หมอจ่ายยาผิดเกือบขิต! สาวหาหมอคลินิก วินิจฉัยเป็นรูมาตอยด์ แต่ให้ยาโรคเก๊าท์ สุดท้ายแพ้ยารุนแรง หมอท้าให้เจอที่ศาล
 
กรณีสาวรายหนึ่ง มีอาการไข้ ปวดตามเนื้อตัว ไปหาหมอที่คลินิก หมอดูอาการภายใน 3 นาที ก่อนระบุว่าเป็นโรครูมาตอยด์ ให้ยามาทาน โดยไม่มีการเขียนชื่อตัวยาบนหน้าซอง แถมยังจ่ายยารักษาโรคเก๊าท์มาให้ ทำเจ้าตัวเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง ผิวไหม้เกือบทั้งตัว ตาเกือบบอด กำเดาไหล เกือบเอาชีวิตไม่รอด ขณะที่หมอคลินิกปฏิเสธความรับผิดชอบ 

รายการโหนกระแส ออกอากาศวันที่ 12 ก.ค. 66 ดำเนินรายการโดย “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 สัมภาษณ์ ปุ๊ก ผู้เสียหาย มาพร้อมพ่อกับแม่ รวมทั้ง พญ.พักตร์เพียงเพ็ญ ศรวิบูลย์ศักดิ์ หน่วยโรคข้อและรูมาติสซั่ม ภาควิชาอายุศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์  และทนายแก้ว ดร.มนต์ชัย จงไกรรัตนกุล

เรื่องราวเกิดอะไรขึ้น?
ปุ๊ก : หนูไม่สบายเป็นไข้ ช่วงเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ตอนแรกหนูปวดตามตัว จับตัวก็รู้สึกเจ็บแล้ว เป็นไข้สัก 3 วัน หนูก็เข้าหาคลินิกกระดูก เพราะคิดว่าเป็นเกี่ยวกับกระดูก เขาก็วินิจฉัยหนูว่าเป็นรูมาตอยด์ เช็กร่างกายโดยการจับ 
ฉีดยาให้หนึ่งเข็มและให้ยามาทาน เขาฉีดยาอะไรหนูไม่ได้ถามค่ะ

เป็นคลินิก อยู่แถวๆ ไหน?
ปุ๊ก : อ่างทองค่ะ 

หมอได้แจ้งมั้ยเป็นยาอะไร?
ปุ๊ก : ยาอะไรหนูก็ไม่ทราบค่ะ จากนั้นหนูก็กินยาทานยา จนอากรเริ่มกลับมาเป็นอีกครั้งนึง 

เขาให้เรากิน 1 เม็ดสามเวลาทุกวัน พอกินทุกวัน อาการเป็นยังไง?
ปุ๊ก : หลังฉีดยา ไข้ก็ลด ทุกอย่างก็หายเจ็บ แต่พอกินยามาเรื่อยๆ มันเริ่มกลับมาเป็นอีกครั้งค่ะ 

กินยาแล้วแพ้เลยมั้ย?
ปุ๊ก : แรกๆ ไม่แพ้ค่ะ

ยาธรรมดากินไปแพ้เลยมั้ยหรือต้องใช้เวลา?
พญ.พักตร์เพียงเพ็ญ : สามารถแพ้ได้ตั้งแต่ ณ วันแรกที่คนไข้ใช้ยา หรือใช้ยาไปแล้วหลายวันหรือหลายเดือนแล้วเพิ่งมีอาการก็ได้ค่ะ 

จากนั้นยังไงต่อ?
ปุ๊ก : หนูกินยาหมดแล้ว ก็อดทนมา คิดว่าน่าจะหายไปอีก แต่ทีนี้เริ่มทนไม่ไหว ก็กลับไปหาคลินิกเขาอีกครั้งเป็นต้นเดือนพ.ค. เขาก็ให้ฉีดยาและกินยาเหมือนเดิมค่ะ หนูก็หายเหมือนเดิม แต่ชุดที่สองเนี่ย หนูเริ่มมีอาการในระยะเดือนนั้น เริ่มมีเป็นจุดขึ้นตามข้อเท้า และบริเวณหน้าขา แต่จุดกับเลือดกำเดาเว้นระยะ ไม่ได้เป็นภายในอาทิตย์นั้น แต่เป็นภายในเดือนนั้นค่ะ

เลือดกำเดาคืออะไร?
ปุ๊ก : เลือดกำเดาไหลด้วยค่ะ จากที่ไม่เคยไหลเลย 

จุดเป็นยังไง?
ปุ๊ก : คล้ายยุงกัด แต่ไม่ใช่ตุ่มนูนขึ้นมา ตอนนั้นหนูไม่สงสัยเพราะขึ้นตรงขานิดเดียว คิดว่ายุงกัดค่ะ

จากนั้นเป็นยังไง?
ปุ๊ก : มีตาแดงค่ะ แต่ตุ่มพอเป็นแล้วหายนะคะ แล้วก็เป็นเลือดกำเดา ต่อมาเยื่อบุตรงบริเวณตาแดง แล้วก็หาย พอมาช่วงเดือนพ.ค. 7 วันก่อนเข้ารพ. หนูเป็นไข้ขึ้นสูง ทานยาตัวนี้ก็ไข้ไม่ลดค่ะ 

อาการหนักขึ้นยังไง?
ปุ๊ก : หนักขึ้นเรื่อยๆ คือมีไข้ติดต่อกัน 7 วัน แล้วหนูก็เข้ารพ. หนูทำงานอยู่ปทุมฯ พอเป็นผื่นบริเวณคอ 

ผมร่วงหลุด?
ปุ๊ก : ตอนนี้ยังมีภาวะผมร่วงอยู่ค่ะ

พอเป็นแบบนี้ ไปที่ไหนก่อน?
ปุ๊ก : ไปรพ. แล้วค่ะ แอดมิทที่รพ.อ่างทองเวชการ ไปด้วยอาการหนาวสั่น เป็นไข้ขึ้นสูงประมาณ 40 เลยค่ะ รพ.ที่หนูเข้าครั้งแรกที่ไปห้องฉุกเฉิน ที่ปทุมธานี ก่อนมาอ่างทองเวชการ หมอก็วินิจฉัยว่าหนูอาจแพ้อะไร เขาดูลักษณะผื่นที่คอ ลองเจาะเลือดดูมั้ย พอเจาะเลือดเขาบอกมีภาวะเป็นไข้เลือดออก แต่ยังไม่ชัดเจนเพราะเกล็ดเลือดต่ำ เขาวินิจฉัยไปว่าอาจมีภาวะไข้เลือดออก

ผื่นเริ่มขึ้นเยอะก็เลยไปหาหมอ ไปรพ.แห่งนึง รพ.บอกว่ามีสิทธิ์เป็นไข้เลือดออก พอเจาะเลือดปรากฏว่า?
ปุ๊ก : เกล็ดเลือดต่ำค่ะ หนูก็กลับไปที่ห้องพักหนู รอให้แม่มารับ เพื่อไปรักษาที่อ่างทอง และแอดมิทที่รพ.อ่างทองวันนั้นเลยค่ะ แล้วหนูก็มีไข้ หนาวสั่น เอาใบที่หมอยืนยันว่าหนูมีภาวะเป็นไข้เลือดออก เกล็ดเลือดต่ำให้เขา แต่หมอห้องฉุกเฉินเขาก็ไม่เชื่ออยู่ดี เพราะผื่นบริเวณคอมันไม่ใช่อาการของไข้เลือดออก หนูก็แอดมิทเข้ารพ. รักษาตัวมา 12 วัน อาการก็ชัดขึ้นใน 3 วันแรก อาการพุพองไม่มี ปากเริ่มเป็นน้ำเหลือง เลือด เป็นมากขึ้นเรื่อย ระยะเวลาที่รักษาที่รพ. ไม่สามารถจับตัวเองได้เลย ให้พี่ดูแลตลอด หนูไม่มีแรงทำอะไรเลย แต่พอ 12 วันที่รักษา หนูกลับมารักษาที่บ้านต่อ หนูเริ่มหวีผมตัวเอง มันก็ร่วงมาเป็นกระจุก ร่วงเป็นกำๆ เลยค่ะ

จากนั้นเราเริ่มรู้แล้วว่าเราแพ้ยา เรารู้มั้ยยาตัวไหนที่กิน เขาให้มา 4 ตัว เรากลับไปถามมัย?
ปุ๊ก : หนูกลับไปถามที่คลินิกค่ะ ตอนช่วงแรกแม่เป็นคนเข้าไปถามกับคุณหมอ คุณหมอก็ไม่ให้ตัวยา ให้เภสัชและแพทย์ที่รักษาหนู เป็นคนโทรไปขอตัวยาเอง รพ.อ่างทองเขาวิเคราะห์ว่าเราแพ้ยา แต่ไม่รู้ยาตัวไหนค่ะ

เพราะในซองไม่ได้มีเขียนว่าเป็นยาอะไร แม่เองกลับไปถามที่คลินิกที่เขาจ่ายยามา แม่ถามว่ายังไง?
แม่ : ก็กลับไปยกมือไหว้เขา บอกว่าขอโทษนะ ไม่ได้โทษว่าลูกสาวแพ้ยาของหมอ อยากขอให้เขียนหน้าซองให้หน่อยว่าเป็นยาอะไร จะได้บอกหมอที่รพ.ที่รักษา 

พ่อ : หมอจะเอาชื่อยา แต่เขาไม่ให้ เขาบอกถ้าอยากได้ชื่อยา ให้เภสัชโทรมาหาเขา แล้วให้หมอใหญ่โทรมาหาเขา เขาถึงจะให้ ถ้าเราไปเอาเองเขาไม่ให้ ผมให้เขาดูรูปลูก เขาก็พูดแค่ว่า โห อาการหนักเลยเหรอ เขาก็บอกให้เภสัชโทรมา เภสัชก็ยังบ่นว่าโทรไปก็โดนหมอคนนี้ด่าเขา แต่ด่าอะไรผมไม่รู้ เขาบอกเขาโดนด่า เภสัชเขาพูดแบบนี้ 

เรากลับอีกมั้ย?
พ่อ : พอลูกผมขอออกจากรพ. ค่าใช้จ่ายมันเยอะ ผมว่าไปรักษาอยู่บ้านได้มั้ย หมอบอกว่าได้แต่ต้องมาหาหมอ หมอให้มาวันไหนก็ต้องมา ผมกลับไปอยู่บ้าน แล้วไม่รู้คิดยังไงกัน เราก็กลับไปหาหมอทึ่คลินิกนั้น บอกว่าลูกเราแพ้มาก อยากให้ดูให้หน่อย เขาก็ไม่รับรู้อะไร เขาบอกยาเขาไม่แพ้ กินตั้งนานมาแพ้ได้ไง 

มีหลักฐานมั้ย
พ่อ : ลูกสาวอัดเสียงไว้ครับ เขาก็พูดมาคำนึงว่าถ้าอยากจะได้อะไร ให้ไปเจอกันที่ศาล เมียเขาก็บอกว่าไปแจ้งความเลย เอาอะไรมาลงที่คลินิกเขาเลย ผมก็บอกว่าทำไมต้องให้ถึงโรงถึงศาล เรื่องเกิดที่คลินิก ก็ให้จบที่คลินิกได้มั้ย เมียเขาบอกว่าไปเลย ไปแจ้งความเลย ท้าอีก

น้องรู้ได้ไงว่าแพ้ยา 1 ใน  4 ตัวนี้ที่หมอให้มา?
ปุ๊ก : หนูรักษาดวงตา รักษาพังผืดที่ตา เพราะตาจะบอด คุณหมอไม่มีเครื่องมือหรือยาหยอดตาที่จะทำให้พังผืดละลายได้ เขาเลยส่งตัวหนูไปธรรมศาสตร์ฯ หมอใหญ่ที่รักษาตัวหนูให้เอายานี้ติดไปด้วยค่ะ หนูกับแม่ก็อยากนำยาไปตรวจ เราจะได้รู้ว่าเราแพ้ยาตัวไหนกันแน่ จากนั้นเขาก็เขียนชื่อตัวยามาทั้งหมด 

อาจารย์ 4 ตัวนี้ มีตัวไหนเกี่ยวข้องกับรูมาตอยด์?
พญ.พักตร์เพียงเพ็ญ : ตัวเม็ดสีส้มค่ะ เป็นชื่อเพรดนิโซโลน เป็นยากลุ่มสเตียรอยด์ ใช้ในกรณีที่คนไข้มีโรคข้ออักเสบ อาจจากรูมาตอยด์ หรือโรค SLE แพ้ภูมิตัวเอง หรือโรคอื่นๆ ในกลุ่มนี้

ยาตัวสีชมพู ยาอะไร?
พญ.พักตร์เพียงเพ็ญ : ยาแก้ปวด ชื่อว่า ทรามาดอล ขนาด 50 มิลลิกรัม เป็นยาแก้ปวด ใช้ในกรณีคนไข้มีอาการปวดรุนแรง หรือมีข้อห้ามในการใช้ยาแก้ปวดตัวอื่น เช่นพาราเซตามอล หรือยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์

หนูแพ้ยาอะไรบ้าง?
ปุ๊ก : แพ้ยาพารา แจ้งหมอคลินิกไปแล้วค่ะ

อีกตัว?
พญ.พักตร์เพียงเพ็ญ : อันนี้เป็นยาลดกรดในกระเพาะชื่ออะลูมิเนียม อะไรสักอย่าง จ่ายกรณีคนไข้ได้ยาบางอย่างที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร ซึ่งก็คือตัวสีส้มค่ะ

ตัวสุดท้ายคืออะไร?
พญ.พักตร์เพียงเพ็ญ : Allopurinol เป็นยาใช้รักษาโรคเก๊าท์ค่ะ ไม่ได้เกี่ยวกับรูมาตอยด์ เป็นยาลดกรดยูริค 

อัตราการแพ้เป็นยังไง?
พญ.พักตร์เพียงเพ็ญ : จากการศึกษาในคนไข้แถบเอเชีย มีสัดส่วนแพ้ยาประมาณ 8-10 เปอร์เซ็นต์ ความเสี่ยงในการแพ้ยาจะเกี่ยวข้องกับส่วนที่เป็นพันธุกรรมและไม่ใช่พันธุกรรม ส่วนเป็นพันธุกรรมคือยีนส์ที่ชื่อว่า HLA-B*58:01 ส่วนที่ไม่ใช่พันธุกรรม หมอจะสอนให้นักศึกษาแพทย์พูดว่า แกงอ่อมโรคไตกิน diuretic อ่อมคือคนไข้อายุเยอะ โรคไตคือคนไข้มีการกลั่นกรองของไตค่อนข้างน้อย หรือมีโรคไต สุดท้ายคนไข้ที่กินยาขับปัสสาวะ คือยา diuretic 

น้องแพ้ยาตัวไหน?
ปุ๊ก : แพ้ยาตัวนี้ค่ะ วันนึงกิน 3 เม็ดค่ะ ชุดแรกกินไปหมดแล้ว นี่ชุดสอง ชุดแรกมีอาการเป็นตุ่มค่ะ วันแรกที่กินไม่มีอะไร มันขึ้นน่าจะกินไปสัก 3-4 วันค่ะ

เราก็ไม่ได้รู้ว่าแพ้ยา?
ปุ๊ก : ใช่ค่ะ ปกติแพ้ยาหนูจะขึ้นผื่นบริเวณปาก และผื่นตามคอ แต่ไม่ได้เป็นเม็ดเล็กๆ แบบนี้นะคะ เป็นลมพิษขึ้นนูน

