การสวดพระมหาชาติคำหลวงมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ด้านกรมการศาสนา(ศน.) สืบสานการสวดฯ

นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวว่า ศน.ได้จัดเจ้าหน้าที่จัดสวดพระมหาชาติคำหลวง ในงานพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เนื่องในวันอาสาฬหบูชาและเทศกาลเข้าพรรษา ประจำปี 2566 เพื่อเป็นการสืบสานการสวดพระมหาชาติคำหลวง ที่เริ่มมีการสวดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงปัจจุบัน

การสวดพระมหาชาติคำหลวง เป็นการเล่าถึงอดีตพระชาติของพระพุทธเจ้า ที่ได้บำเพ็ญทานอันเป็นยอดหลายประการ มีการแจกทานเป็นนิตย์ จำนวน 13 กัณฑ์ ตามธรรมเนียมการสวดพระมหาชาติคำหลวงจะสวดทุกวันพระในระหว่างเข้าพรรษา ปัจจุบันคงเหลือแต่สวดเพียงกัณฑ์มหาพนเท่านั้น โดยนักสวดจะเป็นข้าราชการกรมการศาสนา จะแต่งกายโดยนุ่งผ้าขาวแบบโจงกระเบนสวมเสื้อเครื่องแบบปกติขาว (ราชปะแตนหรือชุดเครื่องแบบปกติขาว) สวมถุงเท้าสีขาวยาวเสมอเข่าตั้งเตียงสวดต่อท้ายอาสน์สงฆ์ในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีกระบะบูชาปักธูปเทียน สมุดที่ใช้บันทึกมหาชาติคำหลวงเป็นสมุดไทยดำเขียนตัวหนังสือ ด้วยหรดาลและมีเครื่องหมายบอกทำนองสวดกำกับไปทุกวรรค

การสวดพระมหาชาติคำหลวงในปีนี้ ตรงกับวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 วันที่ 1 และวันที่ 2 สิงหาคม 2566 ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง โดยมีนักสวดพระมหาชาติคำหลวง 4 คน ได้แก่ นายปิยวัฒน์ วงษ์เจริญ นายเฉลิมชัย ดงจันทร์ นายทินวุฒิ บัวรอด และนายณัฐพล เกิดเอี่ยม  ซึ่งนักสวด 4 คนนี้ เป็นผู้สวดที่คล่องแคล่วและแม่นยำในอักขระ เพราะต้องสวดเบื้องหน้าพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ยังมีการสวดมหาชาติคำหลวงในงานพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ซึ่งจะมีนักสวดมหาชาติคำหลวงสวดในเวลาอื่นๆ สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป

นักสวดพระมหาชาติคำหลวง ต้องใช้เวลาฝึกฝนอย่างหนัก ต้องฝึกสอนกันแบบวรรคต่อวรรค คำต่อคำ เนื่องจากในการสวดพระมหาชาติคำหลวงมีการออกเสียงที่ยาก บางคำเขียนเหมือนกันแต่ออกเสียงไม่เหมือนกัน การออกเสียงทั้งเสียงสูง เสียงกลาง เสียงต่ำ เสียงสั้น เสียงยาว หลังการฝึกหัดนักสวดพระมหาชาติคำหลวงแล้ว จะมีการคัดเลือกหลังจากฝึกหัดนักสวดพระมหาชาติคำหลวง โดยนำบุคคลที่ผ่านการฝึกหัดการสวดพระมหาชาติคำหลวงและสามารถสวดได้อย่างถูกต้อง มาฝึกซ้อมการสวดร่วมกัน ครั้งละ 4 คน จำเป็นต้องหากลุ่มบุคคลที่เสียงมีความเข้ากันได้ประสานเสียงจนเกิดความไพเราะ และพร้อมจะเป็นทีมเดียวกัน เนื่องจากกว่าจะฝึกจนสวดได้คล่อง 1 บท อาจต้องใช้เวลาถึง 1 ปีเลยทีเดียว อีกทั้งการสวด ผู้สวดต้องมีความชำนาญในการสวด ให้ถูกต้องตามโบราณราชประเพณี อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดการสวดพระมหาชาติคำหลวงที่ถูกต้องให้คงอยู่เป็นเอกลักษณ์และมรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทยสืบไป