ในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023) มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “ทิศทางการลงทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและสังคมในการพัฒนาประเทศ” โดยมี กศว.-สภาพัฒน์ -สอวช.-สภาอุตฯ จี้รัฐออกมาตรการสร้างแรงจูงใจภาคเอกชน เพิ่มลงทุนวิจัยและนวัตกรรม นำพาประเทศไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง สู่ประเทศพัฒนาแล้ว

โดย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) หนึ่งในวิทยากร กล่าวในช่วงหนึ่งของการเสวนา โดยระบุว่า หนึ่งใน 13 หมุดหมายของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ความสำคัญการวิจัยและนวัตกรรมในการพัฒนาประเทศ ซึ่งในมุมของการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อววน.) นั้น มีเป้าหมายการลงทุนวิจัยและพัฒนา 2% ในปี 2570 ซึ่งหากยังคงเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการผลักดัน เพื่อดึงดูดการลงทุนวิจัยและพัฒนา เพิ่มจากปัจจุบันอีกประมาณ 3 แสนล้านบาท หรือประมาณปีละ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป้าหมายหลักคือภาคเอกชนที่ปัจจุบันลงทุนในสัดส่วน 70% ในจำนวนนี้เกือบ 80% มาจากบริษัทขนาดใหญ่ประมาณ 40 กว่าบริษัท 

ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า เงื่อนไขของการไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว รายได้ต่อหัวของประชากรจะอยู่ที่ปีละ 4 แสนบาท ในส่วนของประเทศไทย ภาครายได้ของคนทำงานที่มีรายได้ประจำ อาจจะถึงเป้าหมาย แต่ในภาคเกษตรกรอยู่ประมาณ 1 แสนกว่าบาทเท่านั้น ซึ่งยังมีช่องว่างอีกมาก การจะเร่งขับเคลื่อนให้ประเทศไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ต้องเพิ่มการลงทุนวิจัยและพัฒนา ซึ่งปัจจุบันเราลงทุนอยู่ที่ 1.22% ของจีดีพี หรือประมาณ 17-18 ล้านล้านบาท ขณะที่เป้าหมาย 2% ของ จีดีพี จะอยู่ที่ประมาณ 28 ล้านล้านบาท ดังนั้นยังต้องการลงทุนเพิ่มอีก 11 ล้านล้านบาท   

ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า ทิศทางแนวโน้มในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในการทำนโยบาย อววน. นั้น เราคิดครอบคลุมทั้งเรื่องของเศษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยแนวทางในการออกจากกับดักรายได้ปานกลางนั้น 2 นโยบายหลักที่สำคัญจะนำไปสู่เป้าหมายได้คือ การเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprises: IDEs) และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากทุนวัฒนธรรม ซึ่งเรามีต้นทุนที่ดีอยู่มาก หากสามารถทำให้เกิดมูลค่าในทางเศรษฐกิจ เชื่อมกับการท่องเที่ยวได้ จะเพิ่มรายได้เข้าประเทศได้อีกมหาศาล ดังนั้นสายงานดิจิทัลคอนเทนต์ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องผลิตบุคลากรมาสนับสนุน และจากการเก็บข้อมูลของ สอวช. พบว่า สายงานในด้านนี้ จะสามารถเพิ่มรายได้ให้กับประเทศได้ถึง 5 แสนล้านบาท 

ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญที่ต้องพัฒนาควบคู่ไปด้วยคือ นโยบายยกระดับสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจฐานราก การลดก๊าซเรือนกระจก 10 ล้านตันคาร์บอนฯ โดยการนำ อววน. สนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาคนตอบความต้องการของภาคการผลิตและบริการ รวมถึงการปฏิรูประบบอุดมศึกษา อาทิ การจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา หรือ Higher Education Sandbox ตัวอย่างเช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษา 300 คน สามารถเข้ามาเรียนในหลักสูตร และทำงานในสายงานที่เกี่ยวข้องไปด้วย โดยจะจัดการเรียนการสอนระหว่างมหาวิทยาลัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม เมื่อเห็นว่าเด็กสามารถทำงานในตำแหน่งงานบางอย่างได้ จะเทียบค่ารายได้ให้กับเด็กตั้งแต่ตอนนั้น ให้เด็กออกไปทำงานได้เลย และถ้าต้องการปรับเพิ่มทักษะ ก็สามารถกลับเข้ามาเรียนได้ ซึ่งในระหว่างการทำงาน สามารถสะสมเป็นหน่วยกิตเข้าธนาคารหน่วยกิตได้ 

ดร.กิติพงค์ กล่าวด้วยว่า การแข่งขันทางเศรษฐกิจในอนาคต จะไม่เน้นการแข่งขันในเรื่องของค่าแรงขั้นต่ำ แต่ควรขยับการแข่งขันไปอีกระดับ โดยพัฒนาแรงงานทักษะสูงเพิ่มมากขึ้น เมื่อมองดูศักยภาพโดยภาพรวมจะเห็นว่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมีความเข้มแข็งมาก นอกจากนี้ เรายังได้ลงทุนด้าน ววน. และโครงสร้างพื้นฐานไว้มาก เรามีอุทยานวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ทั่วประเทศ เอกชนก็สามารถเข้ามาใช้บริการได้ สามารถปั้นผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม ทั้งสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี ที่สามารถนำงานวิจัยต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้เป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ยังมีนโยบายทางด้าน BCG และ Non BCG เช่น อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมอีวี ดิจิทัลครีเอทีพคอนเทนต์ โลจิสติกส์ สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น 

ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวถึงศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจในอาเซียนของอินโดนีเซีย เติบโตขึ้นอย่างน่าจับตา ทั้ง จีดีพี และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เมื่อหันกลับมามองบ้านเรา ซึ่งมีจุดแข็งมากมาย ทั้งโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาที่พัฒนาขึ้นมากในรอบ 30 ปี กฎหมายหลายฉบับที่ปลดล็อกเพื่อสามารถนำงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ทำได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังมีแนวทางสนับสนุนการจัดตั้ง Holding Company เชื่อมโยงภาคการตลาด พัฒนา E-Commercial Platform รวมถึงเชื่อมโยง Data Analytic ให้เข้ากับโจทย์นวัตกรรมของผู้ประกอบการรายย่อย สิ่งที่ต้องดำเนินการเพิ่มมากขึ้นคือ บูรณาการกระบวนงานและข้อมูลหน่วยงานภาครัฐเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่าง ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรสนับสนุนระบบโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในเรื่องความสามารถในการแข่งขัน ที่จะเป็นแต้มต่อให้ผู้ประกอบการได้

ในการเสวนาครั้งนี้ ยังได้มีการเชิญผู้บริหารจาก คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งผู้ร่วมเสวนาเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ประเทศไทยจะพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางสู่ประเทศพัฒนาแล้วได้ จำเป็นต้องลงทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมเพิ่ม ดังนั้น รัฐบาลจึงควรมีมาตรการและแรงจูงใจเพื่อให้ภาคเอกชนลงทุนเพิ่ม แต่ทั้งนี้การลงทุนต้องตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อาทิ เกษตร อาหาร ดิจิทัล ฯลฯ และประการสำคัญต้องพัฒนาคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมในโลกที่เปลี่ยนไปด้วย