เป็นโครงการศิลปินแห่งชาติถ่ายทอดงานศิลป์ ลายลักษณ์วรรณศิลป์ รุ่น 7

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) ได้จัดกิจกรรมเปิดโอกาสให้ผู้ที่ชื่นชอบงานเขียน อาทิ เรื่องสั้น นวนิยาย กวีนิพนธ์ และสารคดี สัมผัสประสบการณ์ เทคนิควิธี สร้างสรรค์งานทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติจากศิลปินแห่งชาติ ในโครงการถ่ายทอดงานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ ลายลักษณ์วรรณศิลป์ รุ่น 7 มีผู้เข้าอบรม จำนวน 65 คน โดยนางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดอบรมฯ ที่หออัครศิลปิน จังหวัดปทุมธานี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

การอบรมในครั้งนี้ มี 11 ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ได้แก่ นายสถาพร ศรีสัจจัง นายเจริญ มาลาโรจน์ นางชมัยภร บางคมบาง นายไพวรินทร์ ขาวงาม รองศาสตราจารย์ธัญญา สังขพันธานนท์  นายกิตติศักดิ์ มีสมสืบ นายจำลอง ฝั่งชลจิตร นางสาวอรสม สุทธิสาคร นางนันทพร ศานติเกษม ฯลฯ มาร่วมถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ในการสร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมในการใช้ภาษาของตนเอง ให้สามารถหลอมรวมความรู้  ความคิด ทัศนคติและประสบการณ์ ด้วยกระบวนการคิดที่เป็นระบบสามารถสื่อสารไปยังผู้อ่านผ่านงานวรรณกรรมประเภทต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้เขียน เมื่อจบหลักสูตรศิลปินแห่งชาติจะพิจารณาคัดเลือกผลงานดีเด่นของผู้เข้ารับการอบรมทั้ง 4 ประเภทได้แก่ เรื่องสั้น นวนิยาย กวีนิพนธ์ และสารคดี ไปจัดพิมพ์ในหนังสือลายลักษณ์วรรณศิลป์ 7 เผยแพร่ผลงานของผู้เข้าอบรมไปยังนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ ในสถาบันการศึกษาต่างๆ และผู้อ่านทั่วไป เป็นการเปิดมุมมอง สร้างจินตนาการ และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้อ่านและนักเขียนรุ่นใหม่ต่อไป

นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีสวธ. กล่าวอบรมลายลักษณ์วรรณศิลป์ว่า เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการจะเป็นนักเขียนในอนาคต ให้มีโอกาสได้เสริมสร้างประสบการณ์ศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับศิลปินแห่งชาติ ฝึกฝนลีลาในการสร้างสรรค์งานวรรณศิลป์ พัฒนาทักษะกระบวนการคิดให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถนำความรู้ไปต่อยอดในการสร้างสรรค์งานวรรณศิลป์ตามแนวทางของตนเอง

ด้าน นางนันทพร ศานติเกษม (ปิยะพร ศานติเกษม) ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2564 กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ตนเองได้มีโอกาสร่วมเป็นวิทยากรถ่ายทอดประสบการณ์ ในการสร้างสรรค์งานเขียนด้านนวนิยายและอยากจะฝากถึงน้องๆ ว่าที่นักเขียนในอนาคต ถ้าใครอยากเป็นนักเขียนต้องเริ่มสำรวจตัวเองเบื้องต้นก่อน ว่าเป็นคนรักการอ่านไหม รักตัวอักษรไหม รักการเขียนไหม หากมีสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐาน น้องๆ ก็สามารถฝึกฝน พัฒนาทักษะ ให้เป็นนักเขียนที่ดีได้ เพราะการเขียนได้ เขียนดี และเขียนงาม จะสามารถก้าวสู่ความสำเร็จบนถนนนักเขียนได้แน่นอนในอนาคต”