ร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอด ขยายพื้นที่รับประโยชน์อาคารอัดน้ำบ้านนาแซะ ต.บ้านนา อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร

นายสุนทร คงทอง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 12 ตำบลบ้านนา อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า ในพื้นที่ได้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง 5-6 เดือนในช่วงคาบเกี่ยวปี 2565/2566 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการตัดไม้ทำลายพื้นที่ป่าเมื่อก่อนหน้านี้ ทำให้ความชุ่มชื้นและการเก็บกักน้ำตามธรรมชาติลดลง จึงทำให้ดินแดนที่ได้รับการขนานนามว่า ฝนแปดแดดสี่ คือในหนึ่งปีจะมีฝนตกติดต่อกันยาวนานถึงแปดเดือนนั้น เปลี่ยนไป เป็นมีแดดมากกว่าคือแห้งแล้งไม่มีฝน

“ป่าไม้ถูกทำลายเยอะ ป่าต้นน้ำไม่สามารถเก็บน้ำได้ แหล่งน้ำเกิดการตื้นเขิน ดินสไลด์ลงมาด้านล่างเยอะเกินไป ก็เลยทำให้แห้งไม่มีน้ำ สภาพภูมิอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลง ผมประชุมกับลูกบ้านบ่อยเพราะปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า ปีนี้ฝนแล้งทิ้งช่วงสี่ห้าเดือน ทำให้น้ำไม่พอใช้ ผลผลิตทางการเกษตรของชาวตำบลบ้านนา ยืนต้นตายเป็นจำนวนมาก อย่างเช่น ต้นทุเรียนตายเพราะขาดน้ำ”

ผู้ใหญ่บ้านตำบลบ้านนา เปิดเผยเพิ่มเติมถึงแนวทางแก้ไขปัญหานี้หลังจากมีการพูดคุยกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบว่า ทางชุมชนมีความต้องการให้มีการขุดลอก และเพิ่มประสิทธิภาพโครงการอาคารอัดน้ำบ้านนาแซะพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลบ้านนา อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2550 เพื่อช่วยเหลือราษฎร หมู่ที่ 7 หมู่ที่ 9 และ หมู่ที่ 10 ตำบลบ้านนา ซึ่งขณะนั้นประสบความเดือดร้อนขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และทำการเกษตรในหน้าแล้งให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอมาอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน พื้นที่ทำกินจึงเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนจากโครงการไม่เพียงพอ

“ส่วนใหญ่ปลูกทุเรียน แต่ก่อนนั้นปลูกกาแฟเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ตอนนี้มีการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น  โดยได้มีการจัดสรรน้ำให้แก่เกษตรกรด้านขวาของคลองส่งน้ำหนึ่งวัน และด้านซ้ายหนึ่งวัน ทุกคนต่างใช้เครื่องสูบน้ำขึ้นมาไว้ใช้ ปัจจุบันมี 400 กว่าครัวเรือนแต่ได้รับน้ำเต็มที่เพียง 200 ครัวเรือนเท่านั้น ทำให้บริเวณด้านปลายคลองส่งน้ำไม่ได้รับน้ำ เนื่องจากปริมาณน้ำมีไม่เพียงพอ ทุกคนมีความเห็นว่าควรขยายพื้นที่รับน้ำด้วยการขุดลอก และขยายพื้นที่บริเวณด้านหน้าอาคารอัดน้ำให้สามารถเก็บกักน้ำให้ได้มากกว่าตอนนี้ เพื่อให้ชาวบ้านทั้งหมดได้รับน้ำอย่างทั่วถึงและเพียงพอทั้งปี” นายสุนทร คงทอง กล่าว

เพื่อการแก้ไขปัญหาให้แก่ราษฎรในพื้นที่ เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมด้วย พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ นายวิกรม คัยนันทน์ ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และคณะอนุกรรมการฯ ได้เดินทางไปติดตามผลการดำเนินงานโครงการ พบว่าปัจจุบันสามารถส่งน้ำสนับสนุนการอุปโภคบริโภคให้แก่ราษฎร หมู่ที่ 7 และ 10 ตำบลบ้านนา และบริเวณใกล้เคียง จำนวน 200 ครัวเรือน และพื้นที่การเกษตรในฤดูฝน จำนวน 300 ไร่ หน้าแล้ง 135 ไร่ ได้มากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ราษฎรมีรายได้ คุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในการบริหารจัดการน้ำได้จัดตั้ง “กลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานนาแซะทิพย์ธารา” มีสมาชิก จำนวน 195 คน เพื่อให้การรับประโยชน์ของราษฎรได้รับอย่างทั่วถึงตามการเพิ่มขึ้นของประชากรและแหล่งทำกิน สำนักงาน กปร. และกรมชลประทาน ได้ร่วมดำเนินงานในการสนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยในปี 2567 จะดำเนินปรับปรุงงานป้องกันตลิ่งด้านเหนือน้ำทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา ความยาวด้านละ 80 เมตร ขุดลอกตะกอนทรายด้านหน้าอาคาร และขุดลอกลำคลอง ความยาว 50 เมตร ขุดขยายพื้นที่รับน้ำด้านเหนือน้ำบริเวณตลิ่งฝั่งขวา และปรับปรุงอาคารระบายน้ำล้น (Spillway) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำของราษฎรให้ยั่งยืนตลอดไป