ด้วยจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายถูกปักหมุดหมายให้เป็นเมืองแห่งชาและกาแฟระดับโลก โดยอาศัยอัตลักษณ์ของเมืองที่มีจุดเด่นทางภูมิศาสตร์ที่เป็นแหล่งเพาะปลูกชาและกาแฟชั้นเลิศ นอกเหนือจากทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมที่มีความเป็นเอกลักษณ์ โดยมีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาสะท้อนแผนการดำเนินงานดังกล่าวได้อย่างน่าสนใจ

ต่อยอดอุตสาหกรรมด้านธุรกิจไมซ์

ซึ่ง นายภูริพันธ์ บุนนาค รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ทีเส็บมีแนวทางผลักดันให้ภาคเหนือตอนบนเป็นจุดหมายปลายทางการจัดงานไมซ์ทางด้านชาและกาแฟระดับนานาชาติผ่าน 3 โครงการหลัก คือ โครงการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และสินค้าชุมชน ผ่านการจัดงานแสดงสินค้าและการประชุมด้านชาและกาแฟระดับนานาชาติ หรือ World Tea and Coffee Expo ซึ่งได้จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่สองเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โครงการสนับสนุนไมซ์ซิตี้และเมืองในภาคเหนือที่มีศักยภาพในการทำตลาดเมือง (Destination Marketing) โดยการสร้างจุดขายจากอัตลักษณ์ของเมือง (City DNA) และโครงการบูรณาการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ: ไมซ์สร้างสรรค์ รวมพลังชุมชนภาคเหนือ ผ่านการพัฒนาเส้นทางใหม่ๆ รองรับกิจกรรมไมซ์ และผลิตภัณฑ์ไมซ์จากชุมชน

ภูริพันธ์ บุนนาค

ทั้งนี้จะมีการพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดเชียงราย และภาคเหนือตอนบน โดย เป็นการส่งเสริมเพื่อให้เกิดการประชุมทางด้านวิชาการ และจัดแสดงนิทรรศการที่มีทั้งผู้ซื้อ และผู้ขาย ขณะที่ชาและกาแฟเจะเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของทางภาคเหนือ และก็มีโอกาสที่จะขยายต่อ เพิ่มการทำงานร่วมกันไปยังภูมิภาคอื่นด้วย ทั้งภาคใต้ และภาคกลาง

โดยในเดือนกันยายนมีประชุมร่วมกันจะมีการเดินทางลงไปที่ภาคใต้ จังหวัดสงขลา  เป็นการสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการมากขึ้น โดยจะเน้นตลาดในประเทศ เพื่อให้เกิดการประชุม และแสดงนิทรรศการภายในประเทศ ก่อนจะต่อยอดไปในอนาคตในตลาดต่างประเทศมากขึ้น  

ขยายต่อไปยังระเบียงเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม นายภูริพันธ์ กล่าวว่า ชาและกาแฟ เป็นส่วนประกอบหนึ่งของการจัดประชุม  และจะเป็นฮับที่สามารถต่อยอด และขยายต่อยังระเบียงเศรษฐกิจ ไปยังสปป.ลาว และทางตอนใต้ของจีน เพราะฉะนั้นชาและกาแฟ จึงเป็นสินค้าที่เหมาะสมในการเร่งระดมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในเวลานี้  

สำหรับศักยภาพของเชียงรายในเรื่องการจัดประชุม และสัมมนา ซึ่งต้องยอมรับ ว่า เชียงรายไม่มีศูนย์ประชุมฯ ที่ใหญ่เท่ากับเชียงใหม่ แต่ว่า มีมหาวิทยาลัย มีหน่วยงานราชการที่ส่งเสริมการประชุมทางวิชาการเป็นจำนวนมากก็จะเข้าไปช่วยในจุดนี้ เพราะได้เห็นศักยภาพที่สามารถต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมไมซ์ในจังหวัดได้

รวมไปถึงการค้าชายแดนจะนำพาธุรกิจการแสดงสินค้าเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อมีการค้าชายแดน ทางเชียงรายก็จะได้เปรียบได้หลายๆ ด้าน ด้วยเป็นจังหวัดหนึ่งที่เป็นเสมือนหัวหน้ากลุ่มใน 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบน  คือ เชียงราย พะเยาว์  แพร่ น่าน ก็จะเป็นจุดผ่านที่จะไปสู่ สปป.ลาว ได้ค่อนข้างดี เพราะฉะนั้นการประชุมที่จะเกิดขึ้นสามารถนำไปเป็นกลไกเพื่อจะขยับ ปรับ และขยายเศรษฐกิจของจังหวัดต่อไป

เร่งยกระดับคุณภาพสินค้าดีขึ้น

ด้าน นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจหอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ กล่าวว่า การพัฒนาชาและกาแฟมีมานานแล้ว ตามโครงการพระราชดำริ ก่อนจะมีการต่อยอดด้านโครงสร้างพื้นฐานได้ในอุตสาหกรรมชา และกาแฟ เพื่อยกระดับคุณภาพให้ดีขึ้น  ซึ่งเมื่อได้คุณภาพจริงๆ สามารถส่งออกไปทั่วโลกในหลายพื้นที่จะสร้างโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการ

พัฒนา สิทธิสมบัติ

 โดยนายพัฒนา กล่าวต่อว่า ประเด็นที่กำลังพูดถึง คือ ทำอย่างไรจึงจะไปกันต่อ ในลักษณะของการที่จะเชื่อมทุกภาคส่วนเข้ามา ซึ่งทางทีเส็บเข้ามามองในเรื่องของคุณภาพ และมาต่อยอดในเรื่องของการประชุม การแสดงสินค้า เพื่อจะช่วยทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับชาและกาแฟขยายตัว โดยเฉพาะเรื่องท่องเที่ยว และค่อยขยับมาเป็นในเรื่องของไมซ์โดยอัตโนมัติ

ปิยาภรณ์ เชื่อมชัยตระกูล

ส่วน ผช.ดร.ปิยาภรณ์ เชื่อมชัยตระกูล สถาบันชา และกาแฟ แห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวถึงยุทธศาสตร์ที่จะผลักดันเรื่องชากาแฟแถบภาคเหนือ ว่า จะผลักดันชา และกาแฟให้มีคุณภาพ ตามมาตรฐานทั้งในประเทศ และระดับสากล โดยดูจากความพร้อมของเกษตรกรในด้านการแปรรรูปมีศักยภาพในการทำตลาดในประเทศ หรือต่างประเทศ ก่อนจะส่งเสริมไปในทิศทางนั้นๆ ซึ่งถึงระดับหนึ่งชาและกาแฟสามารถยกระดับในทุกมิติได้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มคุณค่าสินค้าเข้าไปในชาและกาแฟ อาทิเช่น เวลานี้ไร่ชา หรือกาแฟ เริ่มเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ตรงนี้ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย เพียงดีไซน์การบริการในรูปแบบที่ชัดเจน สามารถเล่าเรื่องในสิ่งที่ทำจากประสบการณ์จริง เป็นเทรนด์ของตลาดกำลังได้รับความนิยม ซึ่งสอดคล้องกับการบอกต่อถึงเรื่องราวที่มาของสินค้านั้นๆ ในสังคมปัจจุบัน