พระบารมีปกเกล้าฯ เรียนรู้พระราชกรณียกิจในพื้นที่ประสบภัยเป็นครั้งแรก ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ดร.สุทิน ลี้ปิยะชาติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ ทรงมี พระราชหฤทัยเอื้ออาทรห่วงใยผูกพันอย่างลึกซึ้งกับพสกนิกรชาวไทยทั่วทุกภูมิภาค ทรงถือว่าทุกข์สุขของราษฎรนั้นประดุจดังทุกข์สุขของพระองค์เอง จึงทรงงานหนักอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ของพสกนิกรทุกหมู่เหล่าให้ดีขึ้นในทุกด้าน พระราชกรณียกิจ พระจริยวัตรและพระเมตตาที่ได้ประจักษ์แจ้งแก่สายตาพวกเรา พระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่นี้ ได้ก่อให้เกิดคุณูปการอเนกอนันต์แก่ประชาชนและประเทศชาติ และมีความหมายต่อพสกนิกรมากเกินกว่าจะคณานับได้ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่เปรียบมิได้ กระผมขอนำเรียนท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่านเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรที่ประสบภัยครั้งแรก และเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่ตลาดบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๔๙๗ เหตุการณ์ไฟไหม้ในครั้งนั้น ได้ส่งผลกระทบแก่ราษฎรเป็นอย่างมาก ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๔๙๗ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จฯไปทรงเยี่ยมและพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎรผู้ประสบอัคคีภัยในพื้นที่นั้น ซึ่งนับได้ว่าเป็นการเสด็จฯเยี่ยมเยียนราษฎรที่ประสบภัยอย่างเป็นทางการ เป็นครั้งแรกในรัชกาล จากการศึกษาและค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ไฟไหม้ในครั้งนั้น พบว่า หากล่องลงใต้ต้องผ่านตลาดบ้านโป่ง ซึ่งเป็นชุมทางการค้าสำคัญริมแม่น้ำแม่กลอง มีตลาดล่างและตลาดบนอยู่ติดกัน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์อัคคีภัยตลาดบ้านโป่งก็ราบเรียบเป็นเถ้าถ่านภายในเวลาเพียง ๔ ชั่วโมง พสกนิกรหลายคนถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัว เครียดและถึงกับคิดสั้น ไม่อยากมีชีวิตอยู่ แต่แล้วเหตุการณ์อัคคีภัยในครั้งนั้น ก็ได้เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่จารึกอยู่ในความทรงจำของชาวบ้านโป่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จฯไปเยี่ยมราษฎรผู้ประสบความเดือดร้อนโดยไม่มีหมายกำหนดการ และไม่มีใครคาดคิด อัคคีภัยครั้งนั้น เกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ ๑๔.๓๐ น.ของวันที่ ๙ กันยายน ๒๔๙๗ ต้นเพลิงเกิดจากร้านค้าทั้งค้าปลีกและค้าส่งประเภทอาหารกระป๋อง และไปขาดทุนจากการทำเหมืองที่ปิล็อก กาญจนบุรี เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งนี้ ไฟได้โหมขึ้นอย่างรวดเร็ว ประชาชนตั้งสติกันไม่ทัน จังหวัดราชบุรีและนครปฐมที่อยู่ใกล้เคียง ก็มีรถดับเพลิงเพียงจังหวัดละคัน จึงต้องประสานสถานีดับเพลิงจากกรุงเทพฯ มาช่วย เหตุการณ์ครั้งนั้น ไฟได้เผาไหม้วอดไปหลายหลังคาเรือนที่ส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ มีผู้เสียชีวิตและประชาชนประสบภัยกว่า ๖,๐๐๐ คน ทรัพย์สินเสียหายกว่า ๖๐ ล้านบาท หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น จังหวัด กรมประชาสงเคราะห์ กรมอนามัย และกองอาสากาชาด ได้ระดมความช่วยเหลือผู้เคราะห์ร้าย โดยเร่งสร้างเพิงให้อาศัยชั่วคราว และแจกเสื้อผ้าอาหาร แม้ว่า การช่วยเหลือดังกล่าวจะช่วยทำให้ความเดือดร้อนทุเลาลงได้บ้าง แต่ประชาชนหลายคนก็หมดอาลัยตายอยากกับชีวิตที่หมดสิ้นทุกอย่างทั้งทรัพย์สินและที่อยู่อาศัย ขณะที่ ชาวบ้านโป่งกำลังท้อแท้สิ้นหวังกันอยู่นั้น เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน เวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงขับรถพระที่นั่งมายังที่เกิดเหตุด้วยพระองค์เอง พร้อมด้วยสมุหราชองครักษ์ โดยไม่มีใครได้รู้ล่วงหน้า ทั้งนี้ ทรงมีพระราชประสงค์มิให้เจ้าหน้าที่ซึ่งกำลังปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือราษฎร ต้องมาเตรียมการรับเสด็จ ทรงขับรถพระที่นั่งออกจากพระที่นั่งอัมพรสถาน เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถวายอารักขาก็ไม่ทราบ แต่ได้ตามมาทันก็เมื่อทรงแวะเสวยพระกระยาหารที่พระที่นั่งชาลีบรมอาสน์ พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัด นครปฐม เมื่อเสด็จฯมาถึงที่เกิดเหตุ นายแม้น อรจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีในขณะนั้น ซึ่งกำลังปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ได้เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลถวายรายงาน และอัญเชิญเสด็จฯไปประทับบนที่ว่าการอำเภอบ้านโป่ง บริเวณที่ไม่ถูกไฟไหม้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน ๑ แสนบาท พร้อมรับสั่งให้เจ้าหน้าที่สถานีวิทยุ อ.ส. นำเสื้อผ้าอาหารและยารักษาโรคพระราชทานไปมอบแก่ผู้ประสบทุกข์ และเสด็จฯกลับเมื่อเวลาประมาณ ๑๕.๓๐ น. การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมตลาดบ้านโป่งของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในครั้งนั้น ในขณะที่ราษฎรชาวบ้านโป่งกำลังประสบทุกข์แสนสาหัส ได้ทำให้หัวใจที่ห่อเหี่ยวสิ้นหวังของชาวบ้านโป่ง กลับมีชีวิตชีวา มีพลังที่จะเผชิญชีวิตกันต่อไป และเป็นเรื่องราวถ่ายทอดให้ลูกหลานได้รับรู้ถึงความประทับใจจวบจนทุกวันนี้ การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่ตลาดบ้านโป่งครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในรัชกาลที่เสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรที่ประสบภัย ต่อมาในวันที่ ๒๐-๒๑ กันยายน ๒๔๙๘ ได้เสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรจังหวัดนครปฐมและสุพรรณบุรี และวันที่ ๒๗-๒๙ กันยายน ๒๔๙๘ ได้เสด็จฯไปทรงไปเยี่ยมราษฎรในจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๔๙๘ เสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรจังหวัดนครนายก และในวันที่ ๒-๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ เสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยทรงเป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จฯไปทรงเยี่ยมพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์-๑๗ มีนาคม ๒๕๐๑ หลังจากทรงผนวชและลาสิขาแล้ว ได้เสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรในภาคเหนือ และในวันที่ ๖-๒๗ มีนาคม ๒๕๐๒ เสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรในภาคใต้ ก่อนจะเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมนานาประเทศ โดยเสด็จฯไปสาธารณรัฐเวียดนามใต้เป็นประเทศแรกในวันที่ ๑๘-๒๑ ธันวาคม ๒๕๐๒ การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคทั้ง ๔ ทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางนี้นับเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ ที่สะท้อนพระราชปณิธาน พระราชอัธยาศัย ได้แสดงออกปรากฏอย่างชัดเจน ทรงห่วงใยทุกข์สุขของพสกนิกร และทรงทุ่มเทพระวรกายช่วยเหลือพสกนิกรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งพระราชอัธยาศัยอันงดงาม เป็นที่ปลาบปลื้มของราษฎรที่เข้าเฝ้าฯ และนับเป็นเหตุการณ์ความประทับใจที่จดจำไว้เป็นความสุขชั่วชีวิต ส่วนหนึ่งที่พระองค์ทรงเป็นที่รักเคารพ เทิดทูนไว้เหนือเกล้าของชาวไทยในปัจจุบัน