กองทัพเรือจัดงาน “วันบริพัตร” ประจำปี 2566

วันที่ 29 มิถุนายน 2566) พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานจัดงานเทิดพระเกียรติ จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เนื่องใน “วันบริพัตร” ประจำปี 2566 ณ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ทั้งนี้กองทัพเรือได้จัดกิจกรรมเพื่อเทิดพระเกียรติจอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เนื่องในวันบริพัตร ประกอบด้วยพิธีบวงสรวง พิธีบำเพ็ญกุศล พิธีถวายพานพุ่มดอกไม้ พิธียิงสลุต รวมทั้งการจัดแสดงนิทรรศการพระประวัติ และพระกรณียกิจของพระองค์ที่ทรงมีพระมหากรุณาคุณแก่กองทัพเรืออย่างอเนกอนันต์

จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ประสูติเมื่อวันพุธที่ 29 มิถุนายน 2424 ในพระบรมมหาราชวัง ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 33 ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และองค์ที่ 2 ใน สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ทรงเข้ารับราชการในกองทัพเรือตั้งแต่ 24 กุมภาพันธ์ 2446 ถึง 18 มิถุนายน 2463 ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ และ เสนาบดีกระทรวงทหารเรือเป็นเวลาประมาณ 17 ปี ซึ่งนับว่ายาวนานที่สุด

จอมพลเรือ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ได้ทรงบุกเบิกและวางรากฐานความเจริญด้านต่าง ๆ ให้แก่กองทัพเรือเป็นอันมาก คุณูปการที่ทรงมีต่อกองทัพเรือที่สำคัญ ๆ เช่น ทรงจัดระเบียบราชการในกองทัพเรือให้รัดกุม ทรงจัดทำข้อบังคับทหารเรือว่าด้วยหน้าที่ราชการในเรือหลวง ทรงวางรากฐาน การจัดระเบียบการเรียนการสอนในโรงเรียนนายเรือใหม่ ทรงขยายและปรับปรุงอู่เรือหลวง ทรงวางรากฐานกองดุริยางค์ทหารเรือ ทรงจัดทำโครงสร้างกำลังทางเรือ ทรงเสริมสร้างแสนยานุภาพของกองทัพเรือ โดยทรงสั่งซื้อเรือรบจากต่างประเทศเข้าประจำในกองทัพเรือเป็นจำนวนมาก อาทิ เรือพระที่นั่งมหาจักรี (ลำที่ 2) เรือเสือทะยานชล เรือเสือคำรณสินธุ์ เป็นต้น นอกจากนี้พระองค์ทรงสนับสนุนการก่อตั้งราชนาวิกสภา ทรงกำหนดรูปแบบริ้วกระบวนเรือพระราชพิธี ตลอดจนปรับปรุงการเห่เรือและการสร้างเรือพระราชพิธีขึ้นใหม่ ทรงกำหนดระยะเวลาและวิธีรับคนเข้ารับราชการในกรมทหารเรือ ทรงวางแบบแผนการยิงสลุต ทรงกำหนดเครื่องแต่งกายทหารเรือ ทรงจัดให้มีพระธรรมนูญศาลทหาร และกรมพระธรรมนูญทหารเรือ ทรงปรับปรุงการสหโภชน์ และก่อตั้งโรงเรียนสูทกรรม ทรงตั้งคลังแสงทหารเรือ ทรงปรับปรุงการแพทย์ทหารเรือ ทรงทำการสำรวจและจัดทำแผนที่น่านน้ำสยามขึ้นใหม่ โดยกองแผนที่ทะเล ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็น กรมอุทกศาสตร์ ด้วยคุณูปการอันมากคณานับของพระองค์จึงทำให้กองทัพเรือสามารถพัฒนามาจวบจนปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นพระกรุณาคุณที่ทรงมีต่อกองทัพเรืออย่างหาที่สุดมิได้

กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