โรงสีข้าวพระราชทาน ( จ.ประจวบฯ ) วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2524 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินในพิธีเปิดโรงสีข้าวพระราชทาน ณ นิคมสร้างตนเอง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ด้วยมีพระราชประสงค์ให้ราษฎรในพื้นที่สามารถสร้างผลผลิตข้าวไว้บริโภคภายในครัวเรือนและชุมชนของตนเอง ในช่วงระยะแรกโรงสีข้าวพระราชทานประสบปัญหาข้าวเปลือกที่ได้จากการทำนาในพื้นที่มีปริมาณไม่เพียงพอต่อการดำเนินกิจการ พระองค์จึงมีพรราชดำริให้สมาชิกของนิคมสร้างตนเองรวมกลุ่มกันทำแปลงนาข้าวเพื่อป้อนโรงสีสร้างผลผลิตสำหรับการบริโภคภายในชุมชนเป็นเบื้องต้นก่อน จากนั้นจึงนำส่วนที่เหลือจำหน่ายสู่ท้องตลาดเพื่อสร้างรายได้ อันนำมาสู่การพัฒนาสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ที่สามารถพึ่งตนเองและดำรงวิถีชีวิตอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ สร้างสุขให้แก่ราษฎรได้ร่มเย็นโดยทั่วกัน. ลูกเสือไทย วันที่ 1 กรกฎาคม พุทธศักราช 2512 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในพิธีสวนสนามเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ ณ สนามศุภชลาศัย และพระราชทานพระบรมราโชวาท มีใจความตอนหนึ่งว่า “ การที่ได้เข้ามาเป็นลูกเสือย่อมเป็นโอกาสให้ได้เข้ารับการฝึกฝนอบรมความรู้และความดีต่างๆ เป็นอันมาก ที่จะทำให้เป็นคนมีความเข้มแข็ง มีความสามารถ มีความคิด มีความสุจริตและมีน้ำใจ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่การดำเนินชีวิตในอนาคต” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงให้ความสำคัญและทรงสนับสนุนกิจการลูกเสือไทยอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ด้วยทรงตระหนักว่าการลูกเสือเป็นกิจการที่ผู้ใหญ่จัดขึ้นสำหรับเด็ก เพื่อฝึกฝนอบรมเด็กให้เติบโตขึ้นเป็นทรัพยากรทีมีคุณภาพของชาติ เพราะการสร้างเด็กให้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันข้างหน้าจะเน้นที่การสร้างความฉลาดด้วยวิชาการอย่างเดียวไม่ได้ แต่จำเป็นต้องสร้างความมีคุณธรรม ความมีวินัย การบำเพ็ญประโยชน์และความสมานสามัคคี อันจะนำมาสู่สังคมที่มีความสงบสุขและมีความเจริญ ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนสืบไป. ฝนหลวงเพื่อปวงไทย ปัญหาภัยแล้งเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยตลอดมา เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศต้องอาศัยน้ำในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่เมื่อฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานานย่อมส่งผลต่อการประกอบอาชีพ ทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงได้ทรงคิดค้นวิธีการทำฝนหลวง โดยทรงริเริ่มให้ผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาวิธีการทดลองปฏิบัติการทำฝนหลวงอย่างจริงจัง โดยอาศัยหลักการทางธรรมชาติอุตุนิยมวิทยา ควบคู่กับหลักการทางเคมีในการทดลองการเลี้ยงเมฆและบังคับเมฆให้เกิดเป็นฝน โดยปฏิบัติการทดลองครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 กรกฏาคม พ.ศ.2512 บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เมฆที่ทดลองเป็นเมฆคิวมูลัสฐานสูงประมาณ 3,900 ฟุต ยอดสูงประมาณ 5,600 ฟุต ปรากฏว่าหลังการปฏิบัติการประมาณ 15 นาที ก้อนเมฆรวมตัวกันหนาแน่นก่อยอดสูงและมีขนาดใหญ่ขึ้น สีของฐานเมฆได้เปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีเทาเข้ม พร้อมที่จะตกเป็นฝน..... นับเป็นก้าวแรกที่ส่งผลให้ฝนหลวงในการทดลองครั้งต่อๆ มาประสบผลสำเร็จ และนับแต่นั้นมาก็มีการทำฝนหลวงเป็นประจำสม่ำเสมอ เพื่อให้สายธารพระเมตตาที่โปรยปรายจากฟ้า ได้ช่วยชุบชีวาเกษตรกรไทยให้สามารถสร้างผลผลิตและหล่อเลี้ยงชีวิตต่อไปให้มีความชุ่มชื้นอย่างพอเพียง. หญ้าแฝกพระราชทาน คนไทยในสมัยก่อนคุ้นเคยกับหญ้าแฝกเป็นอย่างดี สังเกตได้จากหลักฐานทางภาษาที่ปรากฏอยู่ เช่นคำว่า หลังคามุงแฝก แต่การใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกด้านอื่นก็ไม่ได้มีไปมากกว่านั้น