วันที่ 10 สิงหาคม 2566 ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) แถลงข่าวเปิดผลสำเร็จโครงการติดตามผลการปฏิบัติงานของผู้ประเมินภายนอก ที่ห้องประชุมสันถวมิตร สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา อาคารพญาไทพลาซ่า ชั้น 24

 

ดร.นันทา กล่าวถึงที่มาของโครงการ ว่า เนื่องจากมีสถานศึกษาทั่วประเทศกว่า 60,000 แห่ง สมศ.จึงต้องอาศัยผูประเมินจากภายนอกมาช่วยประเมิน โดยกำหนดนโยบายและพัฒนาผู้ประเมินอยู่เสมอ ภายใต้คุณธรรม จริยธรรมไม่ใช้ความสนิทสนมกับสถานศึกษาในการประเมิน และต้องพัฒนาผู้ประเมินให้สถานศึกษาและสังคมยอมรับ เพราะมีผลต่อความเชื่อถือของสถานศึกษาและตัวผู้ประเมินเอง ทั้งนี้ กำหนดให้จัดตั้งหน่วยกำกับดูแลเพื่อประเมินการทำหน้าที่ของผู้ประเมินควบคู่ไปกับเจ้าหน้าที่ของ สมศ. โดยการประเมินผ่านระบบคอมพิวเตอร์แบบไม่เปิดเผย และนำผลที่ได้มาพัฒนาปรับปรุงผู้ประเมินต่อไป

 

จากการทำหน้าที่ประเมินของผู้ประเมินภายนอกที่ผ่านมา ได้รับเสียงตอบรับที่น่าพอใจจากสถานศึกษาต่าง ๆ โดยร้อยละ 94 พอใจด้านความรู้ความสามารถของผู้ประเมินภายนอก ร้อยละ 95 พอใจด้านทักษะผู้ประเมินภายนอก และร้อยละ 94 พอใจด้านความรู้ความสามารถของผู้ประเมินภายนอก

 

ดร.นันทา กล่าวว่า จากนี้ไปมีแผนยกระดับผู้ประเมินภายนอกมากขึ้น ประกอบด้วย 1.พัฒนาด้านวิชาการ เพื่อสะท้อนการดำเนินงานของสถานศึกษาให้มากที่สุด โดยไม่ชี้ถูกหรือผิด 2.ผู้ประเมินต้องให้ข้อชี้แนะที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละสถานศึกษา เป็นประโยชน์ สามารถนำไปปรับใช้ได้จริง เนื่องจากขนาดและศักยภาพของแต่ละสถานศึกษาไม่เท่ากัน 3.เพิ่มทักษะด้านเทคโนโลยีแก่ผู้ประเมิน เนื่องจากผู้ประเมินภายนอกกว่า 4,000 คน มีอายุเฉลี่ย 50-60 ปี จึงต้องเสริมสร้างความรู้ให้เท่าทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ เนื่องจากการประเมินใช้ระบบคอมพิวเตอร์และแอพพลิเคชั่นเป็นหลัก ไม่ได้ใช้กระดาษเอกสาร 4.ผู้ประเมินต้องรักษาภาพลักษณ์ มีความเป็นมิตรต่อสถานศึกษา และต้องผ่านการประเมินเป็นระยะ เพื่อพัฒนาตนเอง โดยการจัดลำดับเกรดและการทดสอบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ 5.ผู้ประเมินต้องลดภาระสถานศึกษา ไม่เรียกร้องเกินความจำเป็น เน้นประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาเป็นหลัก

 

สำหรับคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ประเมินภายนอก ประกอบด้วย มีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปี วุฒิการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไปมีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับการศึกษา แต่ต้องผ่านการทดสอบผ่านระบบเทคโนโลยีที่ สมศ.กำหนด ซึ่งผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้ใบรับรอง 3 ปี และจะต้องมีการต่ออายุใบรับรองผ่านการประเมินทุกครั้ง

 

“แต่ละสถานศึกษาใช้ผู้ประเมินภายนอกไม่เท่ากัน ส่วนใหญ่ใช้แห่งละ 2 คน ถ้าเป็นสถานศึกษาขนาดใหญ่ใช้ 3-4 คน มหาวิทยาลัยใช้ 5 คน หากผู้ประเมินปฏิบัติตามนโยบายต่าง ๆ ที่ สมศ.กำหนด และพัฒนาตนเองตามแบบแผนเชื่อว่าสามารถส่งเสริมคุณภาพและยกระดับสถานศึกษาได้แน่นอน” ดร.นันทา กล่าว