อันนี้ขึ้นเป็นจ้ำๆ แดงๆ เล็กๆ?
ปุ๊ก : ใช่ค่ะ หนูคิดว่ายุงกัด ก็ไม่ได้ใส่ใจ

ทนายแก้ว : หมายความว่ารูมาตอยด์ กับยูริค แยกออกจากกันชัดเจน

พญ.พักตร์เพียงเพ็ญ : คนละโรคเลยค่ะ

ทนายแก้ว : ดังนั้นการวิเคราะห์ของหมอเองไม่ควรวิเคราะห์รวมกันแบบนี้ใช่มั้ยครับ

พญ.พักตร์เพียงเพ็ญ : ขึ้นอยู่กับคนไข้แสดงอาการค่ะ อาการตอนแรกอาจคล้ายคลึงกัน ต้องมีการตรวจเพิ่มเติมอย่างอื่น อาจตรวจเลือด ถ้าในข้อมีอาการบวม มีน้ำในข้อ อาจต้องเจาะน้ำในข้อมาวินิจฉัย

ถ้าคลินิกสงสัยเขาสามารถสั่งยาให้กินก่อนได้มั้ย?
พญ.พักตร์เพียงเพ็ญ : ถ้าอาการชัดเจน เช่นอาการข้ออักเสบชัดเจน มีผื่นที่จำเพาะเจาะจงกับโรคนั้นๆ เราสามารถให้การวินิจฉัยได้เลย และให้การรักษาได้เลยในกรณีที่อาการยังไม่ชัด หรือตรวจไม่พบลักษณะอื่นๆ ที่พอจะชี้ว่าเป็นโรคอะไร อาจมีการตรวจเพิ่มเติมโดยการใช้ห้องปฏิบัติการ หรือเจาะน้ำในข้อไปตรวจ 

ทนายแก้ว : กรณีของน้องอาการภายนอกมันบอกมั้ยว่าเป็นรูมาตอยด์ เป็นจ้ำมั้ย 

ปุ๊ก : ยังค่ะ เป็นแค่ไข้และเจ็บตามตัวค่ะ 

ทนายแก้ว : การวินิจฉัยแบบนี้ควรเข้าห้องแล็บก่อนถูกมั้ยครับหมอ

พญ.พักตร์เพียงเพ็ญ : โรคข้ออักเสบบางโรคอาการคล้ายๆ กัน เช่นมีไข้ปวดข้อ อาการเหล่านี้เป็นได้หลายโรคเลย อาจต้องใช้ลักษณะการตรวจร่างกายบางอย่าง เช่นมีก้อนรูมาตอยด์หรือเปล่า แต่ละโรคข้อก็ไม่เหมือนกัน รูมาตอยด์ชอบข้อที่ขยับได้ ถ้าเป็นนิ้วมือจะเป็นข้อบริเวณกลางนิ้ว โคนนิ้ว หรือข้อมือ แต่จะไม่เป็นปลายนิ้วค่ะ 

ทนายแก้ว : วันที่น้องไปปวดข้อแบบนี้มั้ย

ปุ๊ก : รู้สึกเจ็บเนื้อตัวค่ะ

รูมาตอยด์เจ็บเนื้อตัวได้มั้ย?
พญ.พักตร์เพียงเพ็ญ : ได้ค่ะ

ล่าสุดไปตรวจเพิ่มมั้ยว่าน้องเป็นรูมาตอยด์มั้ย?
พ่อ : ไปที่รพ.อ่างทองเวชการ ถามคุณหมอ ตอนแรกจะให้ลูกตรวจรูมาตอยด์ แต่หมอใหญ่เขาเอาเลือดไปตรวจเขาบอกว่าไม่ได้เป็นรูมาตอยด์ ไม่ต้องตรวจแล้ว ไม่เกี่ยวเลย

ทำยังไง?
พญ.พักตร์เพียงเพ็ญ : การตรวจเลือดรูมาตอยด์ ปัจจุบันมีแล็บที่ส่งตรวจ 2 ตัว คือรูมาตอยด์แฟกเตอร์ และ antiCCP ซึ่งสองตัวนี้โอกาสเป็นบวก 70 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นหมายความว่าอีก 30 เปอร์เซ็นต์เป็นลบ แต่คนไข้เป็นโรค อาจใช้วิธีการตรวจอื่นๆ เช่น ดูภาพถ่ายทางรังสี หรือตรวจแล็บโรคอื่นๆ ที่แสดงโรคคล้ายคลึงกันกับรูมาตอยด์  
 
จะรู้ได้ไงว่าไม่แพ้?
พญ.พักตร์เพียงเพ็ญ : อันดับแรกต้องพูดคุยซักประวัติ ประเมินความเสี่ยงก่อน อย่างคนไข้อายุเยอะหรือเปล่า คนไข้มีโรคไตเป็นโรคร่วม หรือคนไข้กินยาขับปัสสาวะ ถ้าสามารถตรวจ HLA-B*58:01 ตรวจได้ก็ตรวจ แต่ไม่จำเป็นต้องตรวจทุกราย เนื่องจากปัจจุบันเราไมมีแล็บส่งได้อย่างใกล้ชิด ยังมีที่จำกัดในการส่งแล็บ อาจต้องประเมินความเสี่ยงดูแลคนไข้ แต่พอตามประวัติคนไข้ไปที่มีการแพ้ยาจริงๆ ประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ การที่มีแต่ตัวพันธุกรรมอย่างเดียว ไม่ใช่ปัจจัยทำให้คนไข้แพ้ยา อาจมีอย่างอื่นด้วย เช่นการใช้ยาขนาดสูงหรือกลับยาอย่างรวดเร็ว อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้คนไข้แพ้ยา 

