สำหรับทิศทางการส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยวปี 2567 ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  หรือ ททท. ในปี 2567  มีแนวทางในการร่วมกันขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้ไปสู่การเป็นจุดหมายปลายทางที่เต็มไปด้วยคุณค่าสูง (High Value) และความยั่งยืน (Sustainable) อย่างแท้จริง ซึ่งในเรื่องนี้ทางตลาดท่องเที่ยวระยะใกล้ และระยะไกลต่างผนึกกำลังกันอย่างเต็มที่ โดยมีตลาดภายในประเทศที่ยืนหนึ่งอย่างเข้มแข็ง เพื่อกระตุ้นให้คนไทยออกเดินทางท่องเที่ยวกันตลอดทั้งปี เพื่อผลักดันรายได้ท่องเที่ยวปี 2567 ทะลุ 3 ล้านล้าน แบ่งเป็นรายได้จากต่างประเทศ 1.92 ล้านล้านบาท ดึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้าไทยจำนวน 35 ล้านคน ขณะที่ตลาดในประเทศ สร้างรายได้หมุนเวียน 1.08 ล้านล้านบาท จากการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทย 200 ล้านคน-ครั้ง

ดันท่องเที่ยวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

โดย นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า  ททท.ตั้งเป้าการท่องเที่ยวไทยในปี 2567 ฟื้นรายได้ 100% เท่ากับปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด ด้วยการสร้างรายได้รวมประมาณ 3,098,606 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) มูลค่า 11,440,590 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายได้ตลาดต่างประเทศ 2,292,968 ล้านบาท คิดเป็น 74% ของรายได้รวม จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40,583,504 คน ส่วนรายได้ตลาดในประเทศ 805,638 ล้านบาท คิดเป็น 26% ของรายได้รวม จากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 160,365,299 คน-ครั้ง ภายใต้ความคาดหวังว่าภาคท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์เดียวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย หลังภาคการส่งออกถูกประเมินว่าอาจติดลบในปีนี้

ซึ่งจากยอดการตั้งเป้านำพาซึ่งการทำงานที่เข้มแข็งทั้งตลาดใกล้ และตลาดไกลดังกล่าว นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชีย และแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า การทำงานมีแนวทางดังนี้  สร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศสำหรับตลาดระยะใกล้ประมาณ 70%  คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยว  22 ล้านคนขึ้นไป และสร้างรายได้ประมาณ 1.1-1.3 ล้านล้านบาท

ขณะที่ นายชูวิทย์ ศิริเวชกุล ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) กล่าวว่า สถานการณ์นักท่องเที่ยวเที่ยวเมืองไทยในครึ่งปีหลัง 2566 เป็นช่วงฤดูเดินทางจะนำเข้ามาได้อีกไม่น้อยกว่า 2.4 ล้านคน โดยเฉพาะช่วงหยุดต่อเนื่องวันชาติจีนเดือนตุลาคมนี้ประมาณ 8-10 วัน มีแนวโน้มจีนเลือกมาเที่ยวในไทยวันละประมาณ 30,000 คน (สูงกว่าปัจจุบันตามปกติเข้ามาวันละ 15,000 คน) หรือสูงสุดถึงวันละ 100,000 คน จึงคาดว่าสิ้นปี 2566 นี้น่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนประมาณ 5 ล้านคน

ทั้งนี้ด้วยจีนส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนวิธียื่นขอวีซ่าจากเดิมต้องผ่านทางกงศุลหรือสถานฑูตไทยประจำแต่ละมณฑล มาเป็นการลงทะเบียนขอผ่านทางออนไลน์ที่ไทยเปิดให้ยื่นแบบ E-VOA ได้ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายครั้งละ 500 หยวน/คน (แตกต่างจากการยื่นขอวีซ่าปกติจีนมาไทยจะประมาณครั้งละ 250 หยวน/คน) โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยินดีจ่ายเพื่อความสะดวกคล่องตัวในการเดินทางมาเที่ยวเมืองไทย แล้วก็เลือกจองใช้โรงแรมที่พักราคาสูง ตรงกับเป้าหมายของ ททท.กำลังมุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวตลาดคุณภาพ

รักษาฐานตลาดนทท.คุณภาพ

ด้านตลาดต่างประเทศระยะไกล นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า กลยุทธ์การตลาดของภูมิภาคยุโรป ยังเน้นในเรื่องการรักษาฐานตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพ เพิ่มค่าใช้จ่าย และขยายวันพักกลุ่มรีพีทเตอร์ หรือท่องเที่ยวซ้ำ ในกลุ่มตลาดหลักอย่างอังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส นอร์ดิก และ และส่งเสริมการเดินทางของกลุ่มเป้าหมายใหม่ อาทิ เป็นการเดินทางเที่ยวไทยครั้งแรก ในตะวันออกกลาง ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นตลาดดาวรุ่ง  อิสราเอล คาซัคสถาน เป็นต้น

ซึ่งตลาดการท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบียนั้น ทาง ททท.ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มครอบครัว กลุ่มคนรุ่นใหม่ (Arab Millennials) กลุ่มสุขภาพ กลุ่มฮันนีมูน ทั้งนี้ข้อมูลได้ระบุ ว่า ในปี 2562 นักท่องเที่ยวจากซาอุดีอาระเบียมีอัตราพักค้างเฉลี่ยราว 13 คืน มีค่าใช้จ่ายต่อทริปสูงถึง 87,500 บาท และ ไตรมาสแรกของปีนี้มีนักท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบียเดินทางมายังประเทศไทยแล้วกว่า 17,985 คน และคาดว่าทั้งปีจะมีจำนวนสูงถึง 100,000 คน ด้านตลาดอเมริกา พบว่า แนวโน้มการท่องเที่ยวเปลี่ยนไป เน้นการเดินทางกับครอบครัว เลือกเดินทางเป็นจุด ๆ มากขึ้นกว่าการเดินทางไปยังหลายพื้นที่ และให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 

เพิ่มความถี่คนไทยเที่ยวในประเทศ

ขณะที่ นางสาว ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์  รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ได้ให้น้ำหนักไปที่การกระตุ้นให้เที่ยวไทยทันที เพิ่มความถี่และการกระจายตัวท่องเที่ยวหลากหลายพื้นที่มากขึ้น เป็น 365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทยเที่ยว ได้ทุกวัน ตลอดทั้งปี เพื่อสร้างรายได้ให้ทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียม ควบคู่กับการนำเสนอจุดแข็งสู่จุดขาย ของ Soft Power (5F) และนำเสนอสินค้าเชิงประสบการณ์ผ่านอัตลักษณ์ของ 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ เกิดเป็น Meaningful Travel

ส่วน ด้านสื่อสารการตลาด ปี 2567 ยังคงดำเนินการภายใต้แบรนด์ Amazing Thailand โดย ททท.จะชวนคนไทยออกไปสัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวครั้งใหม่ที่เต็มไปด้วยความสุขแบบทันทีและมีความหมาย กับแคมเปญโมเมนต์ที่ใช่สร้างได้ไม่ต้องรอ และ “ออกไปหาสุขง่ายๆ ได้ทันที ที่เที่ยวไทย”  ขณะที่แคมเปญ Meaningful Relationship ของตลาดต่างประเทศ เสนอมุมมองการเดินทางท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยความหมาย สร้าง Meaningful Connections จากการมีส่วนร่วมกับพื้นที่และผู้คน จนเกิดเป็นความประทับใจ มิตรภาพนำไปสู่การแบ่งปัน  (Give & Get) และเกิดการเดินทางซ้ำ