สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม  วัชรประดิษฐ์

เป็นพระพิมพ์ขนาดพอเหมาะที่จะบูชาติดตัว ถึงแม้พุทธศิลปะจะดูเรียบง่ายแต่ก็แฝงด้วยความสง่างาม เรียกได้ว่าเป็นพระหลักประจำจังหวัดนครสวรรค์

ชื่อ “นครสวรรค์” หมายความถึง วิมานซึ่งเป็นที่สถิตของชาวสวรรค์ แต่เดิมเรียกกันว่า “เมืองพระบาง” เพราะในต้นสมัยรัตนโกสินทร์ เคยเป็นเมืองพักระหว่างทางของพระพุทธรูปสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงอัญเชิญมาจากเมืองเวียงจันทน์และภายหลังทรงให้นำกลับคืนไป และยังมีชื่อเรียกขานอีกหลากหลายชื่อ เช่น “ชอนตะวัน” เนื่องจากลักษณะที่ตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก, “เมืองสี่แคว” เพราะเป็นที่บรรจบของแม่น้ำ 4 สาย คือ ปิง วัง ยม น่าน รวมเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เมืองปากน้ำโผล่” ต่อมาเพี้ยนเป็น “เมืองปากน้ำโพ” นั่นเอง

จังหวัดนครสวรรค์  นับเป็นเมืองเก่าแก่และมีความสำคัญตั้งแต่อดีต เมืองนี้มีการก่อตั้งเป็นชุมชนตั้งแต่เมื่อ 1,000 ปีมาแล้ว จนกระทั่งเข้าสู่ยุคทวารวดีในพุทธศตวรรษที่ 13-16 ได้รับอารยธรรมจากอินเดียจนพัฒนาขึ้นเป็นสังคมเมืองขนาดใหญ่ มีโบราณสถานมากมายกว่า 20 แห่ง มีความสำคัญในฐานะ “รัฐกึ่งกลาง” คือเชื่อมระหว่างทิศตะวันตกกับทิศตะวันออก และในปี พ.ศ.2438 นครสวรรค์ได้เป็น 1 ใน 4 มณฑลแรกที่ตั้งขึ้น มีอาณาเขตคือ นครสวรรค์ กำแพงเพชร ชัยนาท ตาก อุทัยธานี พยุหะคีรี มโนรมย์ และสวรรค์บุรี

สำหรับเมืองโบราณในจังหวัด อาทิ จันเสน ดงแม่นางเมือง ฯลฯ จะพบร่องรอยคล้ายเมืองโบราณที่พบในภาคอีสาน จากศิลาจารึกที่ค้นพบที่ดงแม่นาง แปลความเป็นดินแดนเมืองชื่อ “ธานยบุรี” และมีการขุดค้นพบพระพุทธรูปสัมฤทธิ์และพระพุทธรูปหินทรายสมัยลพบุรีมากมาย พระกรุเก่าแก่ที่เรียกได้ว่าเป็นที่เชิดหน้าชูตาของจังหวัดและเป็นที่นิยมสะสมในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องพระบูชาอย่างกว้างขวางคือ “พระกรุวัดหัวเมือง”

พระกรุวัดหัวเมือง แตกกรุออกมาในราวปี พ.ศ.2510 เมื่อครั้งทางจังหวัดทำการขยายถนนและขุดลอกวางท่อประปาในบริเวณวัดหัวเมือง ปรากฏพระพิมพ์ 2 พิมพ์ คือ พระนางพญา และพระซุ้มนครโกษา

พระนางพญา หรือ พระนางกรุวัดหัวเมือง พิมพ์ทรงเป็นสามเหลี่ยมชะลูดเหมือนพระนางพญา วัดนางพญา จ.พิษณุโลก พุทธลักษณะองค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัยแบบขัดสมาธิราบ พระเกศ เป็นแบบเกศปลี พระพักตร์ แบบผลมะตูม พระเนตร พระนาสิก และพระโอษฐ์เลือนราง ปรากฏพระศออยู่ในที พระอุระอวบอูม พระกรข้างขวาทอดตรงแบบพระนางพญาพิษณุโลก ส่วนข้างซ้ายวาดเป็นเส้นโค้งเข้าหาลำพระองค์ การช้อนพระเพลาแบบขัดราบ เฉพาะข้างขวาติดชัดเจนทุกองค์

พระซุ้มนครโกษา หรือพระพิมพ์ซุ้มเรือนแก้ว พิมพ์ทรงเป็นรูปห้าเหลี่ยมมุมมน ลักษณะองค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางสมาธิ เหนืออาสนะฐานบัวเล็บช้าง พระเกศ เป็นแบบเกศฝาละมี ติดชัดเจน  พระเนตร ส่วนใหญ่ติดชัดและโปนออกมาแบบตาตั๊กแตน  พระโอษฐ์แบะ มีเส้นซุ้มประภามณฑลเป็นเส้นนูนซ้อนกันอยู่ 2 เส้น รอบๆ เส้นซุ้มมีเส้นขีดคล้ายรัศมีโดยรอบ

พระกรุวัดหัวเมืองทั้ง 2 พิมพ์นี้ สร้างเป็นเนื้อตะกั่วดำ การพิจารณาองค์พระแท้จึงต้องพิจารณาจากความเก่าของเนื้อตะกั่วในรูป “สนิมไข” เป็นลักษณะขาวๆ ปกคลุมบนผิวชั้นบนสุด หรือที่เรียกกันว่า “สนิมไขวัว” มีลักษณะแข็งและมันวาวขึ้นปกคลุมสนิมแดงอีกชั้นหนึ่ง

“พระกรุวัดหัวเมือง” เป็นพระพิมพ์ขนาดพอเหมาะที่จะบูชาติดตัว ถึงแม้พุทธศิลปะจะดูเรียบง่ายแต่ก็แฝงด้วยความสง่างาม เรียกได้ว่าเป็นพระหลักประจำจังหวัดนครสวรรค์ และเป็นที่นิยมบูชากันมากทีเดียวครับผม