แต่ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกล ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงตระหนักถึงศักยภาพของหญ้าแฝกในอีกประการหนึ่งซึ่งคนไทยไม่เคยนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านนี้มาก่อน คือ หญ้าแฝกมีความสามารถในการช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน และอนุรักษ์ความชุ่มชื้นไว้ในดินได้ จึงมีพระราชดำริให้ดำเนิน การศึกษาทดลองเกี่ยวกับหญ้าแฝก มาตั้งแต่ปี 2534 และต่อมาเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2535 พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริ ณ โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ความตอนหนึ่งว่า "...ควรปลูกหญ้าแฝกเหนือแหล่งน้ำเพื่อเป็นแนวป้องกันตะกอนและดูดซับสารเคมี ตลอดจนของเสียต่างๆ ที่ไหลลงในแหล่งน้ำ เพราะหญ้าแฝกจะดูดซับสารพิษต่างๆ ไว้ในรากและลำต้นไว้ได้นาน จนสารเคมีนั้นสลายตัวเป็นปุ๋ยสำหรับพืชต่อไป..." นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานพระราชดำริให้พสกนิกรได้เรียนรู้ที่จะนำหญ้าแฝกมาใช้ดำเนิน การจัดการแหล่งน้ำ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน. อ่างพวง ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24กรกฎาคม พ.ศ.2535ณ พระราชวังไกลกังวลอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างระบบผันน้ำ จากอ่างเก็บน้ำหรือแหล่งน้ำที่มีศักยภาพที่ดีและมีความเหมาะสมไปลงอ่างเก็บน้ำห้วยตะแปดซึ่งมีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำในแต่ละปีน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ทำการเกษตรและอุปโภคบริโภคของราษฎรในบริเวณโครงการฯ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ดำเนินการสนองพระราชดำริ ด้วยการก่อสร้างระบบท่อผันน้ำจากอ่างฯ ห้วยตะแปดไปอ่างฯ ห้วยทราย ระบบท่อผันน้ำอ่างฯ ทุ่งขามไปยังอ่างฯ ห้วยตะแปด และอ่างฯ ห้วยทรายที่หุบกะพงและวางระบบท่อผันน้ำอ่างฯ ห้วยไทรงามไปยังอ่างฯ ทุ่งขาม เมื่อโครงการแล้วเสร็จก็สามารถผันน้ำปริมาณส่วนเกินที่จะไหลล้นอ่างฯ ทุ่งขาม ซึ่งเป็นแหล่งต้นทุนของน้ำในระบบท่อผันน้ำกระจายไปสู่อ่างฯ บริวารต่าง ๆ เพื่อใช้ประโยชน์จากปริมาณน้ำส่วนเกินนี้ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการช่วยเหลือการเพาะปลูกและการอุปโภคบริโภคของเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งระบบท่อผันน้ำวางผ่านให้ได้มีน้ำใช้ในกิจการต่างๆ อันจะเอื้อต่อการดำรงชีวิตแบบพอเพียงและมีความสุขแบบยั่งยืนตลอดไป. การศึกษาของเยาวชน “ การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างและพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติและคุณธรรมของบุคคล สังคมและบ้านเมืองใดให้การศึกษาที่ดีแก่เยาวชนได้อย่างครบถ้วน พอเหมาะกันทุกๆ ด้าน สังคมและบ้านเมืองนั้นก็จะมีพลเมืองที่มีคุณภาพ ซึ่งสามารถธำรงรักษาความเจริญมั่นคงของประเทศชาติไว้ และพัฒนาให้ก้าวต่อไปได้ตลอด “ ความตอนหนึ่งจากพระบรมราโชวาทที่พระราชทานไว้ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พุทธศักราช 2524 สะท้อนถึงแนวพระราชดำริของพระบาท สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชซึ่งทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาโดยเฉพาะในระดับเยาวชน พระองค์ทรงให้การสนับสนุนการศึกษาแก่เยาวชนอย่างทั่วถึง อาทิ การจัดสร้างโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารหลายแห่ง , การมอบทุนการศึกษา , การจัดตั้งโครงการพระดาบส อันเป็นรูปแบบการศึกษานอกระบบ ,การจัดตั้งโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เพื่อเผยแพร่ความรู้ไปสู่เยาวชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง รวมทั้งพระราชกรณียกิจอีกมากมายที่ล้วนส่งเสริมสร้างรากฐานการศึกษาให้แก่เยาวชน ซึ่งจะเติบโตเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความเจริญมั่นคงให้แก่ประเทศชาติสืบไป .