มุมข้อกฎหมายมองยังไง?
ทนายแก้ว : การวินิจฉัยโรคของแพทย์ เราต้องให้ความเป็นธรรมก่อน ว่าบางชนิดของโรคอาจวินิจฉัยด้วยการสอบถามได้ แต่บางอย่างต้องมีการเข้าห้องแล็บ เข้าใจว่ากรณีของน้องเองเมื่อกายภาพภายนอกไม่สามารถดูได้ว่าเป็นรูมาตอยด์ ก็ควรต้องมีการเข้าแล็บ ดังนั้นการวินิจฉัยโรคของหมอถ้าทำโดยการประมาทเลินเล่อ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา รักษาเกิน 20 วันก็ประมาททำให้อันตรายสาหัส ก็มีโทษจำคุก 6 เดือนถึง 10 ปี ถ้าหมอประมาท แต่บุคคลทั่วไปไม่ทราบเลยว่าสลากที่ติดอยู่ในซองยา ประกาศของสาธารณสุข เรื่องมาตรฐานการให้บริการสถานพยาบาลเกี่ยวกับสลากยา กฎหมายกำหนดไว้ในปี 2065 ในข้อที่ 4 ว่าในซองยาต้องมีการระบุอย่างน้อย ชื่อสถานที่บริการ ต้องมีชื่อยาในซองยานั้น ต้องมีเบอร์ติดต่อทุกอย่างถ้าซองยาไม่ระบุชื่อรายละเอียดผู้ป่วย หรือไม่มีชื่อยาแบบนี้มีความผิดครับ

อันนี้ไม่มีชื่อยา?
ทนายแก้ว : กฎหมายฉบับนี้เป็นประกาศสาธารณสุข เรื่องการให้บริการของสถานเกี่ยวกับสลากบรรจุยา ซึ่งเพิ่งออกปีที่แล้ว มีการออกมาใช้กันว่าคลินิกต่างๆ ที่จะมีการจ่ายยา ต้องมีการระบุชื่อยา วัน เวลา หมดอายุ รูปแบบการกินการใช้ต่างๆ ที่สำคัญต้องมีชื่อตัวยาเขียนในซองยา 

ไปหาคุณหมอ แล้วหมอจ่ายยามา ถ้าไม่มีชื่อยา สามารถถามเขาได้เลยว่าทำไมไม่เขียน?
ทนายแก้ว : ถูกครับ

บางคนบอกว่าเขียนไปเสียเวลา ชาวบ้านเขาไม่รู้ เขียนทำไม สองเขียนไปแล้วชาวบ้านรู้ชื่อยา ต่อไปก็ไปซื้อเอง ไม่กลับมาซื้อกับรพ.หรือคลินิก ขาดรายได้อีก ไม่ได้โทษหมอนะ แต่มีช่องว่างเหมือนกันแบบนี้ หมอดีๆ มีเยอะ กราบขออภัยจริงๆ พูดเรื่องหมอมันอ่อนไหวมาก แต่มีเหตุเฉพาะจริงๆ ผมก็ต้องบอกว่าในแต่ละองค์กรเขาไม่ได้ผิดอะไร มันจะมีเรื่องคนในองค์กรบางคน แต่บางครั้งคนกระทำความผิดแค่คนเดียวก็ทำให้ปลาเน่าทั้งข้อง แบบนี้จะทำยังไงต่อไป ธงของเราต้องการอะไร?
พ่อ : อยากให้หมอรับผิดชอบให้หน่อย ลูกผมใช้ชีวิตไม่ปกติแล้ว สายตาสั้นลง ร่างกายก็เหมือนมีเชื้อโรคติดตัวกับตัวเอง ลูกผมเพิ่งเรียนจบ ทำงานได้ 2 เดือน คนดีๆ ไปหาหมอ หมอชี้ชัดว่าเป็นรูมาตอยด์แล้วจ่ายยาให้มา แล้วทำให้ลูกผมเป็นแบบนี้

ทนายแก้ว : หมอใช้เวลาวินิจฉัยโรคเรานานมั้ย

ปุ๊ก : ประมาณ 3 นาทีค่ะ 

ทนายแก้ว : ทำไมเร็วจัง เขาบอกเลยเหรอว่าเป็นรูมาตอยด์ และจ่ายยาเลย

พญ.พักตร์เพียงเพ็ญ : จริงๆ อาจต้องตรวจร่างกาย ดูผื่น ดูผม ดูหลายๆ อย่างประกอบกัน ชีวิตจริงเวลาหมอตรวจ ต้องตรวจดูผม ดูหู ดูตามข้อ จับทุกข้อ 

ปุ๊ก : เขาก็จับบริเวณนี้ แต่ไม่ได้ตรวจไข้ ไม่ได้อะไร ทั้งที่หนูบอกว่าเป็นไข้ด้วย 

อาจารย์มองไง เขาไม่เขียนชื่อยา?
พญ.พักตร์เพียงเพ็ญ : ตอนที่เจอก็ลำบากใจเหมือนกันว่าชื่อยาอะไร เลยต้องรบกวนเภสัชกร บางทีตัวยาเดียวกันแต่คนละบริษัท ทำกันคนละสี เม็ดคนละแบบ เราจะไม่รู้ 

