร และสิ่งนี้ได้ซึมซับอยู่ในนิสัยของกงกริชโดยไม่รู้ตัว คือต้องระมัดระวังในการคบคน และช่วยเหลือคนก็ต่อเมื่อคนคนนั้น “มีค่า” พอกับความช่วยเหลือที่เราจะทุ่มเทให้

อีกสิ่งหนึ่งที่กงกริชได้เรียนรู้กับการติดตามพ่อไปในท้องไร่ท้องนา ก็คือได้มองเห็นปัญหาที่สำคัญของสังคมไทย นั่นก็คือ “ความเหลื่อมล้ำ” ที่ตอนนั้นเขาก็ไม่รู้ว่ามันเรียกว่าอะไร รู้แต่ว่าทำไมชาวบ้านจึงตัวดำมาก ๆ แม้แต่คนงานที่บ้านเขาซึ่งก็มาจากท้องไร่ท้องนาเช่นกัน ก็ไม่มีใครตัวดำมาก ๆ แบบนั้น รวมถึงเด็ก ๆ ในหมู่บ้านก็ดูมอมแมม กางเกงที่ห่อหุ้มท่อนล่างก็ไม่ได้มีสภาพที่เรียกได้ว่าเป็นกางเกง เพราะส่วนมากจะแหว่งโหว่ผุขาด ที่เอวก็เอาเชือกกล้วยหรือเถาวัลย์ผูกไว้ หูตาขี้มูกขี้ตาเขรอะ เท้าเปลือยแข็งด้าน เมื่อมองเทียบที่ตัวเขาแล้วเหมือนเป็นเด็กที่มาจากคนละโลก และบางทีพ่อพาเขาขึ้นไปไหว้หลวงพ่อในวัดเวลาที่ชาวบ้านมาทำบุญ เขาก็ได้เห็นของกินที่แตกต่างจากที่เขากินในบ้านที่ตัวจังหวัด หลายอย่างก็ไม่เคยพบเคยเห็น ทั้งเขียด แย้ อึ่งอ่าง และแมลงแปลก ๆ ทุกจานมีแต่กลิ่นปลาร้า ช่างเป็นสิ่งมหัศจรรย์สำหรับเด็กเมืองอย่างเขา เพราะเขาคงไม่สามารถกินอาหารแบบนั้นได้อย่างเอร็ดอร่อยเหมือนชาวบ้านทั้งหลาย

“ภาพจำ” เหล่านั้นทำให้เขาเก็บเอามาคิดและเรียนรู้ รวมถึงพยายามที่จะทำให้สิ่งเหล่านั้น “ดีขึ้น”