วันที่ 23 มิถุนายน 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ เปิดเผยว่า ตามนโยบายรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมการเพิ่มทักษะภาษาอาหรับแก่เยาวชนจังหวัดชายแดนใต้เพื่อเข้าถึงโอกาสการจ้างงาน ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การแพทย์ และการส่งออก ซึ่งปัจจุบันนี้มีความต้องการผู้ที่มีความสามารถในภาษาดังกล่าวอย่างมาก และจะมีเพิ่มมากขึ้น สืบเนื่องจากความสัมพันธ์ที่ดีและนโยบายการต่างประเทศที่มุ่งเป้ากลุ่มประเทศตะวันออกกลาง

นางสาวรัชดา กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนงานดังกล่าวจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน จึงได้นำร่องประสานขอการสนับสนุนจากโรงพยาบาลกรุงเทพ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงระดับภูมิภาค อีกทั้งมีผู้รับบริการชาวอาหรับจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะพัฒนาทักษะทางด้านภาษาอาหรับของเยาวชนซึ่งมีการเรียนการสอนอย่างกว้างขวาง และเปิดโลกทัศน์ให้มีประสบการณ์การทำงานจริง ทั้งนี้ ทางโรงพยาบาลกรุงเทพมีความยินดีให้การสนับสนุนอย่างยิ่ง และได้กำหนด “โครงการช่วยเหลือนักศึกษาเข้ามาช่วยปฏิบัติงานในฐานะผู้ฝึกงานด้านภาษาอาหรับ” โดยทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) จะรับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา มหาวิทยาลัยฟาฏอนี สมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้ และผู้แทนผู้สำเร็จการศึกษาจากประเทศโลกอาหรับ เพื่อร่วมกันกำหนดแรวทางการคัดสรรเยาวชนที่ประสงค์จะร่วมโครงการต่อไป อีกทั้งจะได้มีการประเมินผลเพื่อปรับปรุงแนวทางและดำเนินการประสานความร่วมมือกับเอกชนรายอื่นๆ เพื่อต่อยอดการส่งเสริมโอกาสแก่เยาวชนในพื้นที่ และตอบโจทย์ความต้องการทรัพยากรบุคคลในภาคธุรกิจ

ในวันนี้ (23 มิ.ย.) มีการประชุมติดตามการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวโดยมี พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศอ.บต. เป็นประธานการประชุม นางสาวรัชดา ธนาดิเรก นางสุนิสา รามแก้ว ผู้ช่วยเลขาธิการศอ.บต. และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ซึ่งเบื้องต้นทางโรงพยาบาลฯพร้อมให้การสนับสนุนค่าเบี้ยเลี้ยง ที่พัก และให้ปฏิบัติงานในแผนกกลุ่มภาษาอาหรับ แผนกประสานงานผู้ป่วยอาหรับ แผนกการตลาดผู้ป่วยอาหรับ ระยะเวลา 2 เดือน

“ท่านนายกรัฐมนตรี ได้ฝากขอบคุณโรงพยาบาลกรุงเทพที่ให้การสนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มที่ ถือเป็นการสร้างโอกาสแก่เยาวชน ทั้งที่จะได้ฝึกงาน และเพิ่มพูนประสบการณ์ชีวิต ที่สำคัญเป็นจุดเริ่มอันมีความหมายยิ่ง เพราะเป็นตัวอย่างของการแสดงถึงบทบาทภาคเอกชนในการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมศักยภาพพื้นที่ชายแดนใต้”