มูลนิธิดั่งพ่อสอน MOU วิทยาลัยเพาะช่าง รุกพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านงานศิลปะ ดีเดย์โครงการแรก “ศาสตร์ ศิลป์ ดิน สยาม” รณรงค์ "วันดินโลก" เพื่อส่งเสริม เชิดชู เรียนรู้ความสำคัญของ "แผ่นดิน"

เมื่อวันที่ 13 ก.ค.66 ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรัฐ บุญทรง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ พร้อมด้วยนายณัฐวรรธน์ ภรนรา ประธานมูลนิธิดั่งพ่อสอน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยนำศิลปะมาผลักดัน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และยกระดับจิตใจ ร่วมจัดโครงการรณรงค์เนื่องใน “วันดินโลก” เพื่อส่งเสริม เชิดชู เรียนรู้ความสำคัญของแผ่นดิน นอกจากนี้ ได้เบิกฤกษ์ดี มีการจัดพิธีไหว้ครูช่างและบายศรีสู่ขวัญ 110 ปี วิทยาลัยเพาะช่าง ประจำปี 2566 ณ วิทยาลัยเพาะช่าง เขดพระนคร กรุงเทพฯ

นายณัฐวรรธน์ ภรนรา ประธานมูลนิธิดั่งพ่อสอน กล่าวว่า การลงนาม MOU ครั้งนี้ เป็นความร่วมมือในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การพัฒนาองค์ความรู้ การวิจัย และเพิ่มขีดความสามารถ โดยผ่านกระบวนการฝึกอบรม และนำความรู้ที่ได้ไปสู่การปฏิบัติได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์สูงสุด ร่วมทั้งสร้างความร่วมมือในการประกอบกิจกรรมทางด้านศิลปะ ในการเผยแผ่ สร้างความตระหนักรู้ ส่งเสริมความเข้าใจ ยกระดับจิตใจของผู้คนในสังคม ผ่านกิจกรรมเรียนรู้ เผยแผ่ การประกอบ การจัดแสดงงาน หรือการบูรณาการทุกรูปแบบ ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของวิทยาลัยเพาะช่าง และมูลนิธิดั่งพ่อสอน

“มูลนิธิดั่งพ่อสอน มีเป้าหมายในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และทางวิทยาลัยเพาะช่างเองก็มีเจตนารมณ์ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เช่นกัน จึงได้เกิดความร่วมมือในการส่งเสริมสนับสนุนการประกอบกิจกรรมด้านศิลปะ การศึกษา ค้นคว้า การวิจัยทางการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม วัฒธรรม และสิ่งแวดล้อม ผ่านความร่วมมือทางด้านวิชาการและการดำเนินงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ร่วมกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาบัณฑิตไทยและสร้างความเข้มเข็งแก่ภาคธุรกิจ SMEs ของประเทศให้มีความยั่งยืน”ประธานมูลนิธิดั่งพ่อสอน กล่าว

นายณัฐวรรธน์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ สืบเนื่องจากที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประกาศให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันดินโลก World Soil Day ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของทรัพยากรดินต่อการพัฒนาด้านการเกษตร โภชนาการ และความมั่นคงทางอาหาร ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประทศ โดยในวันดังกล่าวทั่วโลกได้ตระหนักถึงพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงพัฒนาทรัพยากรดินมาโดยตลอดรัชสมัยของพระองค์ ดังนั้นทางมูลนิธิดั่งพ่อสอน จึงได้น้อมนำเอา ศาสตร์พระราชา ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาด้านการเกษตร และคุณค่าของความเป็นไทย มาจัดทำโครงการศาสตร์ ศิลป์ ดิน สยาม เพื่อส่งเสริม เชิดชู เรียนรู้ ให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของแผ่นดิน ผ่านงานศิลปะร่วมกับวิทยาลัยเพาะช่าง  

นายณัฐวรรธน์ กล่าวว่า ในปี 2566 นี้ ได้ริเริ่มโครงการแรก “ศาสตร์ ศิลป์ ดิน สยาม” ซึ่งเป็นโครงการจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องใน “วันดินโลก” โดยเชิญชวนกลุ่มเยาวชนระดับมัธยมศึกษา อุดมศึกษา และประชาชนทั่วไป ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการประกวดงานทัศนศิลป์ เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญของแผ่นดิน และพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้านความยั่งยืนทางด้านอาหารและการเกษตรผ่านผลงานศิลปะ โดยตั้งเป้าสร้างผลงานศิลปะกว่า 30,000 ชิ้น 

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรัฐ บุญทรง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ กล่าวว่า วิทยาลัยเพาะช่างมีเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ จึงได้สนับสนุนความร่วมมือดังกล่าว โดยส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเพิ่มขีดความสามารถของนักศึกษา ผ่านการฝึกอบรมและสามารถนำความรู้ไปปฏิบัติได้จริง และเพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐบาลที่ให้มหาวิทยาลัยดำเนินงานแบบบูรณาการ

“ในฐานะที่วิทยาลัยเพาะช่างเป็นสถาบันทางด้านศิลปะมายาวนานถึง 110 ปี จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนในทุกมิติของโครงการนี้ โดยเฉพาะการนำองค์ความรู้เชิงช่างศิลปกรรม เพื่อนำศิลปะประจำชาติ หัตถกรรมศิลป์ วิจิตรศิลป์ การออกแบบ มาร่วมสร้างสรรค์และเผยแพร่สู่สาธารณะชน ดังเช่นเรื่องการทำถ้วยรางวัลเพื่อมอบให้กับผู้ชนะการประกวดในครั้งนี้ ทางวิทยาลัยเพาะช่างได้นำคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมสร้างสรรค์ศิลปะเชิงช่างร่วมกับการออกแบบของ อ.ช่วง มูลพินิจ ศิลปินแห่งชาติ เพื่อให้ถ้วยรางวัลนี้เป็นถ้วยรางวัลที่ทรงคุณค่า ทั้งด้านศิลปะและความหมายจากอาจารย์ช่วง และด้านความปราณีตงดงามจากครูช่างศิลปกรรม”ผู้อำนวยการวิทยาลัยเพาะช่าง กล่าว 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรัฐ กล่าวอีกว่า ในด้านของการประกวด วิทยาลัยเพาะช่างมีคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิมีผลงานเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในแต่ละสาขาวิชา ได้มาเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน พร้อมทั้งเรียนเชิญศิลปินแห่งชาติและผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อร่วมกันสร้างมาตรฐานให้เป็นงานประกวดระดับประเทศ นอกจากนั้นก็ยังนำนิสิตของวิทยาลัยเพาะช่างและศิษย์เก่า เข้ามาร่วมดำเนินงานในการขับเคลื่อนโครงการอีกด้วย ทั้งนี้ โครงการศาสตร์ ศิลป์ ดินสยาม จะเริ่มดำเนินการระหว่าง กรกฎาคม- พฤศจิกายน 2566 ขอเชิญชวนนักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจเข้าร่วมด้วยการส่งผลงานเข้าประกวด เพื่อตระหนักถึงความสำคัญของ “วันดินโลก” ร่วมกัน 

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่...