บี.กริม เพาเวอร์ เผยกำไรสุทธิไตรมาส 2/66 ฟื้นตัวแข็งแกร่ง กำไร 686 ล้านบาท ผนึกพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ขยายกำลังการผลิต รุกเพิ่มพอร์ตพลังงานหมุนเวียน มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero 

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด(มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ปี 2566 มีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน-ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่อยู่ที่ 686 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 147 ล้านบาท ซึ่งเป็นช่วงที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตราคาก๊าซธรรมชาติที่พุ่งสูงขึ้น ขณะที่กำไรสุทธิ-ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ อยู่ที่ 678 ล้านบาท ซึ่งมีการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิที่ 193 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักมาจากการฟื้นตัวของกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP นอกจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งแล้ว บี.กริม เพาเวอร์ ยังได้รับการคัดเลือกให้อยู่ใน “FTSE4Good Index Series” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง 

สำหรับผลงานสำคัญที่เกิดขึ้น บี.กริม เพาเวอร์ ได้ขายไฟฟ้าเพิ่มให้แก่ลูกค้าอุตสากรรม (IU) รายใหม่ในประเทศไทยจากต้นปีจนถึงปัจจุบัน จำนวน 41.2 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้ให้บรรลุเป้าหมายการเชื่อมเข้าระบบตลอดทั้งปีที่ 50-60 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ในเดือนพฤษภาคม 2566 B.Grimm Power Korea (บริษัทย่อยที่ บี.กริม เพาเวอร์ถือหุ้น 100%) ได้เข้าถือหุ้นใน Saemangeum Sebit Power Co.,Ltd. (SEBIT) เพื่อลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์กำลังผลิตติดตั้ง 98.99 เมกะวัตต์ ในสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งจากการเข้าลงทุนนี้ ทำให้ B.Grimm Power Korea ถือหุ้นในสัดส่วน 21.27% ของหุ้นสามัญทั้งหมด และมีสิทธิได้รับเงินปันผล 33.85% ใน SEBIT
 บี.กริม เพาเวอร์ ยังให้ความสำคัญกับการร่วมมือกับพันธมิตรในการขยายการลงทุนซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักในการเติบโตของบริษัท

โดยในเดือนพฤษภาคม 2566 บี.กริม เพาเวอร์ สมาร์ท โซลูชั่น จำกัด (บริษัทย่อย ของ บี.กริม เพาเวอร์) ประสบความสำเร็จในการพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา(Solar Rooftop) ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 1 เมกะวัตต์ รวมทั้งได้จัดหาใบรับรองเครดิตการผลิตไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียน (REC) ให้กับบริษัท ฮีโน่มอเตอร์ส แมนูแฟค เจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด และในเดือนกรกฎาคม 2566 บริษัทอมตะ บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (บริษัทย่อยของ บี.กริม เพาเวอร์) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU)กับอมตะ วอเตอร์ จำกัด ในการพัฒนาโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ (Floating Solar Farm) ขนาดใหญ่ เพื่อผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำ ภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี โดยจะเริ่มพัฒนาเฟสแรก ด้วยขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 19.5 เมกะวัตต์

ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวว่า ทิศทางของปี 2566 บี.กริม เพาเวอร์ จะมุ่งขยายการลงทุนทั้งโครงการใหม่และการเข้าซื้อกิจการ กำลังการผลิตที่เปิดดำเนินการแล้วจะเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 609 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ตามแผนของโครงการโรงไฟฟ้า SPP เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม (BGPM2) โครงการโรงไฟฟ้า SPP ใหม่ 2 โครงการ (BGPAT2&3) รวมถึงการเข้าลงทุนใน โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศมาเลเซีย 2 โครงการ (BGMCSB และ ISSB) และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในสาธารณรัฐเกาหลี (SEBIT) พร้อมตั้งเป้าเพิ่มลูกค้าอุตสาหกรรม (IU) รายใหม่ เข้าเชื่อมระบบรวม 50-60 เมกะวัตต์ ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า นอกจากนี้มุ่งดำเนินการตามแผนควบคุมค่าใช้จ่ายของบริษัท เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 50-70 ล้านบาท 

ทั้งนี้มองว่าปัจจัยอื่นๆ ที่จะส่งผลต่อผลการดำเนินงานในปีนี้ของ บี.กริม เพาเวอร์ คือ การเปลี่ยนแปลงของค่า Ft จาก 0.9343 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็น 1.5492 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ในเดือนมกราคม-เมษายน 2566 และ 0.9119 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ในเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2566 และ 0.6689 บาทต่อ กิโลวัตต์-ชั่วโมง ในเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 และคาดการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติต่อหน่วยสำหรับ SPP อยู่ที่ 400-450 บาทต่อล้าน BTU ในปี 2566 จาก 476 บาทต่อล้าน BTU ในปี 2565 ในระยะยาว บริษัทตั้งเป้าหมายสู่การเป็นผู้ผลิตพลังงานชั้นนำระดับโลกและบรรลุเป้าหมายการก้าวสู่องค์กรที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emissions) ภายในปี 2593 และตั้งเป้าเพิ่มกำลังผลิตเป็น 10,000 เมกะวัตต์ ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ในปี 2573 ทั้งนี้คณะกรรมการบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ ประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลที่ 0.18 บาทต่อหุ้น สำหรับผลการดำเนินงานช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 โดยมีกำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 28 สิงหาคม และกำหนดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในวันที่ 8 กันยายน 2566