สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม  วัชรประดิษฐ์

เครื่องรางของขลัง มีความผูกพันกับคติความเชื่อของสังคมไทยมายาวนานมาก โดยเฉพาะสังคมไทยที่มีพุทธศาสนาเป็นแกนกลาง บรรดาเครื่องรางของขลังต่างๆ นับเป็นส่วนเสริมให้ พุทธาคม กฤตยาคม และไสยาคม สามารถเข้ากันได้และเดินไปด้วยกันอย่างเป็นระบบและเป็นระเบียบ อย่างเวลารบทัพจับศึก “พุทธาคม” อาจจะช่วยให้แคล้วคลาดปลอดภัย เป็นการเสริมสร้างกำลังใจ สร้างความฮึกเหิม และความมั่นใจให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งก็ล้วนเป็นคติความเชื่อซึ่งฝังรากลึกในสังคมไทยมาแต่โบร่ำโบราณ ชนิดที่ว่าแยกกันไม่ออกกับชีวิตประจำวันของสังคมทีเดียว   อีกนัยหนึ่ง “เครื่องรางของขลัง” น่าจะเป็น "สัญลักษณ์" หรือ "สิ่งชี้นำ"  จะสังเกตว่า ในยุคโบราณเราจะพบเห็นลูกปัดและหินสีฝังรวมอยู่ในหลุมศพ ซึ่งเชื่อกันว่าจะเป็นเครื่องชี้นำให้ผู้ตายได้ข้ามภพข้ามชาติไปสู่สุคติตามความเชื่อ โดยเฉพาะประเทศอียิปต์ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมหลังความตาย

เครื่องรางของขลัง

สำหรับประเทศไทย ก็มีการใช้ "เครื่องราง" เป็นสิ่งชี้นำเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น “ขุนแผน” ในวรรณคดีโบราณ “ขุนช้างขุนแผน” เวลาจะออกรบก็จะต้องเตรียมเครื่องรางพร้อมสรรพ ดังเช่น

  "สะเอวคาดราตคตก็สีดำ              คล้องประคำตะกรุดทองทั้งสองสาย

ใส่เสื้อยันต์ลงองค์นารายณ์          เข็มขัดขมองพรายคาดกายพลัน

ประจงจับประเจียดประจุพระ        โพกศีรษะทะมัดทะแมงดูแข็งขัน

ทั้งพ่อลูกผัดผงที่ลงยันต์              แล้วเสกจันทน์เจิมหน้าสง่างาม"

ตะกรุด 12 ดอก หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก

ตะกรุดหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า

มักเชื่อกันว่า “เครื่องราง” จะเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดนิมิต ลางดี ลางร้ายต่างๆ เปรียบเหมือนการเตือนสติให้ระมัดระวังไม่ประมาท จะออกทางไหนซ้ายหรือขวา เครื่องรางก็จะช่วยชี้นำการตัดสินใจ น่าจะคล้ายๆ กับการเสี่ยงทาย

เครื่องรางของขลังโบราณของไทยนั้นมีมากมายหลายชนิด ทั้ง ประคำ ผ้าประเจียด เบี้ยแก้ ยันต์นานาประเภท ปลัดขิก ตะกรุด ลูกอม กะลาตาเดียว เขี้ยวหมูตัน หนังหน้าผากเสือ รักยม กุมารทอง แหวนพิรอด รูปเคารพต่างๆ  เช่น รักยม กุมารทอง นางกวัก แม่โพสพ หรือ เสือ สิงห์ วัวธนู ลิง หนุมาน และอีกมากมายนับไม่ถ้วน  ส่วนกรรมวิธีจัดสร้าง ตลอดจนวิธีอาราธนา หรือ "ใช้" เครื่องรางของขลังของโบราณก็ต้องดูฤกษ์ดูยาม วัสดุอาถรรพ์ กำลังวัน และอื่นๆ อีกมากมาย เพื่อเพิ่มความเข้มขลังให้แก่เครื่องรางของขลังนั้นๆ

ตะกรุด หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง

ยกตัวอย่างเช่น “ตะกรุด” ซึ่งสมัยเด็กๆ เรามักจะได้ยินผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังถึงความศักดิ์สิทธิ์ และนิยมพกพาติดตัวกัน บางท่านก็ออกเสียงเป็น "กะตรุด" โดยส่วนใหญ่จะเน้นด้านคงกระพันชาตรี ที่จริงแล้ว "ตะกรุด" เป็นหนึ่งในเครื่องรางของขลังที่ผูกพันกับคติความเชื่อในสังคมไทยมาช้านาน โดยเฉพาะในการรบทัพจับศึกเข้าสู่สนามรณรงค์สงคราม ตะกรุดจะติดตัวติดตามแบบไปไหนไปด้วยช่วยกันรบ

“ตะกรุด” โดยทั่วไปมักจะหมายถึง การนำโลหะแผ่นบางๆ อาจจะเป็นทองคำ เงิน นาก ตะกั่ว หรือโลหะธาตุผสมอื่นๆ มาลงอักขระเลขยันต์โดยโบราณาจารย์ ซึ่งจะใช้เหล็กจารเขียนพระคาถาผูกขึ้นเป็นมงคล ก่อนที่จะม้วนให้เป็นแท่งกลมโดยมีช่องว่างตรงแกนกลางสำหรับร้อยเชือกติดตัว หรืออาจจะถักด้วยเชือก หญ้า หรือด้ายมงคล แล้วนำไปจุ่มหรือชุบรัก ก่อนร้อยเชือก ตามกรรมวิธีของแต่ละคณาจารย์

ตะกรุดชุด หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ

ตะกรุดหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง

บรรดาเกจิอาจารย์ผู้ทรงคุณวิเศษ นิยมสร้าง ตะกรุดและเครื่องรางของขลังต่างๆ เพื่อป้องกันภยันตรายต่างๆ และเสริมส่งดวงชะตาราศีให้กับศิษยานุศิษย์และสาธุชนทั่วไปมาตั้งแต่อดีตมาจนถึงยุคปัจจุบัน ความเชื่อถือและความยึดมั่นในพุทธานุภาพแห่งเครื่องรางของขลังนั้นยังคงไม่เสื่อมถอยลงเลย ยิ่งในยุคปัจจุบันที่อะไรๆ ก็ไม่มีความเที่ยงแท้แน่นอน เป็นไปดังคำกล่าวขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแท้ ทั้ง เศรษฐกิจ การบ้านการเมือง ความเป็นอยู่ และภัยพิบัตินานัปการ จะเดินทางออกไปทำธุระ เที่ยวเตร่ หรือแม้แต่พักผ่อนอยู่ในเคหสถานของตนเอง ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่น้ำจะไหลหลากมา เมื่อไหร่จะเกิดพายุกระหน่ำ หรือเมื่อไหร่จะโดนลูกหลงตูม..ตูม ความหวาดผวาในเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดคิดนี้ ทำให้เกิดการเสาะแสวงหาเครื่องยึดเหนี่ยว เครื่องป้องกัน เพื่อความอุ่นใจและเป็นการสร้างเสริมกำลังใจแก่ตนและครอบครัว ความนิยมในวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังต่างๆ จึงกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่งครับผม

ตะกรุดหลวงพ่อทบ วัดชนแดน วัวธนูหลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทอง