สัปดาห์พระเครื่อง / ราม  วัชรประดิษฐ์

วิธีเรียนรู้พระสมัยก่อนมีข้อดีคือ จะทำให้เราจำแม่น โดนครูด่าทีเดียวจำไปจนตายเลย

ท่านผู้อ่านสยามรัฐสัปดาห์พระเครื่องที่เคารพครับ การพิจารณาศึกษาเรื่องพระเครื่องพระบูชาและเหรียญคณาจารย์ต่างๆ ของเรานั้นมีพัฒนา การต่อเนื่องกันมาไม่ขาดสาย สิ่งที่ทุกคนอยากจะฝันให้ไกลไปให้ถึงก็คือ 'ดูเป็น' วันนี้เลยลองคุยกันเกี่ยวกับเทคนิควิธีการนานาสารพัน เพื่อให้ก้าวไปสู่ความเป็นเซียนหรือดูเป็น ว่าอาจจะมีวิธีอย่างไร ถ้าใครมีหัวอยู่แล้วก็น่าจะเป็นได้ไม่ยาก

เวลาเราศึกษาเรื่อง 'พระเครื่อง' มักจะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ ศึกษาตำนานการสร้างพิธีการ จำนวนเนื้อหาการสร้างที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสืบต่อหรือมีบันทึกไว้ เพื่อนำมาเป็นหลักในการพิจารณาเก๊แท้ อีกแบบหนึ่งก็คือ การศึกษาถึงลักษณะพิมพ์ทรง ธรรมชาติ เนื้อหาความเก่า กรรมวิธีการผลิต ความจริงแล้วถ้ารู้ทั้งสองอย่างก็เป็นการปูพรมแดงแห่งการเป็น 'เซียน' เพื่อจะก้าวเดินได้แล้ว ส่วนจะหกล้มหกลุกมากบ้างน้อยบ้างมันเป็นเรื่องธรรมดา

วิธีเรียนรู้พระสมัยก่อนมีข้อดีคือ จะทำให้เราจำแม่น โดนครูด่าทีเดียวจำไปจนตายเลย แล้วก็น่าแปลกที่ท่านสอนเล็กๆ น้อยๆ เป็นเกร็ดความรู้นั้น กลับเป็นหลักสำคัญในการพิจารณา เช่น อยู่ๆ พูดลอยๆ ขึ้นมาว่า 'รู้ไหมรองเท้าส้นสูงเกิดขึ้นเมื่อไหร่' ไอ้เราก็งงเป็นไก่ตาแตก ครูท่านก็หยิบพระลีลากำแพงพลูจีบให้ดูแล้วชี้ไปที่พระบาทองค์พระซึ่งเห็นเป็นรูปรองเท้าส้นสูง หรือบางทีก็ถามเราว่า 'เคยเห็นพระเตะฟุตบอลไหม' เกือบถามสวนไปแล้วว่าลีกไหน ดีที่ท่านชี้ให้เห็นลูกกลมๆ เหมือนฟุตบอลตรงปลายพระบาทพระลีลาเม็ดขนุน เป็นต้น

เรียกว่า 'วงการพระเครื่อง' บ้านเรามีวิธีการถ่ายทอดชนิดตัวใครตัวมันเรื่อยมาตั้งแต่เมื่อ 70-80 ปีที่แล้ว ต่อมามีงานประกวดพระเครื่องเป็นเรื่องเป็นราว โดย คุณปรีชา ดวงวิชัย พระต่างๆ ก็เริ่มตกผลึกเรื่องพิมพ์ทรงและเนื้อหา เพราะต้องพิมพ์รายการประกวดพระที่ขอเอี่ยวเข้ามาเป็นสปอนเซอร์ (เพื่อให้ลงในรายการประกวด) เริ่มถูกสกรีน หากดีก็ติดรายการเรื่อยไปเลย คนเล่นก็เลยขยายตัวกว้าง เพราะมีหลักว่ายังไงมีไว้ก็เอาไปประกวดได้

วิธีการที่นักเล่นทั้งเก่าและใหม่ใช้ศึกษากันโดยทั่วหน้าในระยะเวลาต่อมาก็คือ การศึกษาพิจารณาผ่านหนังสือ ด้วยสาเหตุที่ว่าจะหาดูพระแท้สักองค์ให้ยากเย็นเสียเหลือเกิน นอก จากเข้าสนามซึ่งเซียนก็มักมีลูกค้าประจำ ไม่ได้มากางแผ่ให้ดูให้เลือกเหมือนเดี๋ยวนี้ ถ้าไม่ใช่คนรู้จักก็ต้องพึ่งดูภาพในหนังสือ

หนังสือนี่ต้องให้เครดิตกับ 'รวมภาพพระ' ของ คุณประชุม กาญจนาวัฒน์ ท่านรวบรวมพระแท้ทำหนังสือได้มากมาย เนื่องจากเป็นเจ้าของห้องถ่ายรูปโมนาลิซ่า

หลังจากนั้นหนังสือก็กลายเป็นแหล่งความรู้ทางวิชาการแห่งพระเครื่องทั้งหลาย ที่รู้จักกันและได้รับการยอมรับก็มี 'อรรถาธิบายพระเครื่อง' ของ ตรียัมปวาย (ออกหลายเล่มก่อนหนังสือคุณประชุม) 'หนังสือรวมภาพชนะการประกวด' ของ อาจารย์ประจำ อู่อรุณ 'นิตยสาร' ก็มี อาณาจักรพระเครื่อง ของ ลุงเปี๊ยก ปรีชา เอี่ยมธรรม พระเครื่องปริทัศน์ อภินิหารพระเครื่อง ก่อนจะพัฒนามาเป็นหน้าพระในหนังสือพิมพ์หัวสี ซึ่ง 'ข่าวสด' เป็นหัวแรกๆ ที่นำเสนอเรื่องราวของพระเครื่องอย่างเป็นระบบ

ในปัจจุบัน 'สื่อทางโลกออนไลน์' ถือเป็นกำลังสำคัญของกระบวนการพิจารณา มีทั้งภาพ ประวัติ จุดสังเกต ราคา ให้ข้อมูลที่ค่อนข้างจะครบครัน ซึ่งผู้คนให้ความสนใจ แต่การหัดเล่นพระด้วยวิธีดังกล่าวอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ เนื่องจากภาพที่เห็นยังขาดการอธิบายที่เข้าใจง่าย และภาพจะไม่เป็นมิติทั้งขนาดและความลึก เลยเกิดการหาเทคนิคใหม่ๆ เพื่อช่วยให้ผู้สนใจใฝ่รู้ได้เข้าถึงเส้นทางเซียนได้ง่ายขึ้น

แต่อยากจะบอกว่า เทคนิควิธีการดูพระให้เป็นไม่ใช่ดูจากสื่อรอบเดียวแล้วจะเป็นเลยนะครับ ต้องหมั่นดูหมั่นจำย้อนไปย้อนมา หลายๆรอบ หลายๆเที่ยวจนเกิดความชำชองนะครับผม