อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศนำทีม TCWMD ร่วมประชุมทวิภาคีผู้บริหารระดับสูง 3 กระทรวงหลัก รวมถึงสภาหอการค้าสหรัฐฯ และสภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน ประเด็นควบคุมการส่งออกสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 23 มิ.ย.-3 ก.ค.66 เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่าง 2 ประเทศ รวมทั้งกระชับความสัมพันธ์วงการควบคุมการแพร่ขยาย WMD ระหว่างไทย-สหรัฐฯ ให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ(คต.)เปิดเผยว่า กรมฯ ได้รับเชิญจากโครงการควบคุมการส่งออกและรักษาความมั่นคงชายแดนสหรัฐฯ (The Export Control and Related Border Security Program: EXBS) ภายใต้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา (Department of State: DOS) เข้าร่วมการประชุมทวิภาคีด้านการควบคุมการส่งออก (Export Control Bilateral Meeting Program) ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา กับผู้บริหารระดับสูงของ 3 หน่วยงานภาครัฐ คือ (1) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา (Department of State: DOS) (2) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา (Department of Commerce: DOC) และ (3) กระทรวงพลังงานสหรัฐอเมริกา (Department of Energy: DOE) กับ 2 หน่วยงานภาคเอกชน คือ (1) สภาหอการค้าสหรัฐอเมริกา (U.S. Chamber of Commerce: USCC) และ (2) สภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (U.S. ASEAN Business Council: USABC) โดยทราบข้อมูลว่า ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะเทคโนโลยีอุบัติใหม่ (Emerging Technology) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงและอาจเกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapons of Mass Destruction: WMD) จึงสร้างความท้าทายให้แต่ละประเทศในการสร้างมาตรการการควบคุมสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items: DUI) ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งแม้แต่สหรัฐฯ ที่บังคับใช้มาตรการดังกล่าวมายาวนานถึง 80 ปี แต่ยังจำเป็นที่ต้องพัฒนาและปรับปรุงมาตรการฯ ให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ โดยเฉพาะความสามารถในการลักลอบ ปกปิดข้อมูล บิดเบือนเส้นทางขนส่งของกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่แยบยลมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ นานาประเทศจึงควรต้องเร่งสร้างระบบที่ดีในการป้องกันไม่ให้ประเทศตนสุ่มเสี่ยงถูกใช้เป็นเครื่องมือการกระทำผิดดังกล่าว

ทั้งนี้แม้ว่าที่ผ่านมา การส่งออก DUI จากสหรัฐฯ มายังไทยยังคงเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก จำนวนไม่ถึงร้อยละ 1 ซึ่งเป็นสินค้าประเภท ส่วนประกอบอากาศยาน และอาวุธขนาดเล็ก แต่หากไทยมีมาตรการควบคุม DUI ที่มีประสิทธิภาพ จะมีแนวโน้มทำให้ยอดการส่งออก DUI จากสหรัฐฯ มายังไทยสูงขึ้น ซึ่งนับเป็นข้อดีที่ไทยสามารถนำ DUI มาใช้งานภายในประเทศเพื่อเป็นเครื่องจักรผลิตสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวยังช่วยส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมายังไทย (Foreign Direct Investment: FDI) โดยเฉพาะการถ่ายโอนเทคโนโลยีเพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิต DUI รวมถึงการได้รับองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับ DUI ส่งผลให้ไทยเกิดนวัตกรรมภายในประเทศมากยิ่งขึ้นด้วย 

สถานการณ์โลกปัจจุบันจะเห็นได้ว่าการค้าระหว่างประเทศไม่ได้เผชิญกับการแสวงหาสิทธิประโยชน์ทางการค้า ในขณะเดียวกันต้องลดอุปสรรคทั้งมาตรการทางภาษี และที่ไม่ใช่ภาษี มาตรการสิ่งแวดล้อม หรืออื่นๆ รวมทั้งมาตรการการค้าที่ต้องไม่เกิดภัยต่อความมั่นคงต่อโลก โดยเฉพาะประเด็นการแพร่ขยาย WMD ดังเช่น สินค้า DUI ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความเกี่ยวข้องกับ WMD โดยตรง ต้องได้รับการตรวจสอบการใช้และผู้ใช้สุดท้ายก่อน จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถผลิตและใช้สินค้าที่มีนวัตกรรมชั้นสูงได้ เช่นเดียวกับไทยที่มีมาตรการการควบคุม DUI จะช่วยไม่ให้ไทยถูกใช้เป็นทางผ่านในการนำ DUI ส่งต่อไปยังผู้ก่อการร้ายได้ ถือว่าเป็นมาตรการใหม่ที่น่าจับตาและเป็นปัจจัยสนับสนุนการส่งออก DUI เพื่อการพาณิชย์มากขึ้นต่อไปในอนาคต

นายรณรงค์ กล่าวปิดท้ายว่า การเข้าร่วมการประชุมทวิภาคีด้านการควบคุมการส่งออก (Export Control Bilateral Meeting Program) ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ในครั้งนี้ทำให้ได้รับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ตลอดจนแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และรับทราบแนวทางการใช้มาตรการควบคุม DUI ของสหรัฐอเมริกาเพื่อนำมาศึกษาเปรียบเทียบกับมาตรการการใช้สุดท้ายและผู้ใช้สุดท้าย (End-Use and End-User Controls : EUEUC) ของไทย โดยสามารถนำมาประกอบการพิจารณาในการกำหนดมาตรการให้ครอบคลุมกิจกรรมและสินค้าของไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นโอกาสอันดีในการสร้างความสัมพันธ์  อันดีในระดับผู้บริหารระดับสูงระหว่างสองฝ่ายให้ใกล้ชิดต่อไป