สัปดาห์พระเครื่อง / ราม  วัชรประดิษฐ์                                                                                                                      

วัดพระรูป เป็นวัดโบราณเจริญและร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ริมถนนขุนช้าง ต.ท่าพี่เลี้ยง ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณ เป็นแหล่งกำเนิดพระกรุพระเก่าหลายประเภท ส่วนใหญ่นำมาผูกกับวรรณคดีที่เข้าใจว่าแต่งขึ้นสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 คือ ‘เรื่องขุนช้างขุนแผน’ และที่ขึ้นชื่อได้แก่ “ขุนแผนไข่ผ่าซีก” และ “ขุนแผนแตงกวาผ่าซีก” ท่านสุนทรภู่ ได้รจนาในนิราศสุพรรณเมื่อปี พ.ศ.2378 ไว้ว่า

"ฝั่งซ้ายฝ่ายฟากโน้น    พิสดาร

มีวัดพระรูปบุราณ          ท่านสร้าง

ที่ถัดวัดประตูสาร          สงฆ์สู่ อยู่เอย

หย่อมย่านบ้านขุนช้าง    ชิดข้างสวน บัลลังค์"

วัดพระรูป

ขุนแผนกรุวัดพระรูป เข้าใจว่าสร้างในสมัยอู่ทอง ซึ่งนับว่ามีอายุเก่าแก่กว่าพระตระกูลขุนแผนทั้งหมด  มีทั้งเนื้อหยาบและเนื้อละเอียด พุทธลักษณะองค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย ภายในซุ้มเรือนแก้ว พระพักตร์ยาว พิมพ์ด้านหลังเป็นหลังอูม โดยแบ่งแยกออกไปอีกเป็น 2 พิมพ์ คือ

1.พิมพ์ไข่ผ่าซีก จะมีลักษณะคล้ายไข่ไก่ผ่าซีก

2.พิมพ์แตงกวาผ่าซีก ลักษณะจะเรียวยาวและเล็กกว่าพิมพ์ไข่ผ่าซีก 

พระกรุวัดพระรูป

ขุนแผนพระรูปทั้ง 2 พิมพ์นี้ มีพุทธคุณเป็นเลิศทางด้านคงกระพันชาตรีและเมตตามหานิยมเป็นที่ปรากฏ จนเป็นที่แสวงหาของนักนิยมสะสมพระเครื่องอย่างกว้างขวาง นอกจาก ขุนแผนพระรูป แล้ว วัดพระรูปยังมีการขุดค้นพบพระเครื่องอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ พระพลายงาม พระขุนไกร และ พระกุมารทอง (พระยุ่ง) เป็นต้น

สำหรับ “ขุนแผนไข่ผ่าซีก” นั้น นับเป็นพระดีน่าเก็บ สนนราคาปัจจุบันหลายต่อหลายหมื่นขึ้นไปแล้ว เรียกว่าเป็นพระเบ่งได้ (เบ่งราคา) มีวิธีดูดังนี้

ขุนแผนแตงกวาผ่าซีก

ขุนแผนแตงกวาผ่าซีก

- มีทั้งเนื้อหยาบและเนื้อละเอียด หน้าตาไม่ชัดนัก แต่จะเห็นเม็ดแร่สีน้ำตาลอมแดงกระจายอยู่ทั่วองค์ เนื้อแม้จะดูคล้ายพระขุนแผนพิมพ์อื่นๆ แต่มีความแน่นตัวมากกว่า เมื่อใช้ถูกเหงื่อจะขึ้นมันเงางาม

- องค์พระยังคงไม่ทิ้งเอกลักษณ์ของพระพุทธชินราช กล่าวคือ ประทับนั่งปางมารวิชัยในซุ้มเรือนแก้ว พระพักตร์เป็นทรงรี ขมับทั้งสองข้างยุบตัวเข้าไป ที่สำคัญอีกจุดหนึ่งคือ ปลายพระเกศจะมีติ่งงอคล้ายเงี่ยงเบ็ดหรือแฉกลูกศรอยู่ทางซ้ายขององค์พระ

- เหนือขมับซ้ายจะมีเส้นพิมพ์แตกวิ่งเฉียงไปจดซุ้ม ส่วนพระกรรณสองข้างส่วนบนไม่ค่อยติดชัดนัก จะเห็นส่วนตอนล่างวิ่งรางๆ (ต้องใช้กล้องส่อง) ลงมาจดพระอังสา และให้สังเกตของแท้จะมีเส้นเอ็นคอวิ่งเชื่อมหนึ่งเส้น

- ซุ้มเรือนแก้ว มีลักษณะพลิ้วโค้งมีเสาซุ้มรับทั้งสองด้าน ให้ดูระหว่างเสาซุ้มด้านซ้ายขององค์พระกับลำพระกรซ้ายจะมีจุดเล็กๆ หนึ่งจุด อยู่ตรงกลางเหนือข้อศอกด้านนอกองค์พระ

ขุนแผนแตงกวาผ่าซีก

ขุนแผนแตงกวาผ่าซีก

- มีเอกลักษณ์ของขุนแผนไข่ผ่าซีกที่คนโบราณเรียกกันว่า "ตราเบนซ์" คือ เป็นรูปดาวสามแฉกคล้ายโลโก้รถ Mercedes -Benz ตอนหัดเล่นพระใหม่ๆ อาจารย์สอนส่องหาตราเบนซ์ซะตาแทบกลับ เพราะบริเวณนั้นเต็มไปด้วยเส้นสายยุ่งอีนุงตุงนังไปหมด แต่พอดูเป็นแล้วเห็นชัดเลย แฉกแหลมสามอันจะมีรอยย่นๆ เล็กน้อย ไม่ตึงเป๊ะทีเดียว บางคนเรียก แฉกดาว ใบพัดเรือ หรือ กังหัน แล้วแต่จะเรียก

ขุนแผนไข่ผ่าซีก

ขุนแผนไข่ผ่าซีก

- องค์พระ นั่งบนฐานบัวหงาย มีเส้นคั่นกลางระหว่างพระเพลากับฐานบัว ให้ดูเส้นนี้จะหนาหน่อย แต่ตรงกลางเส้นจะขาดหายไม่ปะดิตปะต่อกัน ส่วนฐานบัวจะคลี่กลับบานออกด้านขวามือ ด้านล่างระหว่างกลีบบัวที่คลี่กางจะมีเส้นเรียวเล็กๆ ปลายแหลมโค้งสะบัดพลิ้วอย่างงดงาม

ส่วน “พิมพ์แตงกวาผ่าซีก” นั้น ขนาดจะย่อมกว่า นอกจากนี้ วัดพระรูปนี้ยังมีของดีที่น่าดูอีกเช่น พระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ปางไสยาสน์ศิลปะอู่ทอง, ระฆังโบราณอายุกว่าสองร้อยปี, ธรรมาสน์สังเค็ดสมัยอยุธยา และเก๋งจีน ที่น่าชมมากทีเดียวครับผม

ขุนแผนไข่ผ่าซีก

ขุนแผนไข่ผ่าซีก