โครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขาจังหวัดปราจีนบุรี ตามพระราชดำริ วันที่ 3 กรกฎาคม พุทธศักราช 2525 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ไปทอดพระเนตรความก้าวหน้าของโครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขา จ.ปราจีนบุรี อันเป็นโครงการตามพระราชดำริ ในการพัฒนาพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมจากการถูกบุกรรุกแผ้วถาง อีกทั้งยังมีปัญหาความไม่สงบจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ให้สามารถพลิกฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ และความสร้างมั่นคงปลอดภัยในพื้นที่ โดยพระองค์ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนเริ่มต้นในการจัดตั้งโครงการ พร้อมทั้งพระราชทานแนวทางการพัฒนาไว้ 3 ด้าน คือ การพัฒนาทางด้านจิตใจของราษฎร, การพัฒนาทางด้านความรู้การประกอบอาชีพ และการจัดสรรที่ดินทำกินอยู่อาศัย ด้วยสายพระเนตรและน้ำพระราชหฤทัยแห่งพระมหากรุณาธิคุณ ได้พัดพาความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่ราษฎร และพลิกฟื้นผืนป่าเสื่อมโทรมให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์ พร้อมทั้งสร้างผืนดินและแหล่งน้ำให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูก สร้างรายได้ ก่อเกิดชีวิตใหม่ที่มั่นคงแล้วในวันนี้. โรงเรียนราชประชาสมาสัย วันที่ 6 กรกฎาคม พุทธศักราช 2515 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน คณะกรรมการโรงเรียนราชประชาสมาสัยในพระบรมราชูปถัมถ์ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลรายละเอียดเกี่ยว กับการก่อสร้างอาคารพยาบาลของโรงเรียนราชประชาสมาสัย อันเป็นโครงการต่อเนื่องในการสร้างสถานศึกษาให้แก่เด็กเยาวชน ซึ่งเป็นบุตรของคนไข้โรคเรื้อน ด้วยพระราชหฤทัยห่วงใยการเล่าเรียนของเยาวชน ซึ่งถูกแยกจากพ่อแม่ที่เป็นโรคเรื้อน พระบาทสมเด็จพระปปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริจัดตั้งโรงเรียนสำหรับอบรมให้การศึกษาแก่เยาวชนเหล่านี้ ให้สามารถดำรงชีวิตและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีเยี่ยงประชาชนทั่วไป ......นับจากนั้นโรงเรียนราชประชาสมาสัย ได้พัฒนาต่อเติมกลายเป็นสถานศึกษาที่มีความสมบูรณ์พร้อมสามารถเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล จนถึงมัธยมศึกษา ต่อมาได้ขยายเปิดรับเด็กนักเรียนทั่วไปเข้าเรียน และด้วยการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคเรื้อน จึงมีผู้ปกครองส่งบุตรหลานเข้าเรียนเป็นจำนวนมากโดยปราศจากความรังเกียจ ทำให้เยาวชนผู้ประสบเคราะห์กรรมเหล่านี้ได้รับโอกาสทางการศึกษา พร้อมทั้งสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข และได้เติบโตเป็นทรัพยากรที่มีค่าของประเทศชาติแล้วในวันนี้. ธนาคารข้าวฯ วันที่ 8 กรกฎาคม พุทธศักราช 2523 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ไปทรงเยี่ยมโครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขาจังหวัดปราจีนบุรีตามพระราชดำริและเสด็จพระราชดำเนินไปยังธนาคารข้าว เพื่อพระราชทานข้าวสารแก่กรรมการธนาคาร ทั้งนี้โครงการธนาคารข้าวเป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งพระราชทานความช่วยเหลือแก่เกษตรกรที่มีฐานะยากจน ให้สามารถยืมข้าวไปใช้บริโภคในยามเดือดร้อน และเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวของตนเองได้แล้วก็ให้นำมาคืนธนาคารข้าว พร้อมทั้งข้าวที่เป็นดอกเบี้ย โดยมีคณะกรรมการหมู่บ้านเป็นผู้ทำบัญชีและควบคุมดูแล อันก่อให้เกิดระบบการหมุน เวียนข้าวไว้บริโภคภายในหมู่บ้านอย่างไม่สิ้นสุด ด้วยพระวิสัยทัศน์อันลึกซึ้ง ปัจจุบันโครงการธนาคารข้าวได้ขยายการดำเนินงานไปยังท้องถิ่นต่างๆอย่างแพร่หลาย ซึ่งนอกจากจะสร้างแหล่งอาหารสำรองในพื้นที่แล้ว ยังนำมาสู่การสร้างระบบของชุมชน ซึ่งสามารถพึ่งตนเองและมีความเข้มแข็ง อันเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ เพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าสืบไป. พระราชดำริรากฐานแห่งการพัฒนา “ การจะพัฒนาทุกสิ่งทุกอย่างให้เจริญขึ้นนั้น จะต้องสร้างและเสริมขึ้นจากพื้นฐานเดิมที่มีอยู่ก่อนทั้งสิ้น ถ้าพื้นฐานไม่ดีหรือคลอนแคลนบกพร่องแล้ว ที่จะเพิ่มเติมเสริมต่อให้เจริญขึ้นไปอีกนั้น ยากนักที่จะทำได้ จึงควรจะเข้าใจให้แจ้งชัดว่า นอกจากจะมุ่งสร้างความเจริญแล้ว ยังต้องพยายามรักษาพื้นฐานให้มั่นคงไม่บกพร่องพร้อมๆกันไปด้วย ” พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่พระราชทานแก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2523สะท้อนถึงแนวพระราชดำริและหลักการทรงงานด้านการพัฒนาของพระองค์ ซึ่งทรงมุ่งเน้นการสร้างปัจจัยพื้นฐานของประเทศให้มีความมั่นคง ก่อนที่จะพัฒนาไปสู่ความเจริญในลำดับขั้นต่อไป พระองค์ทรงแก้ไขปัญหาให้แก่ราษฎรในชนบท ซึ่งเป็นรากฐานทางสังคมและเศรษฐกิจไทย ด้วยการจัดหาแหล่งน้ำ การปรับปรุงคุณภาพดิน เพื่อพัฒนาเกษตรกรรม การส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสมแก่ราษฎร ควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนและสมดุล เหนืออื่นใดคือการสร้างเสริมให้ราษฎรในแต่ละท้องถิ่นสามารถพึ่งตนเอง พออยู่พอกิน มีความสุขเป็นรากฐาน อันจะเป็นภูมิคุ้มกันในการพัฒนาประเทศอย่างมั่นคง และสร้างความเจริญก้าวหน้าให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน วันที่ 11 กรกฎาคม พุทธศักราช 2521 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน คณะกรรมการบริหารโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินโครงการ ทั้งนี้โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ก่อเกิดจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งทรงให้จัดทำสารานุกรมสำหรับครอบครัวคนไทยได้มีโอกาสเพิ่มพูนความรู้ ดังความส่วนหนึ่งของพระราชดำรัสที่ว่า “ สารานุกรมไม่ใช่ครู แต่ว่าจะช่วยให้คนอื่นที่ไม่ได้เป็นครูได้ เช่น พ่อแม่ ถ้าลูกถามปัญหาต่างๆ ก็อาศัยสารานุกรมนี้มาตอบได้ คนที่อ่านรู้เรื่องมากกว่า จะสอนน้องได้ แล้วการที่ดูสารานุกรมด้วยกันในครอบครัว จะช่วยให้เกิดความใกล้ชิดในครอบครัว ” พระองค์มีพระราชดำริให้แบ่งเนื้อหาในสารานุกรมออกเป็น 3 ระดับความรู้ แล้วพิมพ์ด้วยตัวอักษรขนาดต่างกัน สำหรับเด็กรุ่นเล็ก เด็กรุ่นกลางและเด็กวัยรุ่นรวมถึงผู้ใหญ่ ซึ่งนอกจากสารานุกรมฉบับปกแข็งที่จัดพิมพ์ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2516 แล้ว ปัจจุบันได้มีการจัดทำสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฉบับเสริมการเรียนรู้ในรูปเล่มกะทัดรัดเหมาะสำหรับการพกพา จนถึงการจัดทำสารานุกรมไทยในรูปแบบซีดีรอม เพื่อขยายโอกาสเข้าถึงผู้อ่านในวงกว้าง อันเป็นขุมทรัพย์ความรู้ที่ช่วยพัฒนาศักยภาพทางความคิด และสร้างความเจริญก้าวหน้าด้วยปัญญาให้แก่เยาวชนไทย. โครงการชั่งหัวมัน โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากแนวพระราชดำริในพระบาท สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เริ่มดำเนินงานเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2552 โดยมีพระราชประสงค์ให้โครงการนี้เป็นไร่แปลงเกษตรสาธิต ด้วยการรวบรวมพืชเศรษฐกิจของอำเภอท่ายางเช่น มะนาว หน่อไม้ฝรั่ง พริก มันเทศมาไว้ที่นี่ พระองค์ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ดินชาวบ้านบริเวณ ต.เขากระปุก ใน อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี 250ไร่ เพื่อจัดทำเป็นแปลงทดลองด้านการเกษตร มีการสำรวจและเร่งปรับปรุงพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งเดือน แต่ด้วยการร่วมแรงของทุกภาคส่วนจึงทำให้แผนงานระยะแรกสำเร็จก่อนกำหนด และเมื่อการปรับปรุงสมบูรณ์ตามแผนงานระยะที่ 1 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลแดุลยเดช และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง พร้อมด้วยท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม ไปทอดพระเนตรโครงการและทรงทำพิธีเปิดป้ายโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ พื้นที่แห่งนี้นอกจากจะเป็นแปลงสาธิตแล้ว ด้วยพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำกังหันลม เนื่องจากโครงการตั้งอยู่หน้าเขาสามารถใช้ลมที่พัดสอบเข้ามาผลิตกระแสไฟฟ้าจำหน่ายคืนให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อให้ราษฎรละแวกนั้นได้มีไฟฟ้าใช้อีกด้วย วันนี้สายธารพระเมตตาได้ช่วยให้ผืนดินที่เคยแห้งแล้งกลับกลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ที่สามารถสร้างสุขให้กับพสกนิกรได้อย่างแท้จริง. ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินยังโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.เขาชะงุ้ม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี พร้อมกับทรงปลูกต้นประดู่บริเวณอ่างเก็บน้ำเขาชะงุ้มอีกครั้ง หลังจากที่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในปี 2529 และ 2535 ซึ่งในครั้งนี้ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพื้นที่ป่าไม้บริเวณเชิงเขาเขียวที่ยังมีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรมมีต้นไม้ขึ้นกระจัดกระจาย มีความสมบูรณ์ต่ำและมีปริมาณพืชอาหารสัตว์อยู่น้อยมาก พระองค์จึงได้พระราชทานพระราชดำริในการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้กลับฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง โดยทรงให้ช่วยกันดูแลรักษาป่า อย่าไปรังแกป่า ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่มีใครรบกวนซัก 30-40 ปี ป่าแห่งนี้ก็จะฟื้นคืนสภาพเป็นป่าเบญจพรรณที่มีความหลากหลาย ทำให้แหล่งอาหารสัตว์มีความอุดมสมบูรณ์สูงขึ้น และปริมาณของสัตว์ป่าก็จะมีเพิ่มมากขึ้น จากวันนั้นถึงวันนี้ ผ่านมาแล้ว เกือบ 20ปี .......บริเวณพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมของเขาชะงุ้มก็ได้กลับฟื้นคืนสภาพเป็นป่าที่สมบูรณ์ตามธรรมชาติตามแนวพระราชดำริ ด้วยการปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูกแล้วอย่างแท้จริง. ผสานพลังตามแนวพระราชดำริ “ หลักการสำคัญประการหนึ่งที่จะส่งเสริมให้ปฏิบัติงานสำเร็จ และเจริญก้าวหน้าได้แท้จริง คือการไม่ทำตัวทำความคิดให้คับแคบ หากให้มีเมตตา และไมตรียินดีประสานสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ร่วมงานอย่างจริงใจ" พระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทาน เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2530 เป็นหลักการทำงานที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริง ดังจะเห็นได้จากการ ร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานต่างๆในการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริที่มีอยู่มากกว่า 4,000 โครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 ศูนย์ที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยมีสำนักงาน กปร. เป็นหน่วยงานกลางในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนานั้นสามารถน้อมนำแนวพระราชดำริต่างๆ มาปฏิบัติจนบังเกิดผลเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้า ทดลองหาตัวแบบแห่งความสำเร็จ พร้อมกับขยายผลไปสู่ราษฎร โดยทำหน้าที่เสมือนเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ที่รวมการพัฒนาแบบผสมผสานในลักษณะสหวิทยาการ มีการบริหารจัดการแบบบูรณาการและเป็นศูนย์ บริการแบบเบ็ดเสร็จที่จุดเดียว ซึ่งประชาชนที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษาและนำไปปรับใช้ในการดำรง ชีวิตของตนได้ การผสานพลังร่วมกันปฏิบัติงานตามพระบรมราโชวาทนั้นจะช่วยสร้างหนทางแห่งความสุขให้บังเกิดกับพี่น้องไทยได้อย่างยั่งยืน. ฟื้นฟูสภาพพื้นที่เขาเจ้าลายใหญ่ฯ ย้อนกลับไปในปี 2539 วันที่ 18 กรกฎาคม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งผ่านบริเวณเขาเจ้าลายใหญ่ ต.ชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และทรงเห็นร่องรอยการพังทลายของแท่งหิน ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่เรียกว่า โกศนางพันธุรัต พังทลายลงมา จึงทรงสอบถามถึงสาเหตุจนทรงทราบว่าในช่วงที่เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในช่วงฤดูฝน ปี 2537 แท่งหินนี้ได้พังทลายลงมาและอาจจะเกิดการถล่มซ้ำลงมาได้อีก พระองค์จึงทรงให้หาหนทางป้องกันมิให้ส่วนอื่นๆ ของเขาเจ้าลายใหญ่เกิดการพังทลายเพิ่มเติม ด้วยเหตุนี้เองโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูเขานางพันธุรัตอันเนื่อง มาจากพระราชดำริ ณ ต.ชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี จึงได้ถือกำเนิดขึ้น เพื่อดำเนินการตามแนวพระราช ดำริในการฟื้นฟูพื้นที่บริเวณที่เกิดการถล่มของเขานางพันธุรัตและพื้นที่บริเวณใกล้เคียง ด้วยการปรับ ปรุงสภาพพื้นที่ การปลูกหญ้าแฝกป้องกันการเลื่อนไหลของหินดินดาน ป้องกันการทำลายสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากกิจกรรมของราษฎร พร้อมทั้งปลูกจิตสำนึกของราษฎรในพื้นที่ให้มีความรับผิดชอบและเกิดความเข้าใจในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในถิ่นฐานของตน ทั้งหมดนั้นก็เพื่ออนุรักษ์สถานที่นี้ไว้เป็นมรดกของชาติและให้เยาวชนคนรุ่นหลังได้ศึกษาถึงตำนานของนางพันธุรัต ตัวละครสำคัญในวรรณคดีไทยเรื่องสังข์ทอง ซึ่งเป็นวรรณกรรมอันทรงคุณค่ายิ่งของประเทศสืบต่อไป.