นายกฯ ขออนุรักษ์วันภาษาไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ว่า วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็น “วันภาษาไทยแห่งชาติ” เนื่องจากเมื่อ 50 กว่าปีที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงเป็นองค์ประธาน ในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย ร่วมกับคณะผู้ทรงคุณวุฒิ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทรงแสดงความสนพระราชหฤทัย ในการใช้ภาษาไทย ทรงห่วงใย และได้ทรงพระราชทานแนวความคิดในการอนุรักษ์ภาษาไทย รวมทั้งทรงย้ำให้ประชาชนชาวไทย ได้ตระหนักถึงความสำคัญของภาษาไทย ตนขอให้คนไทยร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญ และคุณค่าของภาษาไทย อันแสดงถึงความเป็นชาติ ใช้ให้ถูกต้อง ชัดเจน ตามหลักไวยากรณ์ โดยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงรับสั่งอยู่เสมอว่าขอให้คนไทยนั้นได้เรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ ทั้งเรื่องภาษา วัฒนธรรม และประเพณีอันงดงาม - บิ๊กตู่ ขอนักการเมือง ร่วมมือทหาร -รัฐบาล -คสช. คิดทำเพื่อประเทศ อย่าขัดแย้งด้วยคำว่าประชาธิปไตย-ประชามติ บอกเห็นแต่ติติง ไม่พูดจะทำอะไรเมื่อได้เข้ามา พร้อมน้อมรับคำติ แต่อย่ามาสร้างความวุ่นวาย พร้อมฝากประชาชนอย่าลืมอดีตก่อน 22 พ.ค. นายกฯ กล่าวต่อว่า ต่อไปนี้ “ข้าราชการ” จะต้องทำงานหนักขึ้น ตนทราบว่าหนักขึ้นมาสองปีแล้วหละ แล้วต้อง เสียสละมากกว่าที่เคยมา ทั้งนี้ตนถือว่า “เหงื่อของข้าราชการ นั้นก็คือ น้ำใจที่ให้กับประชาชน” ทุ่มเทให้กับเค้า โดยเฉพาะในช่วงการที่เราจะเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ “ไทยแลนด์4.0” ในอนาคต ประเทศชาติเรานั้น ขณะนี้ต้องการคำว่า “จิตวิญญาณ จิตสำนึก จิตสาธารณะ อุดมการณ์” ของความเป็นคนไทย มันต้องเกิดขึ้น ต้องมีอยู่ ริ้อฟื้นมาเท่านั้นเองนะครับ เพราะว่า ทุกคนนั้นจะได้ใช้เป็นแรงผลักดัน เป็นแรงขับเคลื่อนประเทศ เพื่อให้พัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ถ้าจะยกตัวอย่าง ก็ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมัน มีสงครามเกิดขึ้น มีความเสียหายมากมาย แต่เขาสามารถเร่งพัฒนาประเทศ ภายหลังสงครามได้โดยเร็วนะครับ ด้วยความอดทน ด้วยความร่วมมือกันทุกฝ่าย ความสบายอาจจะไม่ได้สร้างคนมากนัก แต่ความลำบากจะสร้างคนให้แข่งแกร่ง นายกฯ กล่าวว่า ประเทศเราก็เหมือนกัน เราอาจจะโชคดีไม่มีวิกฤตการณ์ที่มันรุนแรงเหมือนต่างประเทศเค้า แต่เราต้องใช้ทุกอย่างที่เราเรียนรู้มาจากเพื่อนเราบ้าง อะไรบ้างมาช่วยกันปรับปรุง เราอย่าทำให้โอกาสที่เรามีอยู่แล้วมันสูญเสียไป เราทะเลาะกันอีกต่อไปไม่ได้แล้ว เรื่อง“ยุทธศาสตร์ชาติ” ผมก็กล่าวมาหลายครั้งแล้ว มันเป็นความหวังหนึ่งนะครับในการที่จะนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน อันนี้ไม่ใช่ผมคิดขึ้นมาเอง มันเป็นหลักการทางวิชาการด้วยอยู่แล้ว เอกสารวิจัย การเรียนในหลักสูตรต่างๆ มันมีหมด เพราะฉะนั้นมันเป็นแนวทางที่จะทำให้รัฐบาลหรือผู้บริหารประเทศนั้น ได้มีการบริหารไปด้วยความโปร่งใสตามหลักการทั้งหมด 6 ข้อของธรรมาภิบาล โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้ ผ่านความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชน และใช้แนวทางของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เหล่านี้ จำเป็นต้องรื้อฟื้นขึ้นมา เพราะฉะนั้นเราถึงจำเป็นที่จะต้องบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายสูงสุดของประเทศ แล้วก็มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่จะกำหนดยุทธศาสตร์และมาตรการต่างๆ ให้สอดคล้องกันกับยุทธศาสตร์ชาตินี้ นายกฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมานั้นเราก็ได้ร่วมเป็นภาคี ลงสัตยาบัน ให้การรับรองข้อตกลงต่างๆ ระหว่างประเทศไว้หลายเรื่องด้วยกัน ทุกรัฐบาลที่ผ่านมา แต่อาจจะไม่สามารถปฏิบัติตามได้ทั้งหมด เพราะว่าไม่สามารถออกกฎหมาย เพื่อให้มีผลบังคับใช้ อย่างเป็นรูปธรรมได้ เพราะว่าที่ผ่านมาก็ทราบดีอยู่ กฎหมายบางกฎหมายมันออกไม่ได้เลย แต่รัฐบาลนี้ ดำเนินการได้จนประสบผลสำเร็จ มันก็มีคนขัดแย้งไม่เห็นด้วย เห็นด้วย อะไรก็แล้วแต่ แต่เราจำเป็น ถ้าเราไม่ทำเราก็อยู่ในโลกใบนี้ไม่ได้ เราจำเป็นต้องสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ให้เกิดความเชื่อมั่นในเวทีโลก “สุดท้ายนี้ผมอยากฝากความในใจถึงพี่น้องประชาชน คนไทย ทุกภาคส่วน ทุกอาชีพ ทุกรายได้ ได้มองปัจจุบันและอนาคต ท่านต้องย้อนกลับไปที่อดีตก่อน อย่างเพิ่งลืม ลืมสิ่งที่มันเพิ่งผ่านมาไม่นาน ก่อน 22พ.ค. 57 เราต้องเอาอดีตเหล่านั้นมาเป็นบทเรียน ในช่วงปี 58-59-60 เป็นช่วง “การเปลี่ยนผ่าน” เตรียมการวางรากฐานไว้ให้ ซึ่งในช่วงรอยต่อนี้ จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศระยะยาว ที่จะมีผลสืบเนื่องไปในอนาคต คือหลังจากปี 60เป็นต้นไป ตามแผนของสภาพัฒน์ฯ 60 – 64 นั้นแหละ / สิ่งต่างๆ ที่เป็นปัญหาในอดีตนั้น เราทุกคนต้องช่วยกัน ว่าจะต้องไม่ย้อนกลับไปอีก อยากให้ทุกคนคิดว่า แล้วมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็ฝากนักการเมืองที่ดีๆ ทุกพรรค ทุกคน ทุกกลุ่ม ได้กรุณาช่วยคิดดังๆ ออกอย่าพูดอย่างเดียวช่วยคิดด้วย แล้วก็คิดดังๆออกมาว่า อะไร นอกจากคำว่า ประชาธิปไตยที่ผมไม่ขัดแย้งกับท่านหรือ คำว่า เสียงเรียกร้องประชาชน ที่ว่า ยังไงนะครับ ที่เขาร้องมาแล้วท่านจะทำอย่างไร เพื่อให้ 2 คำนั้นมีความหมายตามที่ท่านพูดออกมา เพราะฉะนั้นถ้ามีโอกาสเมื่อไรก็พูดออกมา สื่อสารกับประชาชน ท่านไม่ต้องบอกผมหรอกว่าท่านจะทำอะไร เมื่อท่านเข้ามาบริหารราชการ อะไรที่จะทำให้ประเทศมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน อะไรที่จะไม่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ไม่ทำให้ประชาชนแบ่งฝ่าย เหล่านี้ โดยเป็นเห็นผลทางการเมือง ในทุกกลุ่มงานท่านต้องตอบออกมา เล่าให้เขาฟังเหมือนที่ผมเล่าอยู่ทุกวันนี้ 2 ปีมาแล้ว” นายกฯ กล่าว นายกฯ กล่าวต่อว่า ความมั่นคง เศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข การแก้ปัญหาความยากจน การลดความเหลื่อมล้ำ การสร้างความเข้มแข็งของประเทศ และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบ้านเมืองเรา กับทุกประเทศที่เขากำลังเร่งพัฒนาในภูมิภาคเดียวกันกับเรา ทั้งในอาเซียนด้วย ตนก็ฟังปัญหาต่างๆ จากประชาชน วันนี้ก็ยังมีความมั่นใจอยู่ในการทำงานของรัฐบาลที่ทำอยู่ แต่เขาไม่แน่ใจกับการทำงานของนักการเมือง นี้แหละคือตนเป็นห่วง แล้วตนเองก็ไม่ใช่ศัตรูของท่าน เพราะฉะนั้นเขาเป็นห่วงกับการทำงานของท่านในอนาคต ช่วยกันทำให้ให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกับท่าน ไม่อยากให้มองแต่คอยจับผิด อะไรที่ยังไม่สำเร็จก็กำลังแก้ไขอยู่ ท่านก็จับผิดเล็กๆน้อยๆ รอยต่อช่องว่างเล็กๆน้อยๆ ก็แก้ไป ในเมื่อเราวางเป้าหมายแล้วก็ต้องเดินตาม แล้วก็แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างเราเดิน เดินทางมันก็มีอุปสรรคมากมาย แต่ถ้ามาติอะไรที่กำลังเดินอยู่กำลังแก้อยู่ มันไปไม่ได้หรอก ต้องช่วยกัน หลายอย่างท่านก็ทำไว้แล้ว หลายอย่างท่านก็ยังทำไม่สำเร็จ ตนก็มาทำต่อมาแก้ไขให้มันดีขึ้น ปัญหาต่างๆที่ต้องแก้ไขมากมายบางอย่างท่านก็สร้างเอาไว้ นายกฯ กล่าวต่อว่า ต้องมาช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ทั้งนักการเมือง ทั้งทหาร ทั้งรัฐบาล ทั้ง คสช. วันนี้จากวันนี้เป็นต้นไป จะต้องช่วยกันทำให้ประเทศชาติดีขึ้น ไม่ใช่มาขัดแย้งกันด้วยประชาธิปไตย ลงประชามติเลือกตั้ง นู่นนี่ พูดมา2ปีแล้ว ตนก็ยังไม่เห็นท่านพูดอะไรใหม่บ้างเลยว่า จะทำอะไรเมื่อท่านเข้ามา คนเขารอฟังอยู่ ก็ไม่อยากให้ติติงอย่างเดียวกับสิ่งต่างๆที่ยังไม่สำเร็จ ที่ผ่านมาท่านอาจจะไม่สนใจมากนัก ปล่อยปะละเลยบ้างอะไรบ้าง หรือไม่อยากจะทำ ไม่คิดจะทำ เหล่านี้มองแล้วว่า ไม่ใช่ “การติเพื่อก่อ” เป็นการแสดงความเห็นที่บริสุทธิ์ใจ เพราะว่ามันมีปัญหาซึ่งทำให้เกิดปัญหา เพราะฉะนั้นจึงมองได้แต่เพียงความเพียรพยามยามที่จะทำเรื่องผิดๆให้เป็นถูก ทำถูกให้เป็นผิด โดยอาศัยความไม่รู้เท่าทันของหลายภาคส่วน ทั้งนี้ด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์ของรัฐบาลและ คสช. ร่วมกับประชาชน ก็คาดหวัง กับคำที่กล่าวที่นักการเมืองพูดเสมอว่า “เราจะต้องเป็นประชาธิปไตย ฉะนั้นท่านก็ช่วยอธิบายว่า ท่านจะเป็นยังไงในประชาธิปไตยของท่าน การมีธรรมาภิบาลของท่านนั้นคืออะไร ” นายกฯ กล่าวต่อว่า จะทำอะไรบ้างที่ให้ประชาชน ถ้าทำไปแล้ว รัฐสวัสดิการ จะใช้ใช้จ่ายงบประมาณจากไหน จะหาเงินอย่างไร ระบบเศรษฐกิจท่านจะมีรายไดประเทศอย่างไร เพราะที่ตนเข้ามามันไม่มีเรื่องพวกนี้ไง มีแต่การใช้จ่ายที่ค่อนข้างจะมีปัญหาเรื่องงบประมาณ ถ้าไม่แก้ไขวันนี้ ไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านตรงนี้ไม่ช่วยกันก็ไปไม่ได้หมด ประชาชนก็เดือดร้อน ก็ขอร้องนะครับ ประชาชนต้องเข้าใจว่า เราอ่อนแอ อ่อนแอมา เรารอเขามานานแล้ว วันนี้เรากำลังทำอยู่ 3 ปีเท่านั้นเอง ก็ต้องทำให้สำเร็จ อยากให้รัฐบาลของตนกับ คสช.และกับประชาชนที่เขาคาดหวัง เขาอยากจะฟังว่า ที่ท่านว่าประชาชนที่ต้องการประชาธิปไตย แต่เพียงอย่างเดียวนั้น โดยไม่พูดเรื่องอื่น ต้องเล่าให้เขาฟังบ้างนะ ผู้คนสับสน อลหม่าน หมดเลย ทำประชามติเขาวุ่นไปหมด มันอาจจะทำให้ประเทศไทยไม่มีเสถียรภาพ อย่างที่ต่างประเทศเป็นห่วงกังวล “แต่ผมยืนยันผมจะรักษาเสถียรภาพให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับท่านด้วยว่าจะทำให้ประชาชนสงบลงได้อย่างไร สื่อ โซเชียลมีเดีย ไม่อยากให้ทุกอย่างมันกลายเป็นว่า ผมมาทำให้ท่านขัดแย้งกันมากขึ้นอีก ผมต้องการมาสงบความขัดแย้งแล้วก็แก้ไขปัญหาที่ท่านทำกันไว้ ผมเรียนแล้วว่ามีทั้งดีและปัญหา เพราะฉะนั้นผมไม่อยากกล่าวโทษใครทั้งหมดหรอกครับ ท่านจะตำหนิติเตียนอะไรผมก็ยอมรับได้หมดอยู่แล้วแหละไม่เป็นไรผมไม่โกรธหรอกนะ อย่าทำให้สถานการณ์ความวุ่นวายเกิดขึ้นอีกก็แล้วกัน ที่เกิดขึ้นในปี 57 นั้นแล้วก็มีการปฏิวัติรัฐประหารและทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา ถ้าหากทุกอย่างมันดีอยู่แล้ว ประชาชนมีความสุข มีการบริหารที่โปร่งใส ก็คงไม่มีการประท้วง ไม่มีการขยายการประท้วงให้รุนแรงขึ้น มีภาพความรุนแรงใช้อาวุธสงคราม เกลียดชัง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย จนชัดเจนไปหมด ที่ผ่านมาโดยการสร้างวาทะกรรม เพราะฉะนั้นถ้ามันดีอยู่แล้วใครจะกล้าเข้ามาปฏิวัติ รัฐประหาร ผมว่าประชาชนไม่ยอมหรอกครับ และผมก็ไม่ทำร้ายประชาชนอยู่แล้ว แต่ทำให้มันสงบทำให้ประเทศเข้มแข็ง เพราะฉะนั้นทุกอย่างถ้าใช้วาทะกรรมอย่างเดียวก็ทะเลาะกันไม่เลิก ทุกอย่างต้องมีเหตุมีผลในการทำ ในการกระทำในตัวของมันเองด้วย”พล.อ.ประยุ นายกฯ กล่าวต่อว่า อีกประการหนึ่ง ขอฝากถึงพี่น้องประชาชน ท่านต้อง “เปิดใจ” ยอมรับ การกำหนดเป้าหมายในชีวิตที่ต้องการ ตนทราบดีว่าประชาชนต้องการมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม มีรายได้ที่สูงขึ้น มีอาชีพที่ดี เป็นหลักเป็นแหล่ง ยั่งยืน และต้องการความมีระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง แต่ท่านก็ต้องพร้อมกับ “ปรับตัว” ยอมรับสิ่งใหม่ๆ ที่กำลังทำรวมกับเรากันอยู่ ไม่ว่าจะเรื่องการจัดระเบียบ เรื่องอะไรต่างๆที่เคยปล่อยปะละเลยเรื่องกฎหมายมามันต้องกลับเข้าที่เข้าทาง หากว่าทุกคนนั้นต้องการความสะดวกสบายเหมือนเดิม ต้องการความไร้ระเบียบไร้กฎหมายเหมือนเดิม มันไม่มีทางได้สิ่งใหม่ๆกลับออกมาหรอก เราต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงกันบ้าง ยากลำบากแต่มันจะไปสู่ความสะดวกสบายและความมั่นคงในอนาคต สิ่งที่ดีๆ สิ่งใหม่ๆ ที่ทุกคนต้องการกำลังรออยู่ ท่านต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ อย่าขัดแย้งกับเราอีกเลย ขอให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย