คณะกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้สนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหลายโครงการ หนึ่งในนั้นมีโครงการฝายคลองลิพังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หมู่ที่ 5 ต.ลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ในการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ด้วยการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติบริเวณแหล่งต้นน้ำ ให้มีความอุดมสมบูรณ์และมีความสมดุลทางระบบนิเวศ พร้อมขยายพื้นที่รับประโยชน์ และจัดทำแหล่งเรียนรู้ชุมชนในการพัฒนาตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ในครัวเรือนให้แก่ราษฎร

นายสุเมธา สมแสง ราษฎรหมู่ที่ 5 ต.ลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง เปิดเผยว่า อดีตที่นี่จะขาดแคลนน้ำ แต่ปัจจุบันมีน้ำสมบูรณ์ ทำให้การประกอบอาชีพสะดวกสบายไม่ขัดสน ราษฎรส่วนใหญ่จะปลูกพืชผักแบบผสมผสาน ปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลองกอง มังคุด ทุเรียน มีน้ำเพียงพอไม่ขาดแคลน ทำให้ได้รับผลผลิตที่ดีและสมบูรณ์ นอกจากนี้คนที่อาศัยอยู่ริมคลองส่งน้ำจะสามารถเลี้ยงปลาในกระชังทำให้มีกิน มีรายได้อีกทางหนึ่งด้วย “ตอนนี้น้ำไม่ขาดแคลน พระองค์พระราชทานโครงการฝายมาให้ ทำให้เก็บกักน้ำและยกระดับน้ำขึ้นมาสูงขึ้น จึงมีน้ำสำรองใช้ได้ตลอดปี แม้ในหน้าแล้งสามารถส่งน้ำให้ประชาชนได้อย่างทั่วถึง แต่พวกเราก็ช่วยกันประหยัดน้ำเพื่อป้องกันการขาดแคลน ให้ประชาชนที่อยู่อาศัยทางปลายน้ำได้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอด้วย”

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการฝายคลองลิพังฯ หมู่ที่ 5 ต.ลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามที่นายจิตร หนูหมาด ประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลลิพัง ได้ขอพระราชทานโครงการระบบประปาภูเขา เพื่อส่งน้ำไปช่วยเหลือราษฎร รวม 6 หมู่บ้าน ซึ่งประสบความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค เนื่องจากสภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปจะเป็นที่ราบเนินเขา สลับกับเทือกเขาสูง สภาพลุ่มน้ำมีความลาดเทจากทิศตะวันออกสู่ทิศตะวันตก ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม ได้แก่ สวนปาล์มน้ำมัน สวนยางพารา พืชผักสวนครัว สวนผลไม้ ปลูกบ้านพักอาศัยกระจายอยู่ทั่วไปบริเวณที่ราบสองฝั่งถนนภายในหมู่บ้าน ปัจจุบันโครงการสามารถช่วยเหลือราษฎรในตำบลลิพัง จำนวน 800 ครัวเรือน ประชากร 4,000 คน มีน้ำใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอตลอดทั้งปี นอกจากนี้ราษฎรได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มบริหารการใช้น้ำ เพื่อให้การใช้น้ำเกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกครัวเรือน

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมด้วยนางสุพร ตรีนรินทร์ รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านทุ่งปาหนัน หมู่ที่ 2 ต.ลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง เพื่อติดตามผลการดำเนินงานโครงการ โดยรับฟังสรุปผลการดำเนินงานและการต่อยอดโครงการ จากผู้แทนกรมชลประทานและจังหวัดตรัง พร้อมพบปะราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการ

การนี้ นายมณี รักดี หนึ่งในราษฎรผู้ใช้น้ำ และเป็นผู้ดูแลศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ เปิดเผยว่า ภายในศูนย์จะมีแปลงปลูกมะละกอ กล้วย มะพร้าว ดาหลา มะม่วง สตอ โดยปลูกแบบผสมผสาน มีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาให้คำแนะนำและช่วยดูแลอย่างต่อเนื่อง “ภายในศูนย์มีการสาธิตการบำรุงรักษาต้นพืชที่ปลูกอย่างถูกวิธีเพื่อป้องกันรักษาโรค พืช เช่นเชื้อรา ป้องกันแมลง โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ การใช้ฮอร์โมนบำรุงต้นพืชชนิดต่างๆ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้เข้ามาศึกษาดูงานแล้วนำกลับไปใช้ที่บ้านของตนเองต่อไป”

ทั้งนี้มติที่ประชุมคณะกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันอังคารที่ 20 มิถุนายน 2566 ณ ห้องประชุมหนุมาน 1 สำนักงาน กปร. โดยมี นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธานการประชุม ได้มีมติให้ความเห็นชอบในหลักการโครงการฯ ที่เสนอเป็นโครงการต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในเขตพื้นที่ภาคใต้ จำนวนทั้งสิ้น 8 โครงการ โดยในเขตพื้นที่จังหวัดตรัง มีโครงการฝายคลองลิพังอันเนื่องมาจากพระราชดำริรวมอยู่ด้วย โดยจะฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติบริเวณแหล่งต้นน้ำ ให้มีความอุดมสมบูรณ์เกิดความสมดุลทางระบบนิเวศเพื่อให้ราษฎรในตำบลลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ได้รับน้ำอย่างเต็มประสิทธิภาพสำหรับการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร รวมทั้งมีแหล่งเรียนรู้ชุมชนเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ

โดยพื้นที่ต้นน้ำจะก่อสร้างฝายต้นน้ำ พื้นที่กลางน้ำ ฟื้นฟูกลุ่มผู้ใช้น้ำและพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำเพิ่มเติม พื้นที่ปลายน้ำก่อสร้างท่อส่งน้ำ สายที่ 6.1 และ 7 ก่อสร้างระบบกรองน้ำผิวดิน จำนวน 1 แห่ง ก่อสร้างถังน้ำใส จำนวน 1 แห่ง ก่อสร้างถังเก็บน้ำ จำนวน 2 แห่ง และก่อสร้างถังแชมเปญ จำนวน 1 แห่ง  พร้อมสนับสนุนแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน จัดทำแปลงศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ (เกษตร ประมง ปศุสัตว์) ในพื้นที่สาธารณประโยชน์  ต.ลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง  ถ่ายทอดองค์ความรู้และศึกษาดูงานของเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อนำไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่ของตนเอง เป็นการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ในครัวเรือน รวมทั้งมีแหล่งเรียนรู้ชุมชนเกี่ยวกับการพัฒนาตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่อีกด้วย