สมมติพาราฯ มีหลายชื่อ มีซาร่า ไทลินอล มีโน่นนี่นั่น แต่ตัวยาคือพาราฯ พอทำออกมา บางทีไม่ได้ระบุว่าตัวนี้ชื่อนี้ คือพาราเซตามอล คนไข้แพ้เขาไม่รู้นะว่าชื่อยาอะไร ยาตัวนี้ไม่เขียนเลย ขอร้องอาจารย์หมอ หรือหมอที่เปิดคลินิก เวลาจ่ายยาคนไข้สละเวลาสักนิดนึง เขียนชื่อยาไปสักนิด อย่าคิดว่าเขียนไปชาวบ้านไม่รู้หรอกว่ายาอะไร อย่าคิดแค่นั้น เขาเป็นมนุษย์ เขามีสิทธิ์รับรู้ว่ายาอะไรที่เขากินเข้าไป อย่าไปดูถูกชาวบ้าน ว่าเขาจะไม่รับรู้ว่ายาอะไร กับสองรวยแล้ว ไม่ต้องไปคิดหรอกว่าเขียนยาไปแล้วเขาจะไปซื้อยากินเอง ไม่กลับมาหาคุณ เลิกคิดแบบนี้สักที มันลำบาก ประเทศไทยแค่นี้ก็ลำบากมากแล้ว มุมนี้ ข้อเท็จจริงควรเป็นแบบนี้มั้ย?
พญ.พักตร์เพียงเพ็ญ : ถ้าย้อนกลับไป ณ ตอนนั้นแล้วตรวจร่างกายเข้าได้กับรูมาตอยด์จริงๆ ยาที่ได้มาพอรักษารูมาตอยด์ได้คือตัวเม็ดสีส้ม แต่ตัวเม็ดสีขาวที่กินเช้ากลางวันเย็น อาจไม่เหมาะสมที่เอามาใช้ในคนไข้โรครูมาตอยด์ 

ไม่รู้ด้วยว่าเขาเป็นรูมาตอยด์จริงมั้ย การจ่ายยาเก๊าท์มันได้เหรอ?
พญ.พักตร์เพียงเพ็ญ : ไม่แน่ใจเหมือนกัน ตอนนั้นที่ตรวจร่างกาย มีข้ออักเสบเยอะหรือเปล่า ถึงได้มีการสั่งยา ณ ตอนนั้น

ทนายแก้ว : มุมกฎหมายจะมองว่าหมอประมาทหรือไม่ประมาท คือการรักษาโรคหรือวินิจฉัยโรคต้องเป็นมาตรฐานตามที่หมอทั่วไปดำเนินการ เราต้องให้ความเป็นธรรมว่าหมอท่านนี้อาจวินิจฉัยโรคยังไงผมไม่ทราบในตอนนั้น แต่ดูว่ามาตรฐานของแพทย์เขาทำแบบนี้มั้ย ถ้าไม่ได้ทำแบบนี้ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐาน ถือว่าประมาทได้ เมื่อประมาทแล้วทำยังไง ก็ต้องไปดูผลที่เกิดขึ้น หากทำให้เกิดอันตราย รักษาเกิน 20 วัน ก็เป็นอันตรายสาหัส ก็ปรับไปมาตรา 297 ประมวลกฎหมายอาญา แต่อย่างไรก็ตาม เราต้องการค่าเสียหายส่วนแพ่ง เรามีสิทธิ์เรียกร้องความเสียหายส่วนแพ่งได้ด้วย จุดนี้ขอถามอาจารย์ การรักษาหรือวินิจฉัยของแพทย์ท่านนี้ ถือว่าทำตามสแตนดาร์ดมั้ย

พญ.พักตร์เพียงเพ็ญ : ก็ถือว่าทำตามสแตนดาร์ด มีการซักประวัติ ตรวจร่างกาย รวมถึงประวัติที่สำคัญ แต่ด้วยความโรคข้อและแพ้ภูมิตัวเอง โรคนี้ประเทศไทย แพทย์ที่เชี่ยวชาญสาขานี้ มีประมาณ 200 กว่าคน และมีไม่ครบทุกจังหวัด จังหวัดอ่างทองยังไม่มีแพทย์สาขานี้ แต่ว่ามีคุณหมอที่กำลังศึกษาอยู่ อีก 2 ปีจะกลับไป อดทนอีกนิดนึง ด้วยความที่คุณหมอสาขานี้น้อยมากๆ เราเลยพึ่งพาคุณหมอสาขาอื่น เช่นคุณหมอกระดูก อายุรกรรม ช่วยเป็นหูเป็นตาแทนเรา แต่โดยส่วนตัวหมอเอง ในฐานะเราเป็นหมอโรคข้อและรูมาติสซั่ม ถ้ามีคนไข้แบบนี้ส่งตัวมา เรายินดีให้ความช่วยเหลือทุกประการ เพราะเราเข้าใจบริบทประเทศไทย หมอสาขานี้มีน้อยมากจริงๆ 

ทนายแก้ว : ตอนนี้ถ้าไปที่ทางออกเลย เราควรไปแจ้งความ ให้พนักงานสอบสวนเป็นต้นเรื่องสอบสวนเรื่องการวินิจฉัยทั้งหมด การเรียกร้องค่าเสียหายก็ต้องเก็บใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลต่างๆ เพื่อเรียกร้องส่วนแพ่งให้ได้  กรณีตร.เองจะวินิจฉัยว่าประมาทหรือไม่ประมาท ก็เป็นรายละเอียดที่เราหรือแพทย์ต้องให้ข้อมูลกัน ต้องแจ้งความให้เป็นคดีก่อนครับ 

แจ้งความหรือยัง?
พ่อ : ยังเลยครับ เคยไปแล้ว แต่โรงพักบอกว่าให้ไปหาที่สาธารณสุขก่อน ไปปรึกษาสาธารณสุขดูก่อน 

พ่อไปหาสาธารณสุข แต่เขาบอกว่าเขาดำเนินการให้ไม่ได้?
พ่อ : เขาบอกดำเนินการได้ แต่จะช้าครับ 

ข้อพิพาทที่เกิดขึ้น เกิดจากเราและคลินิกเอกชน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับฝั่งสาธารณสุข เขาเลยคุมเรื่องนี้ให้ไม่ได้ แต่พอไปหาตร. ตร.บอกให้ไปหาสาธารณสุข พ่อก็เลยบอกว่าเรื่องนี้เป็นคดีระหว่างผมกับเอกชน ตร.ต้องเข้าใจก่อน ไปแจ้งที่ไหน?
พ่อ : สภ.เมืองอ่างทอง 

ตร.ต้องเข้าใจด้วยนะ ไม่เกี่ยวกับภาครัฐ เขาไม่จำเป็นต้องไปหาสาธารณสุขก็ได้?
ทนายแก้ว : เชื่อเถอะว่ากรณีนี้เราต้องรักษาสิทธิ์ของเราก่อน หมอจะประมาทหรือไม่เป็นเรื่องรายละเอียด อาจมีข้อผิดพลาดก็เป็นเรื่องพออลุ่มอล่วย แน่นอนแพทย์อาจไม่ได้ต้องการให้น้องเป็นแบบนี้

พ่อ : จะมีหน่วยงานไปตรวจสอบหน่อยไม่ได้เหรอ เขาต้องรักษาคนอีกเป็นร้อยเป็นพันคน จะผิดพลาดแบบนี้ไปอีกกี่คนเหรอ

ทนายแก้ว : การร้องเรียนแพทยสภา ทำได้ครับ แต่ยังไงการร้องเรียนก็ต้องมีเอกสารที่พี่ไปลงบันทึกประจำวันหรือแจ้งความดำเนินคดีมาพิงให้แพทยสภาวินิจฉัย ต้องเป็นไปทีละขั้นตอน ตร.ต้องไปนั่งสอบปากคำ มีแพทย์สาขาอื่น โดยเฉพาะอาจารย์มาให้คำแนะนำว่าการวินิจฉัยโรคฟังอย่างเดียวมั้ย ต้องเจาะเลือดมั้ย ต้องมีรายละเอียดเยอะครับ 

ตอนนี้ติดใจว่าเขาวินิจฉัยผิด?
พ่อ : ครับ ลูกผมไม่ได้เป็นรูมาตอยด์ แล้ววินิจฉัยว่าเป็นรูมาตอยด์ กินยาจนแพ้ มีอีกหลายคนที่บอกว่าหมอคนนี้เหรอ เป็นไข้แทบตาย แพ้ยา หนาวสั่น ขาสั่น กับหมอคนนี้ครับ

ทนายแก้ว : ทำไมดันจ่ายยาไม่ตรงกับที่วินิจฉัย การจ่ายยาโรคเก๊าท์ไม่เกี่ยวกับรูมาตอยด์ใช่มั้ย

พญ.พักตร์เพียงเพ็ญ : ไม่เกี่ยวค่ะ 

เหมือนจ่ายครอบจักรวาล พูดง่ายๆ ไม่มีความรู้อะไร เอาไปครอบจักรวาล ตัวนึงตัวใดเดี๋ยวหายเอง?
ทนายแก้ว : มันได้เหรอ นี่ชีวิตคน 

อาจเป็นไปได้มั้ยเขาเป็นคลินิก เขาเจาะเลือดไม่ได้ในการไปตรวจ เพราะไม่มีแล็บอยู่แล้ว เขาอาจจ่ายยาให้เลยเบื้องต้น?
ทนายแก้ว : ผมว่าหมอไม่กล้าฟันธงน่าจะให้กลับไปเจาะเลือดก่อนนะครับ แค่ 3 นาทีเอง ลูบๆ คลำๆ ฟันธง แล้วจ่ายยากั๊กๆ อีก ได้เหรอ

ลักษณะเหมือนหมอครอบจักรวาล?
พญ.พักตร์เพียงเพ็ญ : เดาว่าให้คนไข้บรรเทาช่วงมีอาการไว้ก่อน 

ธงคือต้องการให้เขาเยียวยาค่าเสียหาย?
พ่อ : ผมอยากให้เขารับผิดชอบหน่อย การจ่ายยาไม่ใช่จ่ายยาแล้วเสร็จเลย ต้องรับผิดชอบในการตรวจให้ละเอียดกว่านี้หน่อย ชาวบ้านบางคนเขาไม่รู้เรื่องหรอก ให้ยาพิษเขาก็กิน ให้ยาถูกโรคเขาก็กิน เพราะเขาเชื่อใจหมอ แล้วหมอไม่มีขอโทษอะไรเลย 

เขาบอกไม่ใช่ยาของเขา?
พ่อ : เขาบอกทางเราไปซื้อยากินเอง เขาจ่ายยามาอีกเยอะเลย ตัวที่แพ้ แต่ดันมาแพ้ก่อน 

 ธรรมศาสตร์รู้ได้ไง?
พ่อ : เขาบอกว่ายาตัวรุนแรง แม้แต่เภสัชยังไม่เอามาใช้เลย เขาบอกถ้าจะกินต้องตรวจเลือดต้องเข้าหาเซลล์กับคนไข้ก่อนถึงกินยาตัวนี้ได้ เภสัชธรรมศาสตร์บอก

พญ.พักตร์เพียงเพ็ญ : คนไข้ที่กินยาตัวนี้อาจต้องตรวจก่อน เพราะคนเอเชียแพ้ยาตัวนี้เยอะเลยค่ะ เป็นยากลุ่มเสี่ยง 

พ่อ : เขาบอกยาอันตรายขั้นรุนแรง

แต่นี่ดันจ่ายมาโดยไม่เช็กเลือด ให้เอาไปกินเลย น่ากลัวไปใหญ่?
ทนายแก้ว : แจ้งความครับ เราสามารถรักษาสิทธิ์ของเราได้ 

พญ.พักตร์เพียงเพ็ญ : สำหรับคนไข้ที่เป็นโรคเก๊าท์ จำเป็นต้องได้ยาลดกรดยูริค อาจต้องมีการประเมินความเสี่ยงก่อนเริ่มยา โดยเฉพาะยาที่ชื่อ Allopurinol ความเสี่ยงในการแพ้ยาคือคนไข้สูงอายุ คนไข้โรคไต คนไข้ใช้ยาขับปัสสาวะ รวมถึงตัว HLA-B*58:01 อย่างไรก็ตาม ตัวนี้ไมได้หมายความว่าต้องส่งทุกคนนะคะ ถ้าอยู่ในที่ที่สามารถส่งได้ ก็แนะนำว่าควรตรวจก่อนเริ่มยา ถ้าตรวจไปแล้วผลเป็นลบ ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดการแพ้ยาเช่นกัน เพราะปัจจัยเรื่องการแพ้ยาไม่ได้มีเรื่องตัวพันธุกรรมอย่างเดียว

ทำไมจ่ายให้คนไข้กินทั้งที่วงการแพทย์ก็รู้อยู่แล้วว่าต้องแมตซ์เลือดเสียก่อน?
ทนายแก้ว : นี่อาจเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคุณหมอน่าจะประมาท

เวลาไปขึ้นศาล จะมีหมอคนไหนกล้าไปให้ปากคำ หรือไปช่วยเป็นพยานมั้ย?
ทนายแก้ว : กรณีนี้เป็นปัญหาแต่ไม่ใช่เรื่องทำไม่ได้เลย เราสามารถเอาบทความบทวิจัยต่างๆ ไปนำสืบประกอบได้ หรือเอาเรื่องคนไข้หรือแพทย์ที่สัมภาษณ์ไปประกอบก็ได้

เอาเทปวันนี้ไปให้ศาลดู ง่ายดี เดี๋ยวศาลจะเรียกคุณหมอไปเอง?
พญ.พักตร์เพียงเพ็ญ : (หัวเราะ) ให้คำแนะนำในเรื่องวิชาการค่ะ 

อย่างน้อยคุณหมอท่านนี้จะได้ตระหนัก ไม่ใช่ทำแบบเร่งรีบขาดความรับผิดชอบ ฝากถึงชาวบ้าน ยังยืนยันว่าคุณไปหาหมอแล้ว มีความจำเป็นเวลาได้รับยามา ถ้าหมอไม่ได้มีการเขียนชื่อตัวยาในซอง คุณต้องบอกให้เขาเขียนนะ ว่าชื่อยาอะไร ชื่อยาทางการค้าคืออะไร ชื่อสามัญคืออะไร เพราะเราไม่รู้เลยว่าคุณที่ไม่เคยแพ้ยา คุณอาจแพ้ยาตัวนั้นก็ได้ แต่พอรู้ตัวนี้มันอาจช่วยชีวิตคุณทันทีเพราะสามารถโทรไปปรึกษาหมอท่านอื่นรพ.ไหนแล้วบอกว่ากินยาตัวนี้ไป แล้วเป็นแบบนี้ คุณจะรอดทันทีเหมือนกันนะ?
พญ.พักตร์เพียงเพ็ญ : ค่ะ

ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเขาให้คุณเขียนนะ อย่าไปดูถูกสติปัญญาชาวบ้าน อย่างที่พ่อบอกว่าหมอให้ยาพิษมาเขาก็กิน เพราะเขาไม่รู้หรอก?
พ่อ : ใช่ครับ 

กังวลใจอะไรมั้ย?
ปุ๊ก : กลัวคดีมันไม่คืบหน้าค่ะ

ทนายแก้ว : น้องแจ้งความก่อนเถอะ แล้วให้ติดต่อมาทางพี่หนุ่ม เดี๋ยวพี่แก้วไปช